บี้รมว.พน.รับผิดชอบไฟแพง

"กรณ์" สวน "สุพัฒนพงษ์"  ค่าไฟแพงคนนั่งคาตำแหน่งต้องรับผิดชอบ ชี้ต้นทุนไฟฟ้าลดแล้ว ไม่ต้องเก็บค่า FT สะท้อนต้นทุนแท้จริง อย่าลักไก่ผลักภาระให้ ปชช. "วราวุธ" วอนพรรคร่วมเสนอแนะแนวทาง ไม่ใช่ต่อว่ากัน  "กฟผ." แจงยิบรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเป็นไปตามนโยบายภาครัฐเพื่อลดหนี้สาธารณะ   ส่วนการแสดงสัญญาต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา อ้าง "ค่าความพร้อมจ่าย" ปฏิบัติตามแนวทางสากล

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายกรณ์ จาติกวณิช แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงกรณีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ไม่เห็นด้วยกับการงดเก็บค่าเอฟทีในฤดูร้อนนี้ ตามที่พรรคชาติพัฒนากล้าเสนอไปว่า การลักไก่คิดค่าไฟแพงตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.66 ที่ 4.72 บาทนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะก๊าซถูกในอ่าวไทยผลิตมากขึ้น ราคา LNG นำเข้าราคาลดลง เงินบาทก็แข็งค่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจึงลดตั้งแต่ ธ.ค.65 เป็นต้นมา แต่รอบบิล ม.ค.-เม.ย.66 รัฐไม่ยอมลดค่าไฟให้ แต่ผลักภาระให้ประชาชนแทนในช่วงหน้าร้อนนี้

นายกรณ์กล่าวว่า ได้ทักท้วงเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี ช่วงอากาศหนาวที่คนใช้ปริมาณไฟน้อย แต่มาแจ็กพอตแตกก็เดือนเมษา.หน้าร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้ไฟมากขึ้น แต่เมื่อต้นทุนถูกลงแล้ว จึงควรลดค่าเอฟที 93.43 สตางค์/หน่วยเป็น 0 บาท 3 เดือนได้ ซึ่งสอดคล้องตามต้นทุนจริง

ส่วนการขาดทุนของ กฟผ. นายกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะรักษาการรองนายกฯ เศรษฐกิจเอง กำกับดูแลกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ก็สามารถมาช่วยปรับโครงสร้างต้นทุนการเงินของ กฟผ.ได้ ไม่ใช่มาผลักภาระให้ประชาชนแบบนี้

"วิธีแก้ปัญหาค่าไฟแพงของชาติพัฒนากล้า ผมไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผมรู้จักหลักวินัยการเงินและการคลังดี แต่ท่านเองนั่นแหละที่ต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าจะรับผิดชอบเรื่องค่าไฟแพงอย่างไร  ท่านเป็นทั้งรองนายกฯ เศรษฐกิจและรัฐมนตรีพลังงาน เป็นถึงหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคที่มีนายกฯ เป็นแคนดิเดต การทำงานมันต้องเชื่อมโยงทั้งบริบทกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน รวมถึงบริบทด้านงานการต่างประเทศ ต้องบริหารงานแบบบูรณาการและมีวิสัยทัศน์ สำคัญคือต้องทำงานด้วยการคิดถึงใจประชาชน ตอนนี้ท่านต้องเร่งเจรจาก๊าซไทย-กัมพูชาด้วย เพราะก๊าซในอ่าวไทยจะหมดลงใน 10 ปีนี้แล้ว มองให้ไกลครับ" นายกรณ์กล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลเอาแต่โยนความผิดให้นายกฯ ไม่ร่วมรับผิดชอบ ว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องน่าจะมาช่วยแบ่งเบาภาระในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล อะไรที่นำเสนอเป็นแนวทางแก้ปัญหาควรจะมานำเสนอกัน การมาต่อว่ากันไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าลด ควรหามาตรการและนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นให้ประชาชน 

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนว่า กฟผ.ยินดีเปิดเผยข้อมูลหรือรายละเอียดสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ต่อบุคคลภายนอก แต่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาของ กฟผ.ก่อนดำเนินการ ส่วนสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ได้มีการเปิดเผยต้นแบบสัญญาตั้งแต่แรก จึงสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

นายประเสริฐศักดิ์กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ลดหนี้สาธารณะ และเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าฯ ที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้นๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ ส่วน กฟผ. เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนด และดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ เท่านั้น

สำหรับค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment : AP) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ค่าความพร้อมจ่าย เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องลงทุน เช่น ค่าเช่า ค่าอุปกรณ์อะไหล่โรงไฟฟ้า ค่าจ้างเดินเครื่องหรือบำรุงรักษา ค่าประกันภัยโรงไฟฟ้า ฯลฯ ในการดูแลรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมอยู่เสมอ กฟผ.จึงต้องจ่ายค่า AP ที่ถูกกำหนดไว้ตลอดอายุสัญญา โดยจ่ายเป็นรายเดือนตามความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเท่านั้น

"หาก กฟผ.ไม่จ่าย จะเป็นการผิดสัญญาและอาจถูกฟ้องร้องได้ ในทางกลับกัน หากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายตามที่กำหนด ก็จะถูกปรับตามสัญญาเช่นกัน"

โฆษก กฟผ.กล่าวต่อว่า ค่า AP ของโรงไฟฟ้าเอกชนคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานซึ่งไม่ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จึงไม่ได้ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งขอยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆ และเห็นภาพชัดเจน คือ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเปรียบเสมือนการทำสัญญาเช่ารถยนต์มาใช้งาน ผู้เช่าจะต้องมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน คือค่าเช่ารถที่ต้องจ่ายทุกเดือนไม่ว่าจะมีการใช้รถหรือไม่ก็ตาม  เฉกเช่นเดียวกับค่า AP ของโรงไฟฟ้า ส่วนค่าน้ำมันจะจ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทาง การใช้งาน เปรียบได้กับค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่า EP (Energy Payment) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

สำหรับการนำเข้า Spot LNG เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า กฟผ. ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นค่าใช้จ่ายตามจริงที่ถูกเรียกเก็บจาก ปตท. ไม่มีการบวกเพิ่มแต่อย่างใด

 “กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนตามนโยบายภาครัฐ โดยราคาค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อไม่มีการบวกกำไรเพิ่ม และค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นไปตามที่ได้รับการเห็นชอบโดย กกพ. ในช่วงวิกฤตพลังงานที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก กฟผ.มิได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มกำลังเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน ปัจจุบัน กฟผ.ยังมีหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท จากการแบกรับภาระค่าเอฟทีเป็นการชั่วคราวกว่า 1.5 แสนล้านบาท” นายประเสริฐศักดิ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง