ภูมิธรรมโอดดิจิทัล! อย่ามุ่งเอาชนะยํ้ากระตุ้นศก.ไม่ใช่แจก/28พ.ย.ฟุ้งแก้ปัญหาหนี้

"ภูมิธรรม" ยัน "ดิจิทัลวอลเล็ต" ยังทำตามแผน ย้ำเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่แจกเงินทั่วไป วอนอย่าเอาชนะคะคาน ขอช่วยกันให้ประชาชนอยู่ดีกินดี นายกฯ ลุยสางปัญหาหนี้นอกระบบวาระแห่งชาติ แถลง 28 พ.ย. แก้อย่างบูรณาการ ซูเปอร์โพลเตือนเพื่อไทยตายแน่ ชี้แจกหมื่นผ่าน "แอปเป๋าตัง" เป้าหมายโจรไซเบอร์ โจมตีเกษตรกรเหยื่อหลัก นักวิชาการหวั่นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีหน้าทะลุ 91%

ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 26  พฤศจิกายน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 ล้านบาท ให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ความจริงรู้กันอยู่แล้ว และกระบวนการทำเอกสาร คงจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ ถ้าสำเร็จก็จะเป็นเรื่องที่ดี ยืนยันทำตามแผน แต่ต้องอยู่กับความเป็นจริง ซึ่งหากพิจารณาได้โดยเร็วจะเข้าสู่ไทม์ไลน์ที่วางไว้ได้เร็ว อย่างไรก็ตามความล่าช้าโครงการดังกล่าว เป็นเพราะรัฐบาลนี้รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย แต่อยากทำความเข้าใจกับผู้ที่วิจารณ์ว่าโครงการนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ไม่ใช่การแจกเงินทั่วไป

เมื่อถามว่า มีความมั่นใจหรือไม่ว่า พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว จะผ่าน 3 ด่านสำคัญ ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร และศาลรัฐธรรมนูญ หากมีการยื่นร้อง นายภูมิธรรม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และจะทำให้อนาคตเศรษฐกิจไทยเมื่อถูกกระตุ้นแล้วดีขึ้น กลายเป็นทางออกให้ประชาชน เพิ่มการอยู่ดีกินดี และมีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น ขณะที่ความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ แต่อยากให้คำนึงรอบด้าน ไม่ใช่คำนึงถึงความรู้ที่ตนเองมีเพียงอย่างเดียว หรือเพียงเอาชนะคะคานกัน เพื่อชิงเป็นที่หนึ่งในดวงใจของประชาชน ส่วนตัวไม่อยากเห็นแบบนั้น อยากให้ช่วยกันทำงาน และประชาชนได้ประโยชน์ ถือเป็นผลงานของทุกคนร่วมกัน

นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการแก้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเตรียมแถลงเรื่องหนี้นอกระบบในวันอังคารที่ 28 พ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ   ส่วนหนี้ในระบบ แถลงอีกครั้งในวันที่ 12 ธ.ค. ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากนายกฯ ได้แถลงให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ และบูรณาการทำงานร่วมกัน เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนจะเกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

นอกจากกระทรวงการคลัง ที่ได้ดำเนินการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเต็มที่ เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้กับประชาชนรายย่อย ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแล้ว ยังมีการบูรณาการหลายหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง โดยกระทรวงมหาดไทยเปิดรับลงทะเบียนช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป 

 “นายกฯ ย้ำเสมอว่า รัฐบาลนี้ทำงานอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา และเข้าใจความลำบากของพี่น้องประชาชนในการลดค่าใช้จ่าย จึงมั่นใจว่าการแก้ไขปัญหานี้จะเกิดขึ้นโดยเร็ว อีกทั้งจากการได้ลงพื้นที่สอบถามประชาชน ก็เห็นด้วยและสนับสนุนการแก้หนี้ทั้งระบบ ประชาชนจะได้ไม่ต้องไปจ่ายดอกเบี้ยที่แพงเกิน และทำให้อยู่ดีกินดี” นางรัดเกล้า ระบุ

วิกฤตหนี้กดทับศก.ปีหน้า

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุด หนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับจีดีพีในไตรมาสสองทรงตัวอยู่ที่ระดับ 86.3% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 80 ของจีดีพี เป็นระดับที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น แม้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีทรงตัว อันเป็นผลจากจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกับหนี้ครัวเรือน แต่ยอดหนี้คงค้างยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้หนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 15.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 แสนล้านบาทจากไตรมาสแรกที่มีอยู่ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 15.19 ล้านล้านบาท

เมื่อนำมาคำนวณ พบว่า หนี้เฉลี่ยรายบุคคลอยู่ที่ 231,818 บาทต่อคน หนี้ครัวเรือนของชาวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 546,428 แสนบาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบประมาณ 59-60% หนี้นอกระบบ 39-40% ชาวไทยในวัยทำงานอายุไม่เกิน 35 ปี มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 25,000-27,000 บาท ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยแต่ละเดือนเกือบเท่ากับรายได้จึงไม่มีเงินออม เมื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินมากกว่ารายจ่ายปรกติ จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอ ประเทศไทยจึงมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ขณะเดียวกัน คนไทยมีหนี้สาธารณะที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ยคนละ 168,430 บาท จะเห็นได้ว่าชาวไทยมีภาระหนี้สินส่วนครัวเรือนรวมหนี้สาธารณะอยู่ที่คนละ 400,248 บาท ฉะนั้นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 5-6% เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจมีรายได้สูงขึ้น และ ต้องสร้างกลไกให้เกิดการกระจายรายได้มายังคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง   

นายอนุสรณ์กล่าวว่า มาตรการพักหนี้ที่ทำกันมาเกือบทุกรัฐบาลทำได้เพียงแค่บรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้สินครัวเรือน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานแห่งการเป็นหนี้  นอกจากนี้ หากดำเนินการอย่างไม่รัดกุมและใช้มาตรการแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เกิดจริยวิบัติในระบบการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ และจะสะสมความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตระบบสถาบันการเงินในอนาคตได้ มาตรการแก้ไขหนี้สินนั้นต้องกระจายรายได้และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรม สร้างโอกาสการทำงานด้วยรายได้สูงให้กับประชาชน ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยความรู้และนวัตกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีราคาและมูลค่าสูงขึ้น การปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายของสถาบันการเงิน ผ่อนกฎเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้เสียหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับธนาคาร ลดหย่อนภาษีการขายหรือโอนทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน อาจมีความจำเป็นในระยะต่อไป

อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ในระดับต่ำกว่า 3% ขยายตัวประมาณ 2.5-2.6% จะเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการเงินของภาครัฐและภาคเอกชนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่ยังมีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสื่อเดิม กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจสปาและเสริมสวย กลุ่มค้าปลีกขนาดเล็กขนาดกลาง กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม กลุ่มธุรกิจสายการบินและการขนส่งคน กลุ่มธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าและงาน Event ต่างๆ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มกิจการโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน ฐานะทางการคลังของประเทศอ่อนแอลงเล็กน้อย โดยการก่อหนี้เพื่อดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในปีหน้าทะลุ 64% ได้ ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่งทะลุ 91% สูงที่สุดในรอบ 18 ปี ก่อนหน้านี้จะปรับลดลงบ้างจากมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ การปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนมากกว่าปรกติก่อนหน้านี้เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล รายได้หดตัว ว่างงาน หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ผ่อนชำระที่อยู่อาศัยมากกว่า 34% การมีนโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเองมีความจำเป็น

ซูเปอร์โพลชี้ พท.ตายแน่

นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) และนักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เสนอผลสำรวจความรู้สึกของประชาชน เรื่อง เป๋าตัง เกษตรกร กับภัยไซเบอร์ ชี้เป้าและทางออก กรณีศึกษาประชาชนทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 1,130 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-25 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเมื่อถามถึงการมีแอปพลิเคชันเป๋าตังในมือถือของเกษตรกร รอรับเงินแจกจากรัฐบาล 1 หมื่นบาท พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 มีแล้ว อย่างไรก็ตาม เกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26.1 ยังไม่มี และร้อยละ 1.6 ยังไม่รู้จัก ส่วนประสบการณ์ของเกษตรกรในช่วง 12 เดือน เคยถูกโจรไซเบอร์ล่อลวงออนไลน์หรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 เคย ในขณะที่ร้อยละ 33.8 ไม่เคย ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.4 เคยตกเป็นเหยื่อเสียสตางค์ให้พวกโจรไซเบอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ ในขณะที่ร้อยละ 65.7 ไม่เคย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.8 กังวลต่อโจรไซเบอร์ ออกอาละวาดหนัก หลอกลวงประชาชน ช่วงรัฐบาลแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง

นายนพดลกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยตายแน่ ถ้าไม่กรุยทางสร้างสภาพแวดล้อม ตั้งมาตรฐานกลางความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับมาตรการการแจกเงินและให้กับประชาชน เพราะจุดอ่อนแอที่สุดในโลกไซเบอร์คือผู้ใช้ปลายทาง และกลุ่มเกษตรกรคือกลุ่มประชาชนที่ถูกศึกษาในครั้งนี้ ที่ส่วนใหญ่เคยถูกหลอกลวงจากโจรไซเบอร์และรู้สึกกังวลต่อโจรไซเบอร์ที่จะออกอาละวาดหนักช่วงรัฐบาลแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เพราะขนาดยังไม่แจกเกษตรกรและประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่เคยถูกหลอกลวงแล้ว โดยโจรไซเบอร์ใช้ 7 ขั้นตอนในห่วงโซ่ของการเจาะระบบไซเบอร์ ได้แก่ การลาดตระเวนหากลุ่มเป้าหมาย การสร้างอาวุธโจมตีเจาะระบบเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย การส่งอาวุธโจมตีไซเบอร์ออกเข้าถึงมือประชาชนผู้ใช้ปลายทางอันเป็นจุดอ่อนที่สุดและเข้าสู่เครือข่ายไซเบอร์เป้าหมายเช่น ลิงก์ล่อเหยื่อ การเข้ายึดครองครอบครองเก็บเกี่ยวในเครือข่ายและยึดโยงข้ามเครือข่าย การเริ่มจารกรรมข้อมูลสำคัญผ่านมัลแวร์ เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัตรเครดิต ข้อมูลรายได้ เป็นต้น ต่อไปโจรไซเบอร์เข้าสั่งการและควบคุมเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้าถึงระบบทั้งหมด

 “ดังนั้น ทางออกต่อ 3 กลุ่ม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และตำรวจ ดังนี้ รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องมีอย่างน้อย 3 ส่วน กับ 2 รูปแบบของเทคโนโลยีจัดการข้อมูลละเอียดอ่อนของประชาชนในรูปแบบของการปฏิบัติการกับรูปแบบของคลังข้อมูลมั่นคงที่ใช้ในการแจกเงิน ได้แก่ ส่วนของแอปพลิเคชัน ส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนของการวิเคราะห์จัดการข้อมูลอัจฉริยะ โดยส่วนที่สามของการวิเคราะห์จัดการข้อมูลอัจฉริยะนี้ที่จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์และการโจมตีทางการเมือง แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยกว่าของเทคโนโลยีวันนี้คือ การใช้บล็อกเชน เพราะปลอดภัย โปร่งใส รู้ทุกรายละเอียดใครทำอะไรในทุกขั้นตอนของนโยบายการแจกเงิน และการนำข้อมูลในช่วงของการแจกเงินไปใช้ประโยชน์ต่อยอดเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ไม่งั้นพรรคเพื่อไทยตาย”  นายนพดลระบุ

แนะวิธีปราบโจรไซเบอร์

นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยตาย เพราะฝ่ายค้าน องค์กรอิสระต่างๆ และประชาชนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยคอยจ้องจะจัดการกับพรรคเพื่อไทยอยู่ กลุ่มแกนนำพรรคก้าวไกลและคนกลุ่มอื่นๆ กำลังตั้งท่าจะตรวจสอบความโปร่งใสการวิ่งการไหลของเส้นเงินว่าในวินาทีแรกของการใช้จ่ายเงิน จ่ายที่ไหน จ่ายอะไร ใครเป็นผู้ผลิต จ่ายไปเท่าไหร่ กลุ่มผู้ผลิตกลุ่มไหนได้ประโยชน์ กลุ่มทุนใหญ่หรือกลุ่มทุนวิสาหกิจชุมชนได้ประโยชน์ เหล่านี้เป็นต้น โดยการวิเคราะห์จัดการข้อมูลอัจฉริยะหรือการใช้งานในบล็อกเชนจะทำให้มีข้อมูลที่ตรวจสอบได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แก้ไขข้อมูลไม่ได้ หากมีความพยายามหรือมีการแก้ไขข้อมูลจะรู้ทั้งหมด

ในขณะที่ข้อเสนอต่อพรรคภูมิใจไทยคือ แจกแท็บเล็ตที่แตกต่างจากอดีตที่เคยแจก คือเปลี่ยนห้องเรียนดั้งเดิมเป็นห้องเรียนไซเบอร์ เอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปอยู่ในมือเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กเรียนและฝึกด้วยตนเอง กับเพื่อน และกับครู นำไปสู่การทำประโยชน์ให้ตัวเองและส่วนรวมในโลกความเป็นจริงได้ ภายใต้แนวคิด เยาวชนสร้างชาติ ที่ดีต่อทุกคนนำเด็กเยาวชนเหล่านี้มาเป็นตาสับปะรดดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์เสริมความมั่นคงของชาติและประชาชน

และข้อเสนอแนะต่อตำรวจคือ ตำรวจควรดำเนินการ 4 ส่วน ได้แก่ 1) พัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่มาตรฐานกลางแบบ NIST ของสหรัฐ ISO 27000, ISO 31000 และ GDPR ของยุโรป มาปรับประยุกต์พัฒนาคนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  2) พัฒนาเครื่องมือทางกฎหมายอำนวยการให้ตำรวจทำงานได้อย่างดีมีประสิทธิภาพก้าวล้ำ ก้าวทันขบวนการโจรไซเบอร์ 3) พัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยี รู้จุดเสี่ยงกลุ่มเสี่ยง สกัดตัดไฟได้ตั้งแต่ต้นลมก่อนขบวนการโจรไซเบอร์จะก่อเหตุ บนยุทธการเกลือจิ้มเกลือ ใน 7 ขั้นตอนห่วงโซ่เจาะระบบของขบวนการโจรไซเบอร์ และทำให้มากกว่าพวกขบวนการโจรไซเบอร์เหล่านั้นทำแบบถอนรากถอนโคน และ 4) เสริมสร้างระบบข่าวกรองภัยคุกคามให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้รู้เท่าทันและสกัดกั้นทุกความเคลื่อนไหวของขบวนการโจรไซเบอร์ได้สัมฤทธิ์ผล ดังนั้นเมื่อความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลเกิดทุกคนทุกกลุ่ม ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้