“อาคม” เชื่อตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไม่กระทบเศรษฐกิจ ยันนักลงทุนมั่นใจเสถียรภาพการเงิน-การคลังประเทศ โยนเคาะงบประมาณปี 67 พร้อมจี้ทำนโยบายการคลังแบบมุ่งเป้าอย่าหว่านแห “เอกชน” แนะรีบจบเรื่องจัดตั้ง ครม. ผวาสุญญากาศงบ นักวิชาการชี้ไม่ง่ายทำรัฐสวัสดิการเหมือนยุโรป
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้หรือไม่ว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องของมุมมองการประเมิน ไม่ว่าจะหน่วยงานของรัฐ เอกชน รวมทั้งหน่วยงานของต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะพิจารณาจากความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างขีดความสามารถในอนาคต ซึ่งในส่วนของไทยที่ผ่านมา การลงทุนก็มีความชัดเจนว่าจะลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง จึงเป็นสิ่งที่ต่างชาติมอง
“มุมมองการขยายตัวเศรษฐกิจเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกมากกว่าที่จะเข้ามากระทบ ส่วนปัจจัยภายในแง่การบริหารเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว อัตราการเติบโตแม้ว่าตัวเลขไม่ได้สูงมากนัก แต่ในแง่เสถียรภาพ ทั้งด้านการคลัง และด้านการเงิน อยู่ในเกณฑ์ดี ต่างชาติเชื่อมั่นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจและเสถียรภาพการคลังของประเทศ” นายอาคมกล่าว
รมว.การคลังกล่าวอีกว่า มั่นใจว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ และอาจเร่งตัวขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องต้องแก้ไขในบางหมวดสินค้าที่ต้องเร่งส่งออกให้มากขึ้น ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเอสเอ็มอี (ธพว.) ก็เข้ามาเชื่อมต่อ ถ้าขาดเงินในช่วงใด ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
นายอาคมยังกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าว่า ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดูงบประมาณ ซึ่งตามปฏิทินก็ต้องเริ่มจัดทำแล้ว รัฐบาลใหม่ก็ต้องเข้ามาดูว่ามีส่วนไหนจะปรับปรุงอย่างไร ส่วนมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น บัตรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็มีการดำเนินการตามกฎหมาย รอบปี 2564-2565 มีการลงทะเบียนจ่ายเงินไปหมดแล้ว ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่
“การทำนโยบายรัฐสวัสดิการยังจำเป็น โดยควรทำนโยบายการคลังที่มุ่งเป้ากลุ่มที่มีความเดือดร้อน การให้ความช่วยเหลือแบบกว้างขวางเหมือนในช่วงโควิด-19 ตอนนี้ทุกอย่างก็คลี่คลายไปแล้ว ดังนั้นการใช้นโยบายการคลังต้องมุ่งเป้าเป็นทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ส่วนความกังวลต่อนโยบายรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่นั้น ยังไม่รู้ ต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก่อน แต่ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศก็เชื่อมั่นมาตลอด” นายอาคมระบุ
นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า จะเป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ และหากการเมืองไม่เกิดเสถียรภาพหรือไม่ลงตัว สิ่งที่น่ากังวลคือจะเกิดการต่อต้าน และเกิดมีประชาชนลงถนนแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจหลัก เพราะปีนี้การส่งออกขยายตัวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไทยจึงมีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่ถ้าเกิดปัญหาความวุ่นวายในประเทศ จะทำให้การท่องเที่ยว และการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เลือกเข้ามาพักผ่อนในไทยเลือกที่จะไปประเทศอื่นแทน
"อยากให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว โดยเกิดความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และพยายามเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นตัวตั้ง" นายธวัชชัยกล่าว
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ผลักดันนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก เรือ รถไฟไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่วางเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยมีระบบรัฐสวัสดิการแบบยุโรปเหนือย่อมทำได้ แต่เป็นเรื่องที่อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ และไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะการเดินหน้าระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบในไทย เรื่องแรกที่ต้องตอบให้ได้คือ ระบบราชการไทยเป็นอย่างไร กรณีไทย ต้องปรับเปลี่ยนระบบราชการให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพก่อน คือต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดระบบสวัสดิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องที่สองคือต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและเพิ่มภาษี และเรื่องที่สาม ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมเมื่อเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณ
“การยกระดับประเทศไทยสู่ระบบรัฐสวัสดิการต้องใช้เวลา ประเมินจากฐานะการเงินการคลังของประเทศ รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม โครงสร้างประชากรล่าสุด สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงบรรลุเป้าหมายการมีระบบรัฐสวัสดิการที่มีมาตรฐานแบบยุโรปเหนือ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายสร้างระบบรัฐสวัสดิการทำงานต่อเนื่องอย่างน้อยสองวาระจึงจะบรรลุเป้าหมายได้” ศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
รมว.พม.เล็งซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติเชียงรายต่อเนื่อง
'รมว.พม.' เผยเตรียมซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติเชียงรายต่อเนื่อง จ่อลงพื้นที่ เชียงใหม่-ลำปาง ดัน ศบปภ.ภาคเหนือ ช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยากลุ่มเปราะบาง หลัง คกก.บ้านมั่นคงฯ เห็นชอบกรอบงบโครงการแล้ว