เศร้า!ฌาปนกิจเหยื่อเด็ก14

รมว.ยุติธรรมเป็นประธานพิธีฌาปนกิจ "ตะวัน" เหยื่อ ด.ช. 14 กราดยิงกลางพารากอน มอบเงินเยียวยา 2  แสนก่อนจากทั้งหมด 6.2 ล้าน ย้ำต้องให้ความยุติธรรมทุกคน ขณะที่บรรยากาศสุดอาลัย แม่ร้องไห้หมดแรงส่งลูกครั้งสุดท้าย "สยามเทคโนโพล" หนุนควบคุมแบลงก์กัน-อาวุธปืน มท.แจงออก 4 มาตรการคุมอาวุธปืน กระทบผู้ครอบครองอย่างถูกกฎหมายน้อยที่สุด

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ที่วัดผาสุกมณีจักร ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สถานที่จัดพิธีฌาปนกิจ น.ส.ตะวัน พนักงานสาวชาวเมียนมา เหยื่อคมกระสุนปืนเด็กอายุ 14 ปี ถูกยิงเสียชีวิตในห้างสรรพสินค้าพารากอน ย่านปทุมวัน มีกำหนดการฌาปนกิจเวลา 13.00 น.  บรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า และอาลัยของครอบครัว ญาติสนิท เพื่อนร่วมงาน และนายจ้างที่เดินทางมาร่วมส่งน้องตะวันเป็นครั้งสุดท้าย โดยการจัดงานฌาปนกิจ มีกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี ได้ถวายสังฆทานและผ้าบังสุกุลแด่พระสงฆ์จำนวน 10 รูป นางคฮิน วิน (khin win) แม่น้องตะวัน พร้อมด้วยนายอู ชิต สเว (H.E. U Chit Swe) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย และภรรยา ร่วมถวายผ้าบังสุกุลด้วย จากนั้นพระสงฆ์จำนวน 10 รูป ได้ทำพิธีสวดมาติกาบังสุกุล และสวดบำเพ็ญกุศลให้กับน้องตะวัน

ในระหว่างเคลื่อนร่างของน้องตะวัน ออกจากโรงเย็นเพื่อนำขึ้นสู่ฌาปนสถาน นางคฮิน วิน ได้ร้องไห้ด้วยความเสียใจจนเกือบจะเป็นลม ญาติต้องพามานั่งพักให้อาการดีขึ้น ระหว่างนำร่างน้องตะวันวนรอบเมรุ ก่อนเข้าสู่พิธีฌาปนกิจ โดยมีการธงประจำกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ ชนเผ่าของน้องตะวัน มาคลุมบนโรงศพด้วย ขณะเดียวกันยังมีสมาชิกจากกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 200 คน สวมชุดประจำชาติของชนเผ่ามาร่วมพิธีฌาปนกิจในวันนี้ด้วย

ทั้งนี้ ก่อนพิธี พ.ต.อ.ทวีได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียชีวิตและทดแทนค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2559 จำนวน 200,000 บาท 

โดย พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า วันนี้ตนเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรีมาร่วมพิธีฌาปนกิจ ได้พูดคุยกับทางแม่ของผู้เสียชีวิตเบื้องต้น และได้มอบเงินเยียวยาผู้เสียหายคดีอาญา 200,000 บาท ขณะเดียวกันได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล จะมีเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นจำนวน 6 ล้านบาท เบื้องต้นตัวเองเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ยืนยันว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับทุกคนที่เป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เราต้องให้ความยุติธรรม 

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า สำหรับเรื่องการดำเนินคดี ทางตำรวจก็จะเร่งดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความชัดเจน และจะชี้แจงไปยังทั้งประเทศจีนและเมียนมาให้เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ทั้ง 2 ประเทศไม่ได้ติดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของกฎหมายไทยได้ให้การคุ้มครองผู้ก่อเหตุที่เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่จะไม่ได้รับโทษทางอาญา แต่กรณีของเด็กวัย 14 ปี หากศาลเด็กและเยาวชนมีคำสั่งให้คุมประพฤติ ก็สามารถอยู่สถานพินิจได้จนถึงอายุ 24 ปี ซึ่งรายละเอียดก็อยู่ที่คำพิพากษาของศาล

ส่วนเรื่องการแก้ไขกฎหมาย เรื่องการลดเกณฑ์อายุเยาวชนที่ไม่ต้องรับโทษจาก 1-15 ปี ให้เหลือเพียง 1-12 ปีนั้น พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ 2 ส่วน คือการเสนอจากรัฐบาล และการเข้าชื่อกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ขอย้ำว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

ด้าน น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวถึงเรื่องของกระบวนการควบคุมตัวผู้ก่อเหตุอายุ 14 ปีว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจะมีหน้าที่ในการประเมินข้อเท็จจริง ทั้งตัวเด็กและสภาพของครอบครัว เพื่อนำรายงานต่อศาล ซึ่งตอนนี้ผู้ก่อเหตุวัย 14 ปีอยู่ในช่วงสังเกตอาการของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งมีการรายงานความคืบหน้าว่าขณะนี้ผู้ก่อเหตุเริ่มหลับได้ดีขึ้น และอยู่ระหว่างการประเมินทางการแพทย์ ส่วนการประเมินสภาพจิตใจต้องรอผลการวินิจฉัยจากแพทย์ ส่วนเรื่องการควบคุมตัวหรือการปล่อยตัวนั้นเป็นอำนาจศาลที่จะตัดสิน     

วันเดียวกัน สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เสนอผลสำรวจเรื่อง มูลเหตุกราดยิง ใครต้องรับผิดชอบ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,103 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.1 รู้สึกเศร้าใจ เสียใจ หดหู่ใจ ต่อเหตุกราดยิง, ร้อยละ 71.8 ระบุถึงเวลาแล้วต้องแก้กฎหมาย อายุผู้กระทำผิด, ร้อยละ 57.2 ระบุเร่งหาทางบำบัดฟื้นฟู และป้องกันไม่ให้เกิดการทำซ้ำ, ร้อยละ 46.8 ระบุเร่งเยียวยาจิตใจของผู้รอดชีวิตและเครือญาติผู้เสียชีวิต

เมื่อถามถึงความเห็นต่อมาตรการระยะสั้นของกระทรวงมหาดไทยต่อการคุมอาวุธปืน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.3 เห็นด้วยให้ผู้ครอบครองแบลงก์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ นำไปขึ้นทะเบียนตามภูมิลำเนา, ร้อยละ 60.3 เห็นด้วยให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศงดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด, ร้อยละ 50.0 ระบุ ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเข้มงวด, ร้อยละ 48.1 ระบุ ไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก และร้อยละ 47.0 ระบุให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเข้มงวดกวดขันสนามยิงปืน

เมื่อถามถึงใครต้องรับผิดชอบต่อเหตุกราดยิง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.5 ระบุ ผู้กระทำความผิด, ร้อยละ 79.6 ระบุพ่อแม่ผู้ปกครอง, ร้อยละ 40.0 ระบุขบวนการดัดแปลงอาวุธปืน, ร้อยละ 39.2 ระบุ ห้างสรรพสินค้า, ร้อยละ 23.9 ระบุเกมรุนแรง เกมออนไลน์  ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 กังวลค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด จะเกิดเหตุกราดยิงซ้ำอีก,  ร้อยละ 16.5 กังวลปานกลาง และร้อยละ 17.8 กังวลค่อนข้างน้อยถึงไม่กังวลเลย

ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงมหาดไทยออกมาตรการคุมปืนและอาวุธปืน 4 มาตรการ มีการห่วงใยว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์แก่ผู้มีอาวุธปืนที่ครอบครองไว้อย่างถูกกฎหมาย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีปืนที่ครอบครองโดยประชาชนกว่า 10 ล้านกระบอก เป็นจำนวนมากที่สุดในอาเซียน และอันดับที่ 13 ของโลก ในประชาชน 100 คน มีการพกปืนถึง 15 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ การเกิดขึ้นของสิ่งเทียมอาวุธปืนเช่นแบลงก์กัน ก็ต้องกลับมาอยู่ในการควบคุมจากข้อเท็จจริงว่าสามารถดัดแปลงได้ง่ายเพื่อใช้เป็นอาวุธสังหารชีวิตประชาชนได้

"การที่สุจริตชนมีปืนเพื่อปกป้องตนเองนั้นเป็นเรื่องที่รับฟังได้ แต่อย่าลืมว่ายังมีสุจริตชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปืนไว้ในครอบครอง คนกลุ่มนี้กำลังหวาดระแวง กับการอยู่ในสังคมที่มีปืนมากมายเต็มไปหมด ปืนเป็นอาวุธร้ายแรง ยิ่งมีปืนมาก ความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยิ่งมาก โอกาสสูญเสียยิ่งมาก"

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า บุคคลที่ครอบครองปืนไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น มาตรการต่างๆ ที่ออกมาแทบไม่ได้กระทบกับสุจริตชนกลุ่มนี้เลย สำหรับปืนเถื่อนนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยได้ขอความร่วมมือกับ DES เพื่อปิดช่องทางออนไลน์ในการซื้อขายอาวุธเถื่อน ผิดกฎหมาย และประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เร่งแก้ปัญหาแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง