ฝ่ายมั่นคงกางแผนรับมือม็อบ

ผบ.ทร.ระบุหน่วยงานความมั่นคงเตรียมแผนรับมือม็อบกดดันโหวตเลือกนายกฯ ยันไม่ถึงขั้นเตรียมเรือขน ส.ว. เชื่อทุกอย่างเรียบร้อย ขณะที่ "ไอลอว์-ทะลุฟ้า" ขู่ กกต.รับรองผล ส.ส.ให้เร็วที่สุด จ่อชุมนุมอ้างปกป้องรัฐบาลของประชาชน ศาลอาญาจำคุกคนละ 1 ปี "ไผ่ ดาวดิน" กับ "ยาใจ ทะลุฟ้า"    สาดสีน้ำระหว่างปราศรัยขับไล่ "บิ๊กตู่"

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ระบุถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในสภาวะสุญญากาศจนกองทัพถูกจับตามองว่า ก็ยังติดตามสถานการณ์อยู่ ซึ่งกองทัพยังไม่มีการเตรียมการอะไร รอดูการจัดตั้งรัฐบาลของว่าที่ ส.ส. ที่รอประกาศการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลคงจะมีมากขึ้น

"ผมไม่อยากใช้คำว่าสุญญากาศ  เพราะการเมืองมีพัฒนาการสถานการณ์อยู่ทุกวัน ผมก็ติดตามข่าวจากสื่อต่างๆ  "

ส่วนกรณีที่นโยบายของฝ่ายการเมืองกระทบต่อความมั่นคง ทั้งการแก้ ม.112 และปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงที่จะเดินทางมากดดันการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น พล.ร.อ.เชิงชายระบุว่า สถานการณ์ทุกอย่างเรามีการเตรียมการ ทั้งกรณีการรับมือของกลุ่มมวลชนที่จะเดินทางมาที่หน้ารัฐสภาในวันที่โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็มีการเตรียมการ ต้องวางแผนดูแลความเรียบร้อย อพยพประชาชน กรณีมีความวุ่นวาย ซึ่งในส่วนของกองทัพเรือก็รับผิดชอบทางน้ำ และสถานที่ที่กองทัพเรือดูแล

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องเตรียมเรือเอาไว้ขน ส.ว.หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย หัวเราะพร้อมระบุว่า ไม่ถึงขนาดนั้น และคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็เตรียมความพร้อมหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น มีการวางแผนเอาไว้แล้ว

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือกลุ่มไอลอว์  ร่วมกับเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง และกลุ่มทะลุฟ้า เดินทางยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อเรียกร้องให้มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็ว

โดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า วันนี้ครบรอบ 1 เดือนหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งเราได้ทราบผลแล้วว่าใครชนะในเขตไหน และคะแนนรวมออกมาเป็นอย่างไร อย่างเป็นทางการ ถ้าไม่มีขั้นตอนนี้ก็ไม่สามารถเปิดสภา ประชุมสภา หรือแม้กระทั่งการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ซึ่งเวลา 30 วัน ซึ่งถือเป็นเวลาที่นานพอสมควร ผ่านไปแล้ว 1 เดือน กกต.ควรที่จะประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการได้แล้ว ส่วนตัวทราบว่า กกต.มีกรอบกฎหมายในการประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ควรที่จะใช้เวลานานขนาดนี้ ซึ่ง กกต.สามารถใช้เวลาที่สั้นกว่านี้ได้ ที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยใช้เวลานานขนาดนี้ โดยในปี 2548 กกต.ใช้เวลา 16 วัน, ในปี 2550 ใช้เวลา 29 วัน, ในปี 2554 ใช้เวลา 24 วัน และในปี 2562 ใช้เวลา 45 วัน และในปีนี้กลับพบว่า กกต.ใช้เวลารับรองผลนานผิดปกติ จึงทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยถึงกระบวนการการทำงานของ กกต.

"ก่อนหน้านี้เคยมาร้องเรียนแล้วครั้งหนึ่ง แต่ กกต.ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องนับคะแนนใหม่ใน 47 หน่วย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็นับเสร็จแล้ว จึงเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดอีกที่ กกต.จะไม่ประกาศรับรองผล ย้ำว่าวันนี้มาร้องในประเด็นสำคัญเรื่องเดียว คือขอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพราะครบ 1 เดือนถือว่านานเกินไปแล้ว ซึ่ง กกต.สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการรับรองผลได้ หากยืดเวลาออกไปจะทำให้ประชาชนเกิดความอึดอัด เคลือบแคลงสงสัยในประเด็นต่างๆ ได้" นายยิ่งชีพกล่าว

ด้าน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล  แกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวว่า วันนี้ตนมาเพื่อให้ กกต.รีบรับรองผลการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความหวังของประชาชนเป็นจำนวนมาก เราได้เห็นว่าผลการเลือกตั้งประชาชนได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน เพื่อต้องการเห็นรัฐบาลชุดใหม่ และยิ่งกกต.รายงานผลช้าเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดใจ และรู้สึกไม่ดีต่อการทำงานของ กกต.มากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น กกต.ต้องรีบรับรองผลให้เร็วที่สุด วันนี้เรามาด้วยเหตุผล เราไม่ได้มากดดันเพื่อบอกว่าถ้าหากเกิดกระบวนการขัดขวางประชาธิปไตย คงไม่ใช่แค่พวกเราที่มาส่งเสียง แต่มีประชาชนอีกหลายคนที่ออกมาร่วมเช่นกัน

ส่วนนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน กล่าวว่า ขอให้ กกต.ประกาศผลรับรองให้เร็วที่สุดภายในวันนี้ หลังจากที่ได้รับหนังสือ หากยังไม่มีการประกาศตนและแนวร่วมจะออกมาเรียกร้องสิทธิอีกครั้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 16 มิ.ย.นี้ เพื่อเรียกร้องให้ กกต. ประกาศผลรับรอง และเพื่อปกป้องไม่ให้มีกระบวนการขัดขวางรัฐบาลที่มาจากประชาชน

ที่ห้องพิจารณาคดี 711 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีร่วมกันชุมนุม หมายเลขดำอ.2608/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ฟ้องนายจตุภัทร์  บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 1, นายทรงพล สนธิรักษ์ หรือยาใจ  จำเลยที่ 3 กับพวก รวมทั้งหมด 18 คน  เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายฯ ตาม พ.ร.ก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 18 และบุคคลอื่นอีกรวมกัน 29 คน ถูกคุมขังในคดีอื่นที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ต่อมามีการขอปล่อยชั่วคราวและศาลอนุญาต จากนั้นจึงได้นัดมาปล่อยตัวชั่วคราวที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยมีการนำจำเลยและผู้ต้องหาอื่นนั่งรถ 6 ล้อมาด้วยกัน เมื่อถึง สน.ทุ่งสองห้อง ตำรวจได้แจ้งให้มารับรถของพวกจำเลยที่ถูกตำรวจยึดไว้จำนวน 7 คัน ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.2564 ซึ่งระหว่างรอรับรถต้องใช้เวลาตรวจสอบ และจำเลยทั้ง 18 คนจะรอรับรถเพื่อจะนั่งไปด้วยกัน และจะไปชุมนุมกันต่อที่หอศิลป์กรุงเทพฯ จำเลยที่ 1 ได้ผลัดกับเพื่อนปราศรัยโจมตีการทำงานรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการปราศรัยดังกล่าวอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติการณ์ก่อความวุ่นวาย ไม่ได้เป็นการจัดการชุมนุม อีกทั้งกลุ่มจำเลยใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างพอสมควร จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ต่อมาเมื่อได้รับรถยนต์แล้วก่อนกลับ ได้มีการนำสีแดงมาสาดบริเวณรั้ว ป้าย บันไดหน้าอาคาร สน.ทุ่งสองห้อง เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่ได้เป็นไปตามการแสดงเชิงสัญลักษณ์ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ เป็นการทำให้สถานที่ราชการเกิดเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่เหมาะสม  โดยมีพยานโจทก์ระบุว่า นายจตุภัทร์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการ และจำเลยที่ 3  เป็นผู้สาดสี ซึ่งตรงกับหลักฐานภาพถ่าย แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งการ  แต่มีพยานและหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในเหตุการณ์ด้วยตลอด  เจือสมกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่าเป็นสีน้ำ ล้างออกง่าย

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 3 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.360 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 6,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ให้ชำระค่าปรับ หากไม่ชำระค่าปรับให้ปฏิบัติตามมาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2, 4-18 และข้อหาอื่นให้ยก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง