ชะลอเลือกนายกฯ ผู้ตรวจฯชงศาลรธน.ชี้ขาดมติสภาเสนอชื่อ‘พิธา’

ผ่าทางตัน! ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ พร้อมขอให้ชะลอโหวตเลือกนายกฯ 27 ก.ค. เหตุอาจจะขัดต่อกฎหมายและอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ ยากที่จะเยียวยาแก้ไข นักนิติศาสตร์ทั่วประเทศ ฮือค้านข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ชี้สร้างบรรทัดฐานที่ผิดพลาด ร้องยกเลิกก่อนการเรียนสอนหลักกฎหมายในไทยถึงทางตัน “จรัญ” ระบุศาล รธน.ไม่มีอำนาจชี้ขาดข้อบังคับ ทางออกอยู่ที่ "วันนอร์" จะดำเนินการ  

เมื่อวันจันทร์ เวลา 14.30 น. ที่สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการ​สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ แถลงว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ในที่ประชุมรัฐสภาได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์ หัวหน้า​พรรค​ก้าวไกล​ ให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 แต่มีประเด็นโต้แย้งว่าการเสนอชื่อเป็นญัตติซ้ำ เป็นข้อห้ามของข้อบังคับรัฐสภา กรณีที่ญัติใดที่ตกไปแล้วห้ามเสนอชื่ออีกในสมัยประชุมเดียวกัน

พ.ต.ท.กีรปกล่าวว่า โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภา และประชาชนจำนวน 17 คำร้อง ขอให้ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ​ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 จากกรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน

จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่า เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่ โดยเห็นว่ารัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และการกระทำของรัฐสภา ในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น

 เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง

โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน

 ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่ และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ร้องชะลอโหวตนายกฯ

นอกจากนี้ คำร้องเรียนส่วนหนึ่งได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย

พ.ต.ท.กีรประบุว่า ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป

 “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจจะขัดต่อกฎหมาย และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ และยากที่จะเยียวยาแก้ไข จึงเห็นด้วยกับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ​กำหนดการชะลอพิจารณานายกฯ ออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ​จะมีคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตามการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ​นี้คาดว่าจะเป็นวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.) หรือ 26 ก.ค.นี้” พ.ต.ท.กีรประบุ

ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งเป็นความกังวลของพรรคเพื่อไทยว่า เรื่องนี้ไม่เดดล็อก ชื่อในบัญชีเดิมเสนอซ้ำได้ แต่ต้องหลังจากที่ที่ประชุมเห็นพ้องกันแล้วด้วยเสียง 2 ใน 3 ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องข้อบังคับ เพราะนั่นเป็นเพียงส่วนประกอบบัญญัติเพื่อให้กระบวนการเสนอญัตติสามารถทำได้โดยสะดวก ราบรื่น ที่บอกว่าข้อบังคับข้อ 41 เขียนไว้ว่าเว้นแต่ประธานจะเห็นว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง คำว่าเปลี่ยนแปลงที่ว่าไม่ใช่หมายถึงการอยากจะคิดหรือจะทำอะไรก็ได้  แต่หมายความถึงเสียงที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 บอกไม่ใช้บทบัญญัติบัญชีเดิม

เมื่อถามว่า ที่ประชุมสามารถใช้ข้อบังคับยกเว้นการใช้ข้อบังคับข้อ 41 ได้หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะข้อ 41 เป็นหลักการทั่วไปของญัตติ เมื่อจะเสนอญัตติใดในรัฐสภา เป็นเรื่องที่เสนอโดยรวมๆ อยู่แล้ว เมื่อถามย้ำว่าถ้าได้เสียง 2 ใน 3 แล้ว สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่าได้ แต่ถ้านายพิธาไปติดเรื่องคุณสมบัติรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

นักนิติศาสตร์จี้ยกเลิกมติ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 115 คณาจารย์นิติศาสตร์ จาก 19 สถาบัน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐสภา ที่ให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ" โดยระบุใจความช่วงหนี่งว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 159 วรรคสอง บัญญัติว่า “ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งก็คือ  50 คน ไม่ใช่ต้องการ ส.ส.รับรองแค่ 10 คนดังเช่นการเสนอ “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 29 ดังนั้น การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่ “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41

 “ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272 ไม่ได้บัญญัติไว้แต่ประการใดว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมจะกระทำไม่ได้ ส่วนควรจะเสนอคนเดิมหรือไม่หรือจะเสนอกี่ครั้งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่รัฐสภาลงมติให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมได้เพียงครั้งเดียว เป็นการเอาข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อาจที่จะกระทำได้” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ช่วงหนึ่งระบุด้วยว่า ผลของการลงมตินี้ไม่ใช่แค่เรื่องของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล แต่คือบรรทัดฐานที่ผิดพลาดของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติที่เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ที่จากนี้ไปจะเสนอได้ครั้งเดียวทั้งหมด โดยไม่สนใจเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือ บรรทัดฐานที่เสียงข้างมากของรัฐสภาสามารถตีความข้อบังคับการประชุมของตนเองให้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดได้

คณาจารย์นิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามรายชื่อข้างท้าย เห็นว่ามติของรัฐสภาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เป็นการเอาการเมืองมาอยู่เหนือหลักกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภายกเลิกมตินี้ หาไม่แล้วการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย และหลักการปกครองโดยกฎหมายที่มีหลักรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ยากที่จะดำเนินโดยปกติในประเทศไทยต่อไปได้  

สำหรับนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ มีอาทิ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

'จรัญ' ชี้ศาล รธน.ไม่มีอำนาจ

ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องวินิจฉัย กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย กรณีรัฐสภาใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 ห้ามนำญัตติใดที่ตกไปแล้วนำมาพิจารณาใหม่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการละเมิดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ รธน.มาตรา 149 อนุโลมว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถ้ายังไม่ได้ประกาศใช้ สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้ แต่ถ้าเป็นข้อบังคับที่ประกาศใช้แล้ว ให้เป็นเรื่องภายในรัฐสภา ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบว่าจะขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่

 “ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปตีความ หรือ ตรวจสอบข้อบังคับของรัฐสภาได้ เพราะถือเป็นเรื่องภายในของรัฐสภา และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการพิจารณาของศาล รธน.ก็ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องลักษณะนี้มาพิจารณา ฉะนั้น มติของที่ประชุมรัฐสภาวันนั้นจึงเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมและถูกต้องตามรธน. โอกาสที่ศาล รธน.จะรับมาพิจารณามองว่าคงสำเร็จน้อยมาก” นายจรัญระบุ

นายจรัญระบุด้วยว่า ส่วนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาล รธน.มีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา จึงไม่สามารถกระทำได้เพราะศาล รธน.ไม่มีอำนาจบังคับสถาบันรัฐสภา วุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร เพราะถือเป็นสถาบันของชาติ ถ้าทำอย่างนั้นถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตความมุ่งหมายของกฎหมาย และศาล รธน.เองก็ไม่เคยมีตัวอย่างคำสั่งแบบนี้มาก่อน แต่สามารถมีคำสั่งให้ สส.และ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้

 “ทางออกเรื่องนี้จึงอยู่ที่ประธานรัฐสภาที่้จะเรียกประชุม และอาจหารือสมาชิกเพื่อเป็นการรับฟังว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาล รธน. จากนั้นก็คงใช้มติของที่ประชุมรัฐสภาเป็นทางออก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นกิจการในภารกิจของรัฐสภา เมื่อมีความขัดแย้งก็ให้ที่ประชุมวินิจฉัย” นายจรัญระบุ

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายเศวต ทินกูล อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 เดินทางมายื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา กรณีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติซ้ำ ขัดข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 โดยมีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบทั้งหมด 395 คน รวมถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ที่รู้เห็นเป็นใจให้กระทำการดังกล่าว เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 157 โดยมีนายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับเอกสาร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง