ธปท.จ่อหั่นจีดีพี ไร้ดอกเบี้ยขาลง ห่วงประชานิยม

“แบงก์ชาติ” แจงจ่อลดจีดีพีปีนี้ลง จากคาดการณ์ 3.6% เหตุส่งออกระส่ำหลังเศรษฐกิจโลก-จีนแผ่ว ไตรมาส 2 ส่อโตต่ำกว่าเป้า ส่งสัญญาณดอกเบี้ยไม่มีขาลงแน่ จับตารัฐบาลใหม่งัดนโยบายประชานิยม ห่วงแรงจัดกระทบเสถียรภาพ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายเศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ “ยกระดับเศรษฐกิจภาคเหนือ คว้าโอกาสบนโลกแห่งความท้าทาย ในหัวข้อ ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 อาจจะมีการปรับลดลงจากคาดการณ์บ้าง แต่ภาพรวมจะยังเห็นการเติบโตได้ที่ระดับ 3% กลางๆ บวกลบ จากคาดการณ์ล่าสุดที่ 3.6% เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้บางช่วงอาจจะเห็นตัวเลขต่ำกว่าคาดการณ์บ้าง แต่ภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ได้ประเมินไว้

 “ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 นั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะประกาศในเดือน ส.ค.นี้ โดยมองว่าแนวโน้มอาจจะออกมาค่อนข้างต่ำกว่าคาดการณ์หน่อย จากการดูตัวเลขในเบื้องต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวจะไม่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคและลงทุนเอกชน รวมไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งภาพเหล่านี้สตอรีไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย โดยการลงทุนเอกชนปีนี้น่าจะโตเกิน 4% ขณะที่การท่องเที่ยวแม้จีนจะไม่มาเร็วอย่างที่คิด แต่ยังเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 29 ล้านคน ตรงนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่การส่งออกอาจจะดูไม่ค่อยดีมาก ก็เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และจีนที่ทำให้การส่งออกไม่ค่อยดีนัก ซึ่งส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกไม่ค่อยดี แต่ก็มองว่าน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและท้ายปี” นายเศรษฐพุฒิระบุ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าบริบทของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เปลี่ยนไปจากปี 2565 ที่ภาพเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมาก จนทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ธปท.ต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ส่วนปีนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แม้จะฟื้นตัวช้าตาม แต่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อระยะยาวมองว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากปัจจุบันที่ลดลงมาค่อนข้างมาก ดังนั้นโจทย์ของนโยบายการเงินจึงเปลี่ยนไป โดยตอนนี้ต้องเน้นการแลนดิ้ง จากก่อนหน้าที่ที่เน้นสมูทและเทกออฟ ต้องทำให้ลงได้ดี ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูไม่ใช่แค่ปัจจัยระยะสั้นเรื่องเงินเฟ้อ แต่ต้องดูภาพเศรษฐกิจระยะยาวด้วย เหมือนเป็นการปักหมุดในระยะยาวว่าดอกเบี้ยที่จะอยู่ในระดับที่สร้างความสมดุลระยะปานกลางและระยะยาวที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่ จึงดูแค่ปัจจัยระยะสั้นไม่ได้แล้ว

สำหรับ 3 เรื่องที่ต้องดูคือ 1.เศรษฐกิจเติบโตในระดับศักยภาพในระยะยาวหรือไม่ คือระดับ 3-4% หากโตเร็วกว่านี้จะเกิดปัญหาเรื่องความร้อนแรง 2.แนวโน้มเงินเฟ้อ ควรจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่ยั่งยืน และ 3.อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อจีดีพีนั้น ดังนั้นการจะไม่ให้หนี้เพิ่มต่อเนื่องคือ ต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสมดุลระยะยาวมากขึ้น

 “บริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป โจทย์นโยบายการเงินจึงต้องเปลี่ยนจากสมูทเทกออฟเป็นแลนดิ้ง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราได้ถอดออกไปแล้ว ตรงนี้สะท้อนว่าตอนนี้มันอยู่ใกล้จุดที่จะมีการเปลี่ยน พูดง่ายๆ ให้ชัดเจนคือ คราวหน้าก็มีโอกาสที่เราจะคง หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรับลงแน่นอน เพราะยังไม่เหมาะที่จะปรับลง จึงอยากให้ดูไป” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น ธปท.ได้ประเมินเรื่องความล่าช้าของการใช้งบประมาณไว้แล้วที่ราว 2 ไตรมาส ซึ่งผลกระทบไม่ค่อยมาก เพราะงบรายจ่ายประจำยังดำเนินได้ปกติ ส่วนงบลงทุนอาจจะกระทบบ้าง แต่ไม่ได้เยอะจนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่จุดเสี่ยงจริงๆ นอกเหนือจากหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไรแล้ว ยังมีเรื่องนโยบายที่ต้องดูว่าจะมีนโยบายอะไรออกมา โดยสิ่งที่ไม่อยากเห็นคือนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่บั่นทอนเสถียรภาพ ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องการเมืองต้องมีสไตล์รายจ่ายแบบประชานิยม แต่ถ้าดำเนินการอยู่ในรอบ ไม่มากเกินไป มีวิธีการบริหารจัดการเม็ดเงินที่ชัดเจน ก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากมากเกินไปจนกระทบกับเสถีรภาพเศรษฐกิจก็น่าเป็นห่วง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง