“ธปท.” พร้อมถกทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่เพิ่มจำนวนแบงก์ หลังมีข้อเสนอหวังกดดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเร่งออกแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังไตรมาส 1 เพิ่มเป็น 90.6% ผวา “แบงก์รัฐ-non bank" แบกหนี้เน่า 3 แสนล้านบาท
เมื่อวันจันทร์ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการเพิ่มจำนวนธนาคารเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ในเรื่องดอกเบี้ยว่า การเพิ่มจำนวนธนาคารจะเห็นความชัดเจนหลังจากที่มีการจัดตั้งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว ธปท.จะเข้าไปหารือกับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทั้งหมดต้องเอาข้อมูลมาพิจารณา โดยแนวนโยบายการเพิ่มจำนวนธนาคารที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการเรื่องธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) โดยเปิดรับฟังความเห็นแล้วในรอบสอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องค่อย ๆ ทำ
สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน หลังปรับข้อมูลใหม่ในไตรมาส 1/2566 เพิ่มเป็น 90.6% ของจีดีพี ในจำนวนนี้ 73% อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 34% สินเชื่อรถยนต์ 11% สินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล 27% และอื่นๆ เช่น กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 28%
อย่างไรก็ดี ในส่วนของหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด-19 (ลูกหนี้รหัส 21) นับจากวันที่ 1 ม.ค.63 โดยเริ่มปรับลดลงจากจุดสูงสุดในเดือน ต.ค.65 จาก 4.7 ล้านบัญชี เหลือ 4.4 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.1 แสนล้านบาท เหลือ 3.1 แสนล้านบาท โดยหนี้เสียดังกล่าวเป็นของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 60%, Non-Bank 30% และธนาคารพาณิชย์ 10%
"ลูกหนี้ของธนาคารรัฐมีความเปราะบางมากกว่าธนาคารพาณิชย์ การออกหลักเกณฑ์ในการดูแลต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งบางมาตรการทำได้เช่นพักหนี้ ก็ทำเฉพาะจุดบางสถานการณ์เช่นน้ำท่วม แต่ถ้าพักหนี้ยกพอร์ตก็อาจจะเป็นการบวมหนี้ขึ้นมาในอนาคต ที่ผ่านมา ธปท.ก็ได้มีการส่งทีมเข้าไปช่วยแยกกลุ่มลูกหนี้ โดยหนี้ค้างชำระที่ลดลงก็มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารรัฐ" นางสาวสุวรรณีกล่าว
นางสาวสุวรรณีกล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อยหรือกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL Cliff และเป็นระดับที่สถาบันการเงินบริหารจัดการได้ โดยปัจจุบัน Rating Agencies ต่อภาคธนาคารไทยยังมั่นคง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงต่อเนื่อง
โดยสัดส่วน NPL ล่าสุดอยู่ที่ 7.2% จาก 6.9% และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 3.1% โดย NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3.2% ธนาคารรัฐอยู่ที่ 3.9%, NPL ของสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 1.9% แต่ SM อยู่ที่ 13.8% และ Non-Bank อยู่ที่ 2.1% และ SM อยู่ที่ 11.4% ขณะที่หนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 3.1% เป็นต้น
“ได้กำชับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว นอกจากนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้” นางสาวสุวรรณีกล่าว
นางสาวสุวรรณีกล่าวอีกว่า ธปท.จะเร่งออกแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องทำครบวงจร ถูกหลักและร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ คือตั้งแต่ก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ
ทั้งนี้ ธปท.ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด และผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ สำหรับหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไขประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1.หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่ปิดจบไม่ได้ 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสีย หรือ เรื้อรังในอนาคต และ 4.หนี้นอกระบบ
สำหรับแนวทางหลังจากนี้ที่ ธปท.จะดำเนินการ คือ 1.เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้ที่มีปัญหาจนถึงการขายหนี้ เป็นต้น 2.กลไก Risk-Based Pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับผลปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และ 3.มาตรการ Macroprudential Policy (MaPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของแผน RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วย RBP สำหรับเรื่อง MaPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท.จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือน ก.ค.นี้ต่อไป สำหรับเกณฑ์ดังกล่าว ธปท.จะเปิดรับฟังความเห็นเป็นการทั่วไปในเร็วๆ นี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด
จ่อถกเหล่าทัพหาจุดตรงกลาง
“ประยุทธ์” ขอแก้ไข 24 ข้อบกพร่อง กม.กลาโหม ก่อนดันเข้าสภาอีกรอบ “บิ๊กเล็ก” จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม
ประชานิยมภาค2 ‘อิ๊งค์’โชว์เดี่ยวขายฝันปี68แจกแหลก ปชน.ฟันฉับ!สอบตกแค่ฝากงานรมต.
"นายกฯ อิ๊งค์" ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้