18พ.ย.ปล่อย41คนไทย บิ๊กโจ๊กจ่อบินไปรับที่จีน

ลุ้น! 18 พ.ย. "เมียนมา"  ปล่อยตัว 41 คนไทย หลังระดับรัฐบาลช่วยเจรจา พร้อมส่ง "ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก" หารือ "ผบ.ยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก" ยันทุกคนปลอดภัยดี "บิ๊กโจ๊ก" เตรียมบินไปจีนรอรับอีก 200 คนที่ย้ายจากเมืองเล่าก์ก่ายไปจีน ระบุถึงไทยต้องแยกคัดกรองผู้ต้องหาหรือเหยื่อค้ามนุษย์ "บัวแก้ว" ขอให้มั่นใจช่วยเต็มที่ เผยช่วยแรงงานไทยในอิสราเอลขึ้นกับเงื่อนไขเจรจาหยุดยิง

ความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา บริเวณเมืองเล่าก์ก่าย 287 คน ซึ่งขณะนี้ 41 คนไทยจากเมืองเล่าก์ก่ายถูกเคลื่อนย้ายจากเมืองหนานเติ้งมาส่งต่อให้กับกำลังทหารเมียนมา (ภาคทหารบกสามเหลี่ยม) ในพื้นที่ จ.เชียงตุง รัฐฉาน แต่ล่าสุดเจ้าหน้าที่ฝั่งเมียนมาแจ้งว่าทางรัฐบาลเมียนมายังไม่มีคำสั่งให้ส่งคนไทยชุดดังกล่าวนั้น

ที่มณฑลทหารบกที่ 37 อ.แม่เมือง จ.เชียงราย วันที่ 17 พ.ย. พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดทางกองทัพเมียนมายังไม่ได้ส่งตัว 41 คนไทย ซึ่งมีการประสานงานกับกองทัพเมียนมาอยู่ตลอดเวลา โดยปัจจุบันคนไทยทั้ง 41 คนอยู่ที่ภูมิภาคสามเหลี่ยม จังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมา และได้รับการดูแลจากกองทัพเมียนมาอย่างดี ทุกคนมีความสุขสบายในระดับหนึ่ง และคิดถึงบ้าน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการสอบสวน การติดตามการให้ข้อมูล โดยทางการเมียนมาอยากทราบว่าคนไทยทั้ง 41 คนเดินทางเข้ามาได้อย่างไร มีการทำกันเป็นขบวนการหรือไม่

พ.อ.ณฑีกล่าวว่า กองทัพภาคที่ 3 และพล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง สั่งการให้ตนซึ่งรับผิดชอบพื้นที่นี้ และในอีกบทบาทหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย ไปประสานและสอบถามเพราะเหตุใด และทางกองทัพเมียนมาติดขัดในเรื่องใด จะให้กองทัพไทยช่วยดำเนินการอะไรเพิ่มเติมในการรับตัวคนไทยกลับมาหรือไม่ ซึ่งทางเรามีความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งกองทัพภาคที่ 3 กองกำลังผาเมือง มณฑลทหารบก 37 หน่วยแพทย์ ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สาย รวมถึงตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

"เพียงแค่รอรับคนไทย 41 คนกลับมา เหลืออีกนิดเดียว จะเห็นได้ว่าจากเมืองเล่าก์ก่ายลงมาถึงเชียงตุงค่อนทางแล้ว จากเชียงตุงมาถึงท่าขี้เหล็กเดินทาง 4 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ผมจะไปพบกับ พ.อ.ตู่ล่า ส่อวินโซ่ ผู้บังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก เพื่อสอบถามถึงเหตุผลว่ามีปัญหาติดขัดประการใดในการส่งตัว 41 คนไทย หรือให้ทั้งฝ่ายไทยช่วยดำเนินการอะไรบ้าง เราพร้อมให้ความร่วมมือกับกองทัพเมียนมาอย่างเต็มที่ ขอเพียงได้รับคนไทยกลับมาประเทศไทยอย่างปลอดภัย ขอยืนยันเราจะดำเนินการและทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้ง 2 ประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้นไป" พ.อ.ณฑีกล่าว

ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตากกล่าวว่า โอกาสที่คนไทยทั้ง 41 คนจะได้รับการส่งตัวเกิดขึ้นแน่นอนในเร็ววันนี้ หากขั้นตอนกระบวนการทางฝั่งเมียนมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางเมียนมาระบุว่ายินดีให้ฝ่ายไทยนำรถไปรับคนไทยที่ท่าขี้เหล็กได้เลย เพียงแต่การสอบสวนคนไทย 41 คนยังไม่เสร็จสิ้น เพราะกองทัพเมียนมายังติดใจถึงการเดินทางเข้าไปในเล่าก์ก่ายชายแดนติดกับจีน ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษและมีธุรกิจกลุ่มทุนสีเทาที่ไม่ถูกต้อง

"กองทัพเมียนมาหรือทางรัฐบาลมีข้อสงสัยว่าเหตุผลหรือขั้นตอนของคนไทยที่เข้ามาอาจเป็นหลักร้อยคน หรืออาจถึงหลักพันก็ยังไม่ทราบตัวเลขแน่ชัด เขาจึงสงสัยว่าเหตุผลประการใด มีกลุ่มขบวนการฝั่งไทยฝั่งเมียนมาหรือไม่ ถึงทำให้คนไทยกลุ่มนี้เดินทางเข้าไปในเล่าก์ก่ายได้" ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตากกล่าว

ลุ้น 18 พ.ย.ปล่อย 41 คนไทย

พ.อ.ณฑีกล่าวว่า กระทรวงกลาโหม  กระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนกงสุล สถานทูต เราพยายามประสานให้การช่วยเหลือ เราห่วงใยทุกๆ คนอยู่แล้ว อยากให้เกิดความปลอดภัยและออกมาจากตรงจุดนั้นโดยเร็ว ส่วนความคืบหน้าต้องรอประสานหน่วยเหนือต่อไป เพราะต้องประสานข้อมูลจากกองทัพเมียนมาอีกครั้ง

"ในพื้นที่ของประเทศเมียนมา มีพื้นที่พิเศษ พื้นที่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ดูแลอยู่ ซึ่งเป็นความอ่อนไหวความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ ในการให้ข่าวตรงนี้พูดไปอาจกระทบความสัมพันธ์ของแต่ละกลุ่ม ขอให้ส่วนต่างๆ ระดับของกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก หรือกองทัพไทย ประสานดำเนินการในแต่ละขั้นตอนในการช่วยเหลือคนไทย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยให้ดีที่สุด ตอนนี้อยากโฟกัส 41 คนไทยก่อน เหลือขั้นตอนเพียงนิดเดียวจะได้กลับมาแล้ว" พ.อ.ณฑีกล่าว

มีรายงานว่า ภายหลัง พ.อ.ณฑีเดินทางไปกองบังคับการกรมยุทธศึกษาทหารบก แขวงท่าขี้เหล็ก (บก.ยศ.ท่าขี้เหล็ก) เพื่อพบปะพูกคุยกับ พ.อ.ตู่ล่า ส่อวินโซ่ ผู้บังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก ที่ห้องรับรองด่านศุลกากร จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา คาดว่าทางเมียนมาจะปล่อยตัว 41 คนไทยเร็วสุดในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ซึ่งเกิดจากการประสานงานในระดับรัฐบาล โดยเมื่อได้รับอนุมัติจากทางการเมียนมาจะรีบดำเนินการเคลื่อนย้ายคนไทยทั้ง 41 คนมายังกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็กให้เร็วที่สุด และจะส่งมอบให้ พ.อ.ณฑีในฐานะประธาน TBC ฝ่ายไทยทันที

ที่ค่ายเม็งรายมหาราช พ.อ.ปรัษฐา ครามะคำ หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 37 กล่าวถึงขั้นตอนหลัง 41 คนไทยกลับมาว่า เจ้าหน้าที่จากฝ่ายความมั่นคงจะทำการสอบถามประวัติ ข้อมูลและตรวจสุขภาพ จากแพทย์ พยาบาลของ รพ.เม็งรายมหาราช รวมทั้งตรวจสอบเอกสาร ที่อาคารสโมสรมณฑลทหารบกที่ 37 โดยหน่วยได้เตรียมพร้อมในเรื่องสถานที่ อาหาร รวมถึงที่พักในกรณีที่เดินทางมาถึงในช่วงเวลากลางคืนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งภายในอาคารที่จัดเตรียมนี้สามารถรองรับผู้ที่ประสบภัยได้ถึง 200 คน

ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนไทยจากเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ว่าในวันที่ 18 พ.ย. จะสามารถเคลื่อนย้ายคนไทยจำนวน 200 คนในเมียนมาผ่านเส้นทางที่ปลอดภัยไปยังพื้นที่ของประเทศจีน เพื่อเตรียมอพยพกลับประเทศไทย จากนั้นจะมีเครื่องบินพาณิชย์คือสายการบินแอร์เอเชีย ที่ทางรัฐบาลประสานงานไว้ไปรับตัวกลับมายังประเทศไทย เบื้องต้นรัฐบาลจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน

"ในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) ผมและคณะทำงานจะเดินทางไปยังคุนหมิง ประเทศจีน เพื่อรับตัวด้วยเช่นกัน ยืนยันการช่วยเหลือไม่มีปัญหา ขอให้ญาติของเหยื่อที่ไปร้องเรียนต่อทางสถานทูตจีนมั่นใจได้ว่าทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือกลับมาอย่างปลอดภัย" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

ถามถึงขั้นตอนเมื่อคนไทยกลับถึงประเทศไทย รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า เมื่อทั้งหมดกลับมาแล้วจะนำไปเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อในพื้นที่ที่เตรียมไว้ที่เขตหนองจอก กทม. โดยมีพนักงานสอบสวนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ร่วมสอบปากคำ เพื่อคัดแยกกลุ่มที่เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ และกลุ่มที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ออกจากกัน เนื่องจากประสบการณ์การช่วยเหลือคนไทยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กัมพูชาพบว่ากว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ต้องหาไม่ใช่เหยื่อ ส่วนด้านสุขอนามัยนั้น จะมีแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขดูแลให้

ตท.ลั่นช่วยทุกคนกลับบ้าน

วันเดียวกัน กลุ่มตัวแทนครอบครัวของคนไทยที่ติดอยู่ในสงครามเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา จำนวน 8 คน เดินทางมาที่สถานสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ยื่นหนังสือขอให้จีนเปิดรับเหยื่อการค้ามนุษษย์และผู้ลี้ภัยไทยในเมืองเล่าก์ก่ายเดินทางผ่านทางชายแดนประเทศจีน-เมียนมา เพื่อลี้ภัยจากสงครามโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสียและช่วยให้คนไทยได้มีโอกาสกลับบ้าน

นอกจากนี้ กลุ่มตัวแทนครอบครัวของคนไทยดังกล่าวยังได้เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ขอความเมตตาเร่งรัดการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์และผู้ลี้ภัยชาวไทยในเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา เข้าสู่ประเทศจีนเพื่อเดินทางกลับอย่างปลอดภัย

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงว่า กต.ได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มเกิดการสู้รบในพื้นที่ โดยเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนของข้อมูล เพราะเป็นสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมาและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ บางเหตุการณ์เป็นการสู้รบกันเองของชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้ กต.ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนไทยอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์ไม่ง่ายและไม่สามารถออกจากพื้นที่ระหว่างทางเพื่อส่งตัวมายังชายแดนได้ทันที พบว่าบางชาติที่มาถึงชายแดนแล้ว แต่ไม่สามารถออกมาได้ต้องกลับเข้าไปก็มี จึงขอให้วางใจว่าทางการไทยพยายามทำอย่างเต็มที่

 “กลุ่มที่หนีออกมาจากเล่าก์ก่ายตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ต่อสู้  41 คนที่ไปยังว้าแดงผ่านทางการเมียนมาได้ช่วยส่งมาอยู่ที่เมืองเชียงตุง ตอนแรกทางการไทยคาดหวังว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายมายังท่าขี้เหล็กได้เพื่อข้ามฝั่งมาประเทศไทย แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถกลับมาได้เนื่องจากติดขั้นตอนการคัดกรองจากฝ่ายเมียนมา อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่รัฐบาลเมียนมาปราบปรามกลุ่มนายทุน กลุ่มอาชญากรรม กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ จึงมีกระบวนการคัดกรองตามกฎหมายที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม คนไทยทั้ง 41 คนถูกส่งมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ขอให้ใจเย็นและรอเวลาที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ และกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนไทยเดินทางกลับประเทศโดยเร็ว” นางกาญจนากล่าว

โฆษก กต.กล่าวว่า จากสถิติหรือกลุ่มที่เคยอยู่ในค่ายทหารและย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลภายใต้ความดูแลของทางการเมียนมา 165 คน กลุ่มที่นายจ้างปล่อยมาแล้ว พำนักอยู่ในที่ปลอดภัย อยู่ระหว่างรอส่งไปรวมตัวกับคนไทยกลุ่มใหญ่ 89 คน ทั้งสองกลุ่มนี้รวมแล้ว 254 คน โดยทางการย่างกุ้งได้ตรวจสอบสัญชาติและออกเอกสารเดินทางฉุกเฉินให้แล้ว พร้อมเดินทางกลับประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นห่วงคือกลุ่มที่นายจ้างยังไม่ปล่อยตัวและอยู่ในพื้นที่ทำงาน คาดว่าเหลืออยู่ 40-50 คน ซึ่งจะติดตามช่วยเหลือต่อไป ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเอ็มมานูเอลในพื้นที่ พร้อมจัดงบประมาณเรื่องอาหารให้กับคนไทยด้วย

 “เข้าใจความร้อนใจของคนที่อยู่ในพื้นที่ แต่ขอให้เข้าใจว่านี่เป็นสถานการณ์สู้รบ เป็นสถานการณ์พิเศษ ยืนยันว่าทำทุกวิถีทางช่วยเหลือคนไทย ขอให้รอ เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วทางการไทยจะคัดกรองอีกครั้งว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จริงหรือไม่ หรือเป็นกลุ่มที่เข้าไปอย่างเต็มใจ ไปอยู่ในกระบวนการคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะตรวจสอบได้ว่าเป็นคนที่สมัครใจหรือเป็นเหยื่อที่ถูกบังคับไป” โฆษก กต.กล่าว

นางกาญจนายังกล่าวถึงสถานการณ์ในอิสราเอลว่า ล่าสุดตัวเลขผลกระทบต่อคนไทยผู้เสียชีวิตที่มีการยืนยัน 39 ราย โดยได้ส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับไทยครบถ้วนแล้ว ผู้บาดเจ็บอยู่ระหว่างรักษาพยาบาล 3 ราย ผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน 25 ราย

 “มีเงื่อนไขที่เป็นเงื่อนไขค่อนข้างใหญ่ คือ ทางฝ่ายฮามาสบอกว่าจะปล่อยตัวประกันถ้าอิสราเอลหยุดยิง ฝ่ายอิสราเอลก็บอกว่าไม่หยุด จนกว่าจะปล่อยตัวประกันทั้งหมด ก็เป็นเงื่อนไขไปมาอย่างนั้น แต่ถ้าติดตามสถานการณ์ จะพบว่าสถานการณ์จำกัดอยู่บริเวณรอบฉนวนกาซา และมีการยิงโต้ตอบระหว่างฮิซบุลเลาะห์กับอิสราเอลอยู่บ้าง เราก็รอดูอยู่ว่าจะมีการปล่อยตัวประกันเมื่อไหร่”นางกาญจนากล่าว

ถามว่าการเดินทางเยือนประเทศไทยของ รมช.การต่างประเทศอิหร่าน จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับอิสราเอลหรือไม่ นางกาญจนากล่าวว่า ไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับอิสราเอล ประเทศไทยค่อนข้างเป็นประเทศที่ทุกคนรู้ว่าเรามีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไร โดยจะมีการหารือเรื่องการช่วยเหลือตัวประกัน เพราะเราคงไม่ละทิ้งโอกาสที่จะช่วยเหลือทุกฝ่าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง