ส.อ.ท.หวังเร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วและมีเสถียรภาพ หวั่นช้าฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน แนะทีม ศก.ต้องเป็นทีมผสมผสานคนรุ่นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ทำงานไปทิศทางเดียวกันรับมือภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน จับตานโยบายลดค่าไฟ-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ “สภาพัฒน์” แนะเร่งแก้ปัญหาการส่งออกและปากท้อง ย้ำต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง ขณะที่นักลงทุนกดปุ่มเทขายกดดันหุ้นไทยร่วง 24 จุด รอดูความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อวันจันทร์ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการเมืองไทยที่พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้นและต้องการการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงสูงสุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะรวมกับพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด และที่สำคัญต้องมีเสถียรภาพ เพราะหากรัฐบาลไม่มั่นคงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้
“รัฐบาลต้องเร่งตั้งให้เร็วที่สุด ยิ่งช้าก็ยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่น และคะแนนเสียงของรัฐบาลต้องมีมากพอเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองง่าย และเราเองก็ไม่อยากเห็นการประท้วงบนถนน หากมีปัญหาจะกระทบการท่องเที่ยวที่จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจในปีนี้อีก" นายเกรียงไกรกล่าว
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า นอกจากนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ควรจะต้องเป็นทีมที่มีประสบการณ์การ แม้ว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลอาจจะไม่มี แต่ก็ต้องดึงคนรุ่นใหม่ๆ มาร่วมคิด และทำงานเป็นทีมไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) และหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ เพราะท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) กับรัสเซียและจีน ไทยต้องอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจที่เป็นคู่ค้าหลักอันดับ 1 และ 2 ทั้งคู่ให้ได้ ดังนั้นการเดินเกมระหว่างประเทศจึงต้องเป็นไปด้วยความชาญฉลาด ซึ่ง ส.อ.ท.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกรัฐบาล
"สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ การแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านที่ขณะนี้หนี้ครัวเรือนของไทยสูงมาก ท่ามกลางราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แพง ซึ่งหากมองเบื้องต้นนโยบายที่หาเสียงไว้ของก้าวไกล และเพื่อไทยที่เหมือนกันคือ การดูแลราคาพลังงาน โดยเฉพาะมีเป้าหมายที่จะลดค่าไฟลง จึงเป็นสิ่งที่จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร"
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้ง 2 พรรคก็มีแนวทางเช่นกัน โดยเพื่อไทยจะขึ้นเป็นอีก 600 บาทต่อวันในปี 2570 ขณะที่ก้าวไกลนั้นขึ้นทันที 450 บาทต่อวันและปรับทุกปี ซึ่งนับเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดและก้าวข้ามการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ดังนั้นคงจะต้องติดตามว่า จะมีมาตรการอะไรมาเยียวยาผลกระทบกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือไม่
“คิดว่าการหาเสียงแบบประชานิยมแจกเงินแบบเก่า ประชาชนมีบทเรียนแล้วว่าทำไม่ได้จริงและไม่มีแหล่งที่มาของเงิน ดังนั้นจากนี้นโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ของพรรคที่เป็นรัฐบาลจะถูกประชาชนติดตามใกล้ชิด ซึ่งต้องทำได้จริงๆ และที่มาของเงินต้องชัดเจนด้วย" นายเกรียงไกร กล่าว
ด้านนายสาครินทร์ ตังคะวชิรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจไฟฟ้า บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ต้องโฟกัสว่าจะทำอย่างไร ให้ค่าไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและอุตสาหกรรมไม่สูงจนเกินไป และให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด โดยการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ภาคการผลิต การลงทุน และประชาชนเดือดร้อน
นายสาครินทร์กล่าวว่า ขอเรียกการตรึงค่าไฟฟ้าว่า "การบริหาร" โดยการพยุงราคาไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่หากตรึงมากจนไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของทั้งรัฐและเอกชน สุดท้ายปัญหาก็จะย้อนกลับมา ชี้ให้เห็นว่าไทยยังคงต้องใช้ค่าเอฟทีเป็นกลไกบริหารจัดการค่าไฟ แต่รัฐบาลต้องดูว่าจะบริหารอย่างไรไม่ให้เดือดร้อน สิ่งที่รัฐบาลจะหนีไม่พ้นคือ การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ภาคดำเนินธุรกิจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหันไปเน้นพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่มีเสถียร 100% ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“นโยบายพรรคก้าวไกลที่ระบุว่าจะมีการแก้ไขสัญญากลุ่มโรงไฟฟ้านั้นไม่ผิดอะไร แต่สุดท้ายมองว่าจะมีทั้งสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ ต้องดูรายละเอียดอีกมาก เพราะบางเรื่องที่ลงทุนไปแล้วหากฉีกสัญญาคงยาก อาจทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน” นายสาครินทร์กล่าว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า ขึ้นกับนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล ปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไขมี 2 เรื่อง คือ 1. ต้องเร่งการส่งออกสินค้า และ 2.ปัญหาปากท้องของประชาชน ราคาพลังงาน ไฟฟ้า ก๊าซ การดูแลราคาพลังงานจะมีมาตรการอย่างไร ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจภายในประเทศไม่มีปัญหา ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับรัฐบาลใหม่ถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังที่เคร่งครัด เพราะเราขาดดุลงบประมาณมานาน หากยังขาดดุลต่อเนื่องในระยะเวลายาวนานจะกระทบกับเรตติงของประเทศได้
“ต้องหาทางฟื้นฟูการส่งออกในปี 2566 คาดว่าหดตัว -1.6% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการหาตลาดใหม่ทดแทน การรักษาบรรยากาศการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมการลงทุน การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หากรัฐบาลใหม่กำหนดชัดเจน จะช่วยดึงดูดการลงทุนไม่ให้เบนเข็มหนีไปลงทุนประเทศอื่นแทน” นายดนุชากล่าว
นายดนุชากล่าวต่อว่า หลังจากการเลือกตั้งนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย รวมทั้งเร่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งรักษาบรรยากาศหลังการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นต่อเนื่องในการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยต่อไป สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ส่วนการจัดขั้วรัฐบาลนั้นต้องให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่นไม่เกิดปัญหา เพราะมีนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่รอคอยความชัดเจนอยู่
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 15 พ.ค.66 เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน จากแรงขายหุ้นใหญ่ รวมถึงรอดูความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ โดยระหว่างวันลดลงต่ำสุดที่ 1,561.35 จุด ลดลง 24.53 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.57% และดัชนีของวันปิดที่ 1,541.38 จุด ลดลง 19.97 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.28% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 68,382.81 ล้านบาท
สำหรับหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ราคาปิดที่ 48.00 บาท ลดลง 4.50 บาท หรือ 8.57% มูลค่าซื้อขาย 3,642 ล้านบาท บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ราคาปิดที่ 64.75 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ 2.43% มูลค่าซื้อขาย 2,952 ล้านบาท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) ราคาปิดที่ 211.00 บาท ลดลง 10.00 บาท หรือ 4.52% มูลค่าซื้อขาย 2,880 ล้านบาท และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ราคาปิดที่ 73.25 บาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มูลค่าซื้อขาย 2,762 ล้านบาท ขณะที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) ราคาปิดที่ 1.75 บาท ลดลง 0.14 บาท หรือ 7.41% มูลค่าซื้อขาย 976 ล้านบาท
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า หลังจากการเลือกตั้งคาดว่านโยบายใหม่จะมีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก กลุ่มธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมทั้งธุรกิจพลังงาน โดยคาดว่ารัฐบาลใหม่จะเริ่มการแจกเงินตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก หลังจากนั้นคาดว่าจะลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งอาจจะกระทบบรรยากาศการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานจำกัด และในลำดับต่อไปจะดำเนินการเพื่อลดอำนาจการผูกขาดในบางธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไรและเมื่อใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พังงาจับ4หนุ่ม ขนปืน-กระสุน ภูเก็ตสั่งคุมเข้ม
ตำรวจพังงาจับ 4 ผู้ต้องหาขนอาวุธสงคราม ผงะ! เตรียมไปส่งที่ภูเก็ต
‘ปปช.’รับคดีชั้น14สุดอืด ธนกรดีดปากนิติสงคราม
เลขาฯ ป.ป.ช.รับคดีชั้น 14 อืด เหตุติดปัญหาขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่น
โพลชี้คนไทยยี้‘กาสิโน’ หวั่นสร้างความขัดแย้ง
"นิด้าโพล" เผย ปชช.มีคำถามคาใจ "สถานบันเทิงครบวงจร" ที่รวม "กาสิโน" เพียบ!
ทักษิณลั่นซื้อหนี้เกิดปีนี้แน่!
“สวนดุสิต” พบเกินครึ่งหนุนแนวคิด “ทักษิณ” ซื้อหนี้ แต่หวั่นไม่โปร่งใสประโยชน์แอบแฝง
อยู่ในกติกาตอบได้! แม้วการันตีลูกอิ๊งค์เย้ยปชน.อย่ารุ่นใหม่แค่อายุ
“ทักษิณ” ติวการบ้าน “อิ๊งค์” เชื่อตอบได้ทุกเรื่องตรงไปตรงมา
‘อิ๊งค์’ สนุกสนาน! โชว์ภาพดินเนอร์พรรคร่วมก่อนขึ้นเขียงอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ยิ้มก่อนเครียด! "แพทองธาร" โพสต์ภาพดินเนอร์พรรคร่วมฯ หัวเราะชื่นมื่น บอกสนุกสนาน-มีกำลังใจ