ชทพ.ขวางนิรโทษ‘ม.112’ ‘อ๋อง’สมัครเข้า‘เป็นธรรม’

"วราวุธ" จ่อหารือพรรคร่วมรัฐบาล ส่งร่างนิรโทษกรรมประกบฉบับก้าวไกลหรือไม่ ยันไม่เห็นด้วยพ่วงคดี ม.112 พร้อมหนุนแก้ รธน.มี ส.ส.ร.ยกร่าง ไม่แตะหมวด1, 2 ชี้ทำประชามติต้องเร็วและประหยัด "ปดิพัทธ์" เซ็นใบสมัครเข้า "เป็นธรรม" จ่อแถลงร่วมกันอังคารนี้ ยันแนวทางตรงกัน-ไม่เข้าร่วมรัฐบาล "วิปรัฐบาล” เคารพการตัดสินใจของ “หมออ๋อง" ยันไม่ยื่นหน่วยงานใดตรวจสอบแล้ว ขอให้ ปชช.ตัดสินผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณี สส.พรรคก้าวไกลยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อประธานสภาฯ เพื่อขอนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ว่าเป็นสิทธิของพรรคการเมือง ในฐานะที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะเสนอกฎหมาย ในส่วนของพรรค ชทพ.เห็นว่ามีบางส่วนที่หากเป็นประชาชนทั่วไปเราเห็นด้วย แต่ในกรณีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 เราคิดว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงความผิดทางอาญาร้ายแรง หรือแม้แต่กรณีการทุจริตก็ไม่ควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค ชทพ.จะเสนอร่างประกบหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า ตอนนี้พรรคยังไม่ได้หารือกันในเรื่องการเสนอร่างประกบ ชทพ.เรามี 10 เสียง ยังไม่เพียงพอในการที่จะเสนอร่างกฎหมาย แต่ก็ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคอื่นก่อนว่ามีแนวทางกันอย่างไร

ส่วนกรณีคณะกรรมการศึกษาประชามติฯ จะประชุมนัดแรกในวันที่ 10 ต.ค.นี้ เพื่อวางกรอบต่างๆ ในการทำประชามติ ตรงนี้ได้กำชับอะไรนายนิกร จำนง ผอ.พรรค  ในฐานะผู้แทนของพรรค ชทพ.อย่างไรหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า มีการพูดคุยและเห็นตรงกันว่าการทำประชามตินั้น แน่นอนว่าต้องมีการทำ แต่จะทำกี่ครั้ง การที่จะทำให้รวดเร็วที่สุดและประหยัดที่สุด หากทำประชามติแบบประหยัดแล้วไม่ผ่านกลไกทางกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ก็แปลว่าแบบที่ประหยัดนั้นมันเสียเปล่า ฉะนั้นการดำเนินการคงต้องหารือทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ ว่าสามารถทำแบบประหยัดแล้วขัดต่อกฎหมายหรือมาตรการใดหรือไม่ ทุกฝ่ายอยากทำให้เร็วที่สุดและประหยัดเงินที่สุด เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งก็ใช้เงินหลายพันล้านบาทอยู่

นายวราวุธกล่าวว่า ในส่วนของพรรค ชทพ.เรายังเห็นด้วยกับการที่จะร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางปี 2540 ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง ส.ส.ร. และไม่แตะต้องหมวด 1 กับหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งพรรคชาติไทยเรามีหนังสือที่รวบรวมเอกสารขั้นตอนการทำ ที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็จะได้นำมาเป็นข้อมูลและแนวทางให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันในการเดินหน้าต่อไป

ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เปิดเผยว่า ตัดสินใจชัดเจนแล้วว่าจะไปทำงานการเมือง โดยย้ายสังกัดไปอยู่กับพรรคเป็นธรรม  และในวันที่ 10 ต.ค.จะเซ็นใบสมัครเข้าพรรคเป็นธรรม  และแถลงร่วมกันที่รัฐสภาในเวลา 10.00 น. ซึ่งได้มีการพูดคุยกับพรรคเป็นธรรมชัดเจนแล้วว่า หากสนับสนุนแนวทางการทำงานของตนและไม่เข้าร่วมรัฐบาล ก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ ตนไม่ได้มีความคาดหวังอะไรต่อกัน ชัดเจนตามนโยบาย และมั่นใจว่าไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลแน่

เมื่อถามว่า อนาคตทางการเมืองจะกลับไปทำงานกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ยังมีเวลาอีกหลายปี และต้องรอดูรัฐธรรมนูญใหม่ว่ามีความชัดเจนอย่างไร จึงยังไม่ขอพูดอะไรไปในตอนนี้ เพราะจะไม่ดีกับทั้งสองพรรค แต่ตอนนี้ตัดสินใจชัดเจนว่าจะเข้าสังกัดพรรคเป็นธรรม โดยได้แจ้งพรรคเป็นธรรมไปเรียบร้อยแล้ว

 ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานวิปรัฐบาล) กล่าวว่า วิปรัฐบาลก็เคารพในการตัดสินใจของนายปดิพัทธ์ โดยจะไม่มีการเคลื่อนไหวหรือยื่นเรื่องให้หน่วยงานใดตรวจสอบอีก เพื่อให้เป็นเรื่องภายในของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิดของนายปดิพัทธนั้น ก็ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

"ขออวยพรให้นายปดิพัทธ์ขับเคลื่อนการทำหน้าที่ ในกิจการของสภาผู้แทนราษฎรให้ราบรื่น และประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังทุกประการ ไม่สะดุดใดๆ ซึ่งที่ผ่านมาวิปรัฐบาลอาจมีการเคลื่อนไหวในทัศนะที่ไม่ตรงกันเป็นบางคน ก็ขออภัยด้วย” นายอดิศรกล่าว

วันเดียวกัน เวลา 10.10 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ยับยั้ง หรือทบทวนการแต่งตั้ง สส.คนหนึ่งที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีประวัติเคยมีข่าวถูกเผยแพร่คลิปวิดีโอกำลังนั่งจั่วไพ่ในสภาฯ ชุดที่แล้ว ให้มานั่งใน กมธ. ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยได้ยื่นให้ตัวแทนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ โดยระบุว่าหากประธานสภาฯ ไม่ทบทวนก็จะเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามไปด้วย ซึ่งองค์กรอาจต้องไปร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อสอบเอาผิดประธานสภาฯ ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้