เติมหมื่นล.‘ธกส.’ปัดโปะดิจิทัล

“จุลพันธ์” รับเร่งถกเพิ่มทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ยันไม่เกี่ยวโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" หวังเสริมเขี้ยวเล็บสร้างกลไกเติมสภาพคล่อง สร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกร  "ภูมิธรรม" แจงสินค้าราคาแพงชั่วคราว  เหตุอากาศร้อนจัด

 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายจุลพันธ์   อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า   ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มทุนให้  ธ.ก.ส. โดยเบื้องต้นทราบว่าตัวเลขทุนของธนาคารยังขาดอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันทุนจดทะเบียนของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ราว 8 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการดึงเงินของ ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่กระทรวงการคลังมองว่า ธ.ก.ส.เป็นมือเป็นไม้ที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ โดยหลักการคือ การเพิ่มทุนให้ธนาคาร 1 บาท จะสามารถนำไปปล่อยสินเชื่อได้ 11 บาท ซึ่งสะท้อนว่าการเพิ่มทุนจะช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับเกษตรกรได้จำนวนมาก และกระทรวงการคลังมองเห็นถึงความสำคัญของกลไกนี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้

 “เมื่อก่อนเวลา ธ.ก.ส.มีกำไร และต้องส่งคืนคลัง คลังก็จะบอกว่าให้เอากำไรนี้ไปเติมทุน ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ก็มีการเติมทุนด้วยวิธีการนี้มาเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท จนกระทั่งช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีข้อตกลงเกิดขึ้นในช่วง 1 ปีระหว่างนั้นว่า ธ.ก.ส.ไม่ต้องส่งเงินคืนคลัง และให้เอากำไรส่วนที่ต้องส่งคืนคลังนี้ไปบริหารจัดการในส่วนอื่น ซึ่งหลังจากนั้น ธ.ก.ส. ก็ไม่มีการส่งกำไรคืนคลังเลย หายไปตลอด 7-8 ปี แต่มาถึงตอนนี้คลังก็มองว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องเติมทุนให้ครบแล้ว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงอาจให้นำเงินส่วนที่ ธ.ก.ส.จะต้องส่งคืนคลังนี้กลับไปเติมทุนของธนาคารตามเดิม  โดยขอยืนยันอย่างชัดเจนว่าแผนการเติมทุนในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ตอย่างแน่นอน เป็นคนละส่วนกัน”   นายจุลพันธ์ระบุ

ส่วนประเด็นเรื่องการดึงเงินของ ธ.ก.ส. จำนวน 1.72 แสนล้านบาท เพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยืนยันว่าจะต้องมีการนำเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.อย่างเป็นทางการแน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา ยังมีเวลาอีกราว 5-6 เดือน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการหารือกับคณะกรรมการ ธ.ก.ส. นอกรอบไปบ้างแล้ว มีการรับทราบเรื่องนี้กันดี และพร้อมที่จะสนับสนุน ขณะที่แผนการชำระคืนหนี้ ธ.ก.ส.นั้น จะเป็นไปตามกลไกวิธีของงบประมาณ เพราะเป็นการดำเนินการตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ดังนั้นกลไกของงบประมาณจะเข้ามามีผล โดยการตั้งงบประมาณมาชำระคืนเป็นรายปี ส่วนจะคืนเท่าไหร่อย่างไร เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธ.ก.ส. จะต้องมาคุยกัน

 “จริงๆ เรื่องนี้สามารถนำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้กฤษฎีกาตีความเมื่อถึงเวลา แต่แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่กระบวนการที่ต้องทำ รัฐบาลก็เห็นว่าหากรอความชัดเจนจากกฤษฎีกาก่อนค่อยนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร จะช่วยสร้างความชัดเจน และสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่ายได้มากกว่า” รมช.การคลังระบุ

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม  เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องราคาสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นในช่วงที่สภาพอากาศที่ร้อนจัดว่า ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เช่น ราคามะนาว และผักบางชนิด ที่ผลผลิตน้อยลงและยังเสียหายในช่วงขนส่ง แต่จะเกิดขึ้นระยะสั้นตามฤดูกาล หลังจากหมดหน้าร้อน ราคาจะกลับมาสมดุลได้ แต่ในช่วงนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้วางมาตรการช่วยเหลือ หาสินค้าทดแทน หรือการดูแลราคา รวมทั้งเพิ่มจุดจำหน่ายให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากข่าวการขึ้นเงินบำนาญราชการ รวมทั้งการขึ้นค่าแรง 400 บาท ทำให้ราคาสินค้าขึ้นไปล่วงหน้า จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในลงไปกำกับดูแล และรีบรายงานสถานการณ์ทันที ซึ่งขณะนี้สินค้าที่ควบคุมดูแลยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา รวมถึงราคาอาหารตามสั่งที่เริ่มปรับขึ้นราคา ใช้กลไกที่มีอยู่ในการตรวจสอบว่าสมควรหรือไม่ หากพบการขึ้นราคาไม่เหมาะสม จะต้องขอตรวจสอบต้นทุนสินค้าต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง