ขายฝันแลนด์บริดจ์ให้ฝรั่ง

นายกฯ เตรียมโรดโชว์แลนด์บริดจ์ พบภาคธุรกิจเชิญชวนลงทุนในไทย พร้อมออกกฎหมายพิเศษจูงใจ ก่อนขึ้นเวทีเอเปกปาฐกถา 15 พ.ย. “เศรษฐา" ลั่น โครงการแลนด์บริดจ์สร้างอนาคตประเทศ เกิดการจ้างงาน-เด็กไทยไม่อยากย้ายประเทศแล้ว

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ช้ากว่าเวลาของกรุงเทพฯ ประเทศไทย 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  และคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยมีนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน นายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และเจ้าหน้าที่พิธีการทูตสหรัฐฯ ให้การต้อนรับ และนำคณะเดินทางไปโรงแรม เดอะ ริตซ์ คาร์ลตัน (The Ritz Carlton) ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก ก่อนนายกฯ จะปฏิบัติภารกิจส่วนตัว

ทั้งนี้ นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงการโรดโชว์โครงสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2023 ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย.นี้ว่า จะใช้โอกาสในการเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปกครั้งนี้เชิญชวนนักลงทุนให้มาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ และจะขยายเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะภาคการเกษตร แต่จะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นด้วย ยกระดับรายได้ประชาชน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

เมื่อถามว่า โอกาสที่นักลงทุนสหรัฐฯ จะสนใจมีแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศได้แจ้งความคืบหน้า สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และยังเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจวางอนาคตได้ แม้โครงการยังไม่เกิดขึ้นทันทีและต้องใช้เวลานาน แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเล็งเห็นโอกาสจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาจทำให้ตัดสินใจไม่ย้ายประเทศเพื่อทำงาน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสร้างแรงบันดาลใจ เพราะประเทศเราต้องดีขึ้น หากมีเขตอุตสาหกรรมที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ และคนไทยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะร่วมกันพัฒนา ก็จะเป็นจุดศูนย์กลางที่จะหล่อหลอมให้สังคมดีขึ้นได้

ส่วนข้อเสนอที่จะจูงใจนักลงทุนมีอะไรบ้าง นายเศรษฐากล่าวว่า มีมาตรการทางภาษี พลังงานสะอาดที่รัฐบาลให้ความสำคัญ การบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการบิน มีรถไฟความเร็วสูง มีท่าเรือแหลมฉบังสำหรับโลจิสติกส์ โดยแลนด์บริดจ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนตัดสินใจ ขณะที่มิติสังคมประเทศไทยไม่แตกแยกเท่าบางประเทศ แม้จะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ นักลงทุนต่างชาติจะดูตรงนี้เป็นหลัก และไทยยังมีโรงเรียน สถานพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับโลก ที่เป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเช่นกัน

ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม  กล่าวถึงการเตรียมโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ว่า ไม่ใช่โครงการที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นนานพอสมควรและมีการพูดคุยตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลที่แล้วให้ศึกษาเรื่องแลนด์บริดจ์ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้เปรียบ เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่าง 2 ฝั่งทะเล ได้แก่ฝั่งทะเลจีนใต้และฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะมีการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปยังโรงงานผลิตในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เมื่อผลิตเสร็จสินค้าส่วนหนึ่งจะข้ามไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้เส้นทางการขนส่งสินค้าสั้นลงประมาณ 5-10 วัน และหากได้ทำโรดโชว์โครงการนี้ให้คนเห็น และมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ก็มีโอกาสที่โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้และประเทศไทยจะได้ประโยชน์

"ที่นายกฯ พูดในหลายๆ เวทีก็มีหลายประเทศให้ความสนใจ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ จึงเป็นเหตุผลที่มาโรดโชว์ในสหรัฐอเมริกา และเรามาเพื่อรับฟังความเห็นของนักลงทุนว่าต้องการอะไรบ้าง และให้เราเตรียมให้ โดยมุมหนึ่งในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์คือเรื่องกฎหมาย จะต้องมีกฎหมายพิเศษที่เป็นลักษณะเดียวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งภายในระยะเวลา 2 ปีจะมีความชัดเจน โดยในกรอบของกฎหมายจะมีการตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการที่จะมารับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งโครงการนี้มีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง โดยจะมีการรายงานนายกฯ โดยตรง"

สำหรับเป้าหมายประเทศที่อยากให้มาลงทุนในโครงการดังกล่าว มีทั้งตะวันออกกลาง จีน ยุโรป อเมริกา จากนั้นจะนำความเห็นจากการโรดโชว์ไปประมวล ว่าสิ่งใดสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน หรือมีอะไรที่จะต้องเพิ่มเติม ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์นอกจากจะนำเรือเดินสินค้ามายังประเทศไทยแล้ว ส่วนที่นายกฯ มองคือให้เขามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์แล้วส่งออก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่างๆ ถูกลง สิ่งนี้จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์น่าสนใจมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดการภารกิจของนายกฯ ที่น่าสนใจในการเดินทางไปประชุมเอเปก ในวันที่ 13 พ.ย. เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซานฟรานซิสโก นายกฯ จะนำคณะเยี่ยมชมบริษัท เทสลา (Tesla) จากนั้นเวลา  13.00 น. พบปะหารือกับผู้บริหารบริษัท HP และพบหารือกับผู้บริหารบริษัท ADI ภายในโรงแรม เดอะ ริตซ์ คาร์ลตัน ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก

วันอังคารที่ 14 พ.ย. เวลา 09.00 น. นายกฯ จะพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและพบปะนักศึกษาไทย  และหารือกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำยักษ์ใหญ่ 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท Walmart, บริษัท Western Digital, บริษัท AWS, บริษัท Google และบริษัท Microsoft จากนั้นเวลา 17.00 น. ที่ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือกับนายจอร์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วงเย็นคาดว่าจะมีการหารือกับผู้บริหารบริษัท Open AI ที่โรงแรม เดอะ ริตซ์ คาร์ลตัน

วันพุธที่ 15 พ.ย. เวลา 10.00 น. นายกฯ หารือทางไกลผ่านระบบ zoom กับผู้บริหารบริษัท Intel จากนั้นเข้าหารือกับผู้บริหารบริษัท Citi ที่โรงแรมที่พัก ก่อนเดินทางไปยังศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศตะวันตก เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปก (APEC CEO Summit 2023) และกล่าวปาฐกถาในช่วงที่ 6 หัวข้อ "Summit Addresses by APEC Leaders and  CEOs" และพบปะหารือกับบริษัทเอกชนสหรัฐฯ รวมถึงหารือกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วนช่วงเย็นวันเดียวกันจะหารือกับบริษัท Tiktok

วันพฤหัสที่ 16 พ.ย. นายกฯ พบปะหารือกับผู้บริหารบริษัท Meta ก่อนจะเดินทางไปยังศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา, U.S. APEC Business Coalition, นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย 2566 ที่โรงแรมที่พัก และถ่ายภาพหมู่ของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยนายกฯ จะเข้าร่วมการหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน และหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกกับแขกพิเศษของประธาน ในหัวข้อ "Sustainability, Climate, and Just Energy Transition"

ส่วนภารกิจในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. นายเศรษฐาจะหารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก จากนั้นเดินทางไปยังศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์เพื่อหารือกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู และเข้าร่วมการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 ในหัวข้อ "การสร้างเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นจากความเชื่อมโยง" โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในลำดับที่ 18

จากนั้นช่วงบ่ายจะเดินทางไปยังบริษัท Nvidia เพื่อพบผู้บริหารและเยี่ยมชมบริษัท ก่อนที่ช่วงเย็นจะพบปะกับชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเดินทางกลับไทย ซึ่งนายกฯ และคณะจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เที่ยวบินพิเศษ TG8839 ใช้เวลาประมาณ 16 ชั่วโมง ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิวันที่  19 พ.ย. เวลา 07.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ไทยยังมีการหารือประเด็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และ EV โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นายกฯ จะพบปะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเป้าหมายในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และ EV และอีกส่วนนำคือ ผู้ประกอบการไทยประมาณ 20 คน ที่ร่วมเดินทางมาด้วย เพื่อสร้างศักยภาพความร่วมมือในอนาคต มีกิจกรรมพาภาคธุรกิจไทยเยี่ยมชมภาคธุรกิจสหรัฐฯ โดยจัดกิจกรรมเชิญบริษัทของสหรัฐฯ กว่า 80  บริษัทมาพบปะพูดคุยกัน เช่นการพบปะของบริษัท 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่อุตสาหกรรมอีวี เช่น Tesla  ต่อยอดจากที่เคยพบปะกันที่นิวยอร์ก โดยจะมาพูดคุยให้ลึกขึ้นและติดตามผล เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีในภูมิภาค โดยช่วงที่ผ่านมามีบริษัทรายใหม่หลายรายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เข้ามาตั้งฐานการผลิตส่งออกไปยังประเทศต่างๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ไหวแล้ว 'เศรษฐา' จ่อเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ หลังรู้จีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน

“เศรษฐา” เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ 27 พ.ค.นี้ หลังจีดีพีไทยไตรมาสแรกโตต่ำสุดในอาเซียน

เริ่มฮั้วยึดเก้าอี้สว. กกต.จับตาพวกไร้คะแนน-ท็อปไฟว์/‘ทักษิณ’ส่ง‘สมชาย’ดันนั่งปธ.

ประเดิมสมัคร สว.วันแรก มีทั้งพื้นที่คึกคักและกร่อย สะพัด! กทม.เริ่มมีเรื่องฮั้ว รวมกลุ่ม “กกต.” จับตาพวกไร้คะแนนและบรรดาท็อปไฟว์