นายกฯตะลึง! ขุมทรัพย์ EEC ให้เครดิต ‘รัฐบาลประยุทธ์’

ชลบุรี ๐ "เศรษฐา" นั่งรถไฟตรวจงาน    ซูฮกอีอีซี เป็นขุมทรัพย์ของประเทศ จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและสามารถทำได้จริง ไม่ใช่วาทกรรมสวยหรู ถ้าทำสำเร็จได้จะยกระดับทรัพย์สินของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้มโหฬาร ยันสนับสนุนรถอีวี ที่ต่อยอดจากรัฐบาลประยุทธ์ ก็ต้องให้เครดิต

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางด้วยรถไฟขบวนพิเศษ 995 จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง โดยได้รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และขีดความสามารถในการรองรับสินค้าของท่าเรือแหลมฉบัง

นายกฯ กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างการประชุมว่า ปัจจุบันมีความแออัดของการขนส่งสินค้า ซึ่งอยากให้แผนการพัฒนาตรงนี้มีความคืบหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนจะเกิดความล่าช้า และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดแถลงความคืบหน้าด้วย

ต่อมานายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า   จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนลงพื้นที่ พบว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาได้มาก โดยเรื่องอีซีซี เป็นขุมทรัพย์ของประเทศ ซึ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องน้ำ  ไฟฟ้า ราง ถนน สนามบิน ท่าเรือ  พลังงาน และเรื่องภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องมาดูว่าจะพิเศษจริงหรือไม่  และติดขัดปัญหาตรงไหนต้องแก้ไข ต้องดูว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมอย่างไร

มั่นใจว่าประเทศมีอะไรดีเยอะมาก จึงควรเพิ่มความสนใจในการมาลงทุน  ทั้งโรงเรียน ระบบการดูแลสุขภาพ และดูว่าสิ่งที่เราโฆษณาชักชวนไว้ให้มาลงทุนสามารถทำได้จริงหรือไม่ และต้องชี้แจงว่าติดปัญหาตรงไหน รวมถึงต้องให้ประชาชนรับทราบว่าอีอีซีคืออะไร มีศักยภาพมากแค่ไหน ถ้าทำโครงการนี้สำเร็จได้ จะยกระดับทรัพย์สินของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้มโหฬาร ทั้งนี้หลังจากการลงพื้นที่จะแถลงสรุปผลในช่วงบ่ายต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีวิธีการประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนรับทราบถึงศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างไร นายกฯ ตอบว่า มีแน่นอน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และสามารถทำได้จริง ไม่ใช่วาทกรรมสวยหรู หากมีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาดูแลจะดีมาก โดยต้องพิจารณาว่าต้องนำเรื่องเข้า ครม. หรือไม่ เพื่อช่วยไปทลายกำแพงอุปสรรคต่างๆ

เมื่อถามว่า บางครั้งระบบการทำงานของราชการอาจจะไม่ทันใจกับนักธุรกิจที่จะมาลงทุน นายเศรษฐากล่าวว่า   ทราบอยู่แล้วว่าระบบราชการเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าข้าราชการมีความตั้งใจจริง หน้าที่เราต้องให้ความสำคัญ ต้องให้เกียรติและพูดคุยว่าปัญหาของเราคืออะไร โดยสะท้อนมาจากทบวง กรม และผู้นำต้องเป็นตัวเชื่อม นำปัญหาของแต่ละหน่วยงานของรัฐมาพูดคุย และพยายามแก้ไขให้มากที่สุด อย่ามองว่าเป็นอุปสรรค เพราะความหวังจะลดน้อยลงไป แต่มองเป็นโอกาสมากกว่า และจากการพูดคุยร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ก็มีความหวังที่นายกฯ ลงมาดูแลปัญหาตรงนี้อย่างบูรณาการ

นายเศรษฐายังได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า  "ผมตั้งใจนั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพง ไปศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรีครับ พูดถึงการเดินทางสะดวกและสะอาดมาก ระหว่างเดินทางผมจึงประชุมเตรียมข้อมูลสำหรับลงพื้นที่ EEC วันนี้ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปด้วย

ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง

ผมคิดว่า EEC เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เราต้องเร่งรัดให้เกิดการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งทางรัฐบาลต้องเตรียมระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบน้ำ มาตรการทางภาษี และอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนครับ"

ต่อมา ที่หอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐาตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบังและพูดคุยประเด็นศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนักในการนําเข้าและส่งออกของท่าเรือแหลมฉบัง

โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง ในปี 2566 ท่าเรือแหลมฉบังมีศักยภาพในการรองรับจำนวนเรือสินค้าผ่านท่า 11,700 เที่ยว ปริมาณสินค้าผ่านท่า 94.1 ล้านตัน 8.67 ล้าน TEU (Twenty-Foot Equivalent Unit) รถ 1.5 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนส่งออก ร้อยละ 49.8 และนำเข้า ร้อยละ 50.2 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และบูรณาการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งระบบราง ระบบถนน และทางทะเล เพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป

สำหรับความคืบหน้างานรับเหมาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 ส่งมอบพื้นที่ 31 สิงหาคม 2565 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 2 ส่งมอบพื้นที่ 1 ตุลาคม 2566 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 คาดว่าส่งมอบมิถุนายน 2567 ทั้งนี้ กำหนดแล้วเสร็จ 29 มิถุนายน 2569 โดยสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (บริษัท จีพีซีฯ) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการให้แก่บริษัท จีพีซีฯ ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ และพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่างๆ

สนับสนุนรถยนต์อีวี

นายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงคมนาคมและเจ้าหน้าที่รัฐเร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการก่อสร้าง ตามระยะเวลาและเป้าหมายของโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งรับทราบถึงการที่ กทท.จะเร่งดำเนินการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ยกระดับสู่ Smart Port รองรับกรุงเทพฯ ในการที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของไทย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับชมพื้นที่ภาพรวมการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง จากหอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง

ช่วงเย็น ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) ต.เขาคันทรง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี นายเศรษฐาพร้อมคณะเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมี น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้อนรับและบรรยายสรุป พร้อม 6 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา ช่วยสนับสนุนการประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี

ประกอบด้วย 1.กำหนดสัดส่วนการใช้ประโยชน์การใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองร่วมชุมชนในอีอีซี ให้จัดสรรที่ดินที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมได้ 2.ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 3.ปรับลดระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ. )ให้มีความกระชับมากขึ้น 4.การจัดสรรน้ำดิบให้เพียงพอ ต่อการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม 5. การเพิ่มแนวทางให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสามารถจัดหาพลังงานพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ให้แก่ผู้ประกอบการได้มากขึ้น และ 6.การจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

จากนั้น นายกฯ ขึ้นกล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนรถยนต์อีวีอยู่แล้ว ทั้งบีโอไอและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปช่วยกันดำเนินงานช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จนประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์รถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ตนในฐานะคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้เร่งต่อมาตรการระยะที่ 2-5 ออกไป ซึ่งน่าจะเป็นที่พอใจนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอแนะ อาทิ เร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดภาวะคาร์บอน การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตที่จะต้องมีการตั้งโรงงานเพื่อทำให้เกิดสินค้าและการบริการ เรื่องแบตเตอรี่ที่จะต้องมีการรียูส รีไซเคิล และการทำลายที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตนจะให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ มาร่วมเร่งพัฒนาแก้ไขและเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับทางต่างประเทศ

ให้เครดิตรัฐบาลประยุทธ์

นายเศรษฐากล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้ต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งก็ต้องให้เครดิต ที่เริ่มพัฒนาในแง่ของการให้รถอีวี ถ้ามาเปิดโรงงานในประเทศไทย และหลังตนเข้ามาได้ไปพูดคุยกับต่างประเทศเพื่อให้เขาเข้าใจว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมที่จะต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ ไม่มีเวลาไหนที่ดีเท่ากับตอนนี้ ที่ให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย สำหรับข้อเสนอทั้ง 6 ข้อ เราก็ตระหนักดี และจะพยายามช่วยเหลือให้เร็วกว่า 5 ปี

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องของน้ำ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญภาคเกษตร เป็นภาคที่ใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญ เราไม่อยากให้มีความขัดแย้งระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ฉะนั้น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมแหล่งน้ำที่เพียงพอ ต้องมีการบูรณาการอย่างระยะยาว ซึ่งตอนที่เราเข้ามาพบว่าตอนแรกมีปัญหาแต่ด้วยความสามารถของกรมชลประทาน และการประสานงานที่ดีระหว่างภาคเอกชนกับรัฐบาลทำให้แก้ไขปัญหาได้

“เรื่องที่มีคนมาด้อยค่าประเทศไทยว่าน้ำแล้งไม่สามารถทำอุตสาหกรรมได้ ถ้ามีใครมาพูด ก็ขอให้ตอบโต้กลับไป เพราะจะมีต่างชาติมาแย่งนักธุรกิจไปลงทุน ผมขอยืนยันว่าเรามีน้ำเพียงพออุตสาหกรรมในประเทศ ทั้งนี้ อีกไม่เกิน 3 เดือนเราจะสามารถประกาศได้อย่างเต็มที่ว่าได้มีการขับเคลื่อนอีอีซีอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะยกระดับภาคอุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนคนไทยทุกคนต่อไป” นายกฯกล่าว

จากนั้น นายกฯ พร้อมนายธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด และ น.ส.จรีพร ได้ร่วมลงนามบนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ยี่ห้อเอ็มจี รุ่นเอ็นจี 4 และบนแบตเตอรี่รถยนต์อีวีเพื่อเป็นที่ระลึก ซึ่งทั้งสองเป็นผลิตภัณฑ์ของยี่ห้อเอ็มจีรุ่นแรกที่ประกอบในประเทศไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’ ลุยสวน ชิมทุเรียน 3 สายพันธุ์

เมื่อเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เดินทางด้วยรถยนต์อัลพาร์ด สีดำ ทะเบียน 8 กผ 1127 กรุงเทพมหานคร ถึงสวนนวลทองจันทร์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อตรวจติดตามการผลิตทุเรียนคุณภาพปลอดภัยมูลค่าสูง และรับฟังปัญหาจากเกษตรกร