พระโคกิน‘หญ้า-เหล้า’ น้ำอาหารบริบูรณ์ศก.รุ่ง

"ในหลวง-พระราชินี"  เสด็จฯ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระโคเสี่ยงทายกินหญ้า-เหล้า น้ำ อาหารอุดมสมบูรณ์   เศรษฐกิจรุ่งเรือง ประชาชนแห่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคล

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เวลา 08.34    น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยรถยนต์พระที่นั่ง มายังพลับพลาที่ประทับ ณ  บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อทรงเป็นประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2566 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต เฝ้าฯ รับเสด็จ  และร่วมพระราชพิธี

สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการที่กระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล และส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร ให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี อันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา โดยการจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ระหว่างช่วงเวลา 08.09-08.39 น. ผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนาปี 2566 คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.ดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร และ น.ส.ชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.ปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.ภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน

จากนั้น นายประยูร ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา ได้ยาตราพร้อมด้วยเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ผ่านหน้าพลับพลาพระที่นั่ง พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคมแล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโคและคันไถ ก่อนที่จะไถดะไปโดยรี 3 รอบ โดยขวาง 3 รอบ พร้อมกับหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวนาสวน 6 พันธุ์ ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105, ปทุมธานี 1, กข 6, กข 87, กข 85 และ กข 43 แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์เสี่ยงของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค

ต่อมา นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ผลการเสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย พระยาแรกนาหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ส่วนผลเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ปรากฏว่า พระโคกินหญ้าและเหล้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง เสร็จแล้วได้แห่พระยาแรกนาเป็นขบวนอิสริยยศ จากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายบังคมแล้ว เข้าขบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงไปยังแปลงนาสาธิตสวนจิตรลดา   

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2565 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประจำปี 2566 จัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตร

สำหรับวันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2565 และ 2566 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2565 จำนวน 3 ราย ที่เข้ารับโล่พระราชทานฯ ในปี พ.ศ.2566 คือ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ นายอเนก สีเขียวสด จ.อ่างทอง, เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง จ.ยะลา และเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ อาชีพทำสวน ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จ.ชุมพร

เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 16 ราย ดังนี้ อาชีพทำนา ได้แก่ นายพิชัย โสทะ จ.นครสวรรค์, อาชีพทำสวน ได้แก่ นายจักรินทร์ โพธิ์พรม จ.อุดรธานี,  อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์, อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางสาวพนมรัตน์ รักเหล็ก จ.สุราษฎร์ธานี, อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางเงินเหรียญ โสมนาม จ.สกลนคร, อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายวุฒิศักดิ์ พรมแก้ว จ.พังงา, อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายธนันชัย  เอกเผ่าพันธุ์ จ.นครปฐม, อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายสุชาติ ศรีประสม จ.ชลบุรี, อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายปกรณ์ วงศ์มโนพฌิช จ.ราชบุรี, อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายมนรัตน์ วิวิธธนากร จ.ปทุมธานี, สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางบรรจง แสนยะมูล จ.มหาสารคาม,  สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายคำภีร์ หงษ์คำ จ.เพชรบูรณ์,   สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายสายชล จันทร์วิไร จ.สุโขทัย, สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายธนิต สมแก้ว จ.พัทลุง, ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวสถาพร ตะวันขึ้น จ.สมุทรสงคราม และสมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวจิราพัชร คุ้มกุดขมิ้น จ.ชัยภูมิ

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 12 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านร้องประดู่ จ.อุตรดิตถ์, กลุ่มเกษตรกรสวนยาง ตำบลกันทรอม จ.ศรีสะเกษ, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ-แกะ จ.แพร่, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้านปากพูน จ.นครศรีธรรมราช, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี,กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนากอ จ.นราธิวาส, กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา จ.ชัยภูมิ, กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา, กลุ่มบริหารการใช้น้ำบางทรายนวล จ.สุราษฎร์ธานี, ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน, ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะยาง จ.ศรีสะเกษ, ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านบึงคล้าย-ชัยพัฒนา จ.พิษณุโลก และวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลไร่มะขาม จ.เพชรบุรี

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 3 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรด่านมะขามเตี้ย จำกัด จ.กาญจนบุรี, สหกรณ์ออมทรัพย์ กรมการพัฒนาชุมชน จำกัด กรุงเทพมหานคร และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ศูนย์กลางละอาย จำกัด จ.นครศรีธรรมราช ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2566 จำนวน 2 สาขา คือ ปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง นายเมธี บุญรักษ์ จ.นราธิวาส และสาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จ.ชุมพร

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังสวนจิตรลดา  พระราชวังดุสิต ทรงเป็นประธานในพิธีหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในแปลงนาสาธิต  และโปรดเกล้าฯ ให้นายประยูร อินสกุล พระยาแรก เป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ณ บริเวณแปลงนาสาธิต สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 เมื่อพระยาแรกนา ประกอบพิธีหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี   เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า หลังจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเสร็จสิ้น ประชาชนตลอดจนเกษตรกรจำนวนมากที่รออยู่รอบมณฑลพิธีต่างพากันกรูเข้ามาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว นอกจากนี้ ประชาชนยังได้เก็บต้นไม้ อาทิ ดาวเรือง แพงพวย อ้อย กล้วย รวมทั้งสายสิญจน์ในมณฑลพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง