‘พีระพันธุ์’ล้มมติค่าไฟกกพ. ยืนยันทำมากกว่าพูดเอาเท่

ไทยโพสต์ ๐ รมว.พลังงานให้ความมั่นใจประชาชน ค่าไฟจะไม่แพงตามที่ กกพ.มีมติแน่นอน ยันแก้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การรื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานให้มั่นคง ด้าน "จุรินทร์" บอก "เศรษฐา" เรื่องค่าไฟร้องโอ๊ยอย่างเดียวไม่พอ ต้องเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เผยเปิดสมัยประชุมหน้ามีวาระสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาลหลายเรื่อง

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ขอให้มั่นใจค่าไฟจะไม่สูงอย่างที่เป็นข่าวครับ ผมเข้าใจถึงความกังวลใจของพี่น้องประชาชน ที่ถามกันมามากเรื่องราคาค่าไฟฟ้าภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลามาตรการลดค่าไฟฟ้าในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ว่าราคาอาจกระโดดสูงขึ้นถึงหน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดให้มีการสอบถามและมีมติไป

ผมเองก็รับไม่ได้ถ้าราคาค่าไฟจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างนั้น เพราะถึง กกพ.จะมีมติแบบนั้น แต่เราก็ต้องบริหารจัดการเอาราคาค่าไฟลงมาให้ได้ ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ  เร่งประสานทุกจุดล่วงหน้าด้วยวิธีการใหม่ๆ หลายรูปแบบแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับค่าไฟฟ้าที่มากเกินไป  จะพยายามทำให้ใกล้เคียงกับที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด

ผมขอให้ความมั่นใจว่ากระทรวงพลังงานยุคนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำงานล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้ราคาค่าไฟอยู่ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ซึ่งต้องใช้หลายกลไกพร้อมๆ กัน ภายใต้โครงสร้างในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้อำนาจกับฝ่ายนโยบายมากนัก แต่จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ การที่ กกพ.ประกาศให้ประชาชนเห็นชอบแนวทางในการปรับอัตราค่าไฟฟ้าก่อนหน้านี้ เป็นเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะต้องมีการประกาศเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดก่อนที่จะมีมติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นที่สุด จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป ทั้งหมดนี้จะเตรียมการให้เสร็จสิ้นและประกาศโดยเร็วที่สุด

ผมพูดเสมอว่านี่คือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนภายใต้โครงสร้างแบบปัจจุบัน แต่ที่กำลังดำเนินการแบบเข้มข้นที่สุด และทำงานกันไม่หยุดหย่อนทุกวัน คือการเร่งรวบรวมข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด ให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การรื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานให้มั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืนทั้งระบบ

ไม่ยากครับถ้าแค่พูดเอาเท่ ฟังดูดีทรงภูมิ คนทำแบบนั้นมีเยอะแล้ว แต่ไม่เคยเห็นรูปธรรม พูดไปเรื่อยๆ ใช่ครับ อะไรๆ ก็แก้โครงสร้าง แต่จะแก้อะไร แก้อย่างไรครับ ส่งผลกระทบแบบไหน จะทดแทนด้วยอะไร ทั้งระบบต้องสอดคล้องและไม่ก่อภาระเพิ่มให้กับประชาชน

ย้อนกลับไปดูกันนะครับ กฎหมายแต่ละฉบับ รูปแบบที่ใช้กันอยู่ ใช้มานานเท่าไร ปล่อยกันมาสี่สิบปีแล้วนะครับ

ผมเองหลังแถลงนโยบายมาสองเดือนเศษ ผมไม่พูดมาก แต่ลงมือทำ  อย่างน้อยผมก็พยายามลดภาระให้ประชาชน ไม่ว่าจะตามโครงสร้างแบบไหน ทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน ค่าไฟฟ้า ตรึงราคาค่าแก๊ส ผมดีใจที่พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เวลาเดียวกันก็เร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลชนิดลงลึกทุกขั้นทุกตอน ทำงานกันหลายคณะ ทำมากกว่าพูดลอยๆ ว่า “ปรับโครงสร้างๆๆ”

เมื่อข้อมูลครบถ้วนแล้ว ไม่นานครับ  เพราะผมและคณะจะร่างกฎหมายเอง เป็นชุดและครอบคลุมทั้งหมด ตอบได้ทุกคำถาม เพราะยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมศึกษา หาข้อมูล  ถกเถียง คิดวิเคราะห์ คืบหน้าไปมากแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะนี่คือการลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงแค่พูดแล้วเสกออกมา ขอให้มั่นใจ ผมเอาจริงแน่นอน"

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เรื่องการเตรียมปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย ของคณะกรรมการกำกับพลังงาน (กกพ). จนนายกฯ เศรษฐาร้องโอ๊ยว่า  ร้องโอ๊ยอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องทำให้ค่าไฟปรับลดลงมาตามที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนให้ได้ด้วย เพราะหลังจากปรับลดลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยแล้ว แนวโน้มก็ดูเหมือนจะปรับขึ้นไปเกิน 4 บาทอีกแล้วในปีหน้า ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งในเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ต้นทุนอุตสาหกรรมและต้นทุนการเกษตร ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาดูแล เพราะถือว่าเป็นนโยบายสำคัญและสัญญาที่ประกาศตอนหาเสียงไว้ ที่สำคัญหัวใจคือการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน จะไม่ทำไม่ได้ แม้จนถึงวันนี้จะยังไม่มีรูปธรรมอะไรปรากฏให้เห็นก็ตาม 

สำหรับการเปิดประชุมสภาในสมัยประชุมหน้าที่จะมาถึงในช่วงกลางเดือนธันวาคมนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า จะมีวาระสำคัญหลายวาระในการตรวจสอบรัฐบาล เช่น 1.พระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ของรัฐบาลหากเข้าสภามาได้ 2.พระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 67 3.เรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหากรัฐบาลเสนอเข้ามาจริง และ 4.ในเรื่องของการอภิปรายตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งจะเป็นในรูปของการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ หรือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น จะต้องมีการหารือกันในระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นกับพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเองเป็นสำคัญ และต้องถือว่ารัฐบาลนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐบาลที่มีเรื่องให้ต้องตรวจสอบติดตามมากมายภายในเวลาไม่นานที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่างบประมาณปี 67 กระทรวงมหาดไทยได้มากสุด ยอดพุ่งแซงกระทรวงศึกษาธิการว่า การตั้งข้อสังเกตวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำงบประมาณถือเป็นสิทธิ แต่ไม่ควรสร้างความสับสนหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด สารัตถะสำคัญของการจัดทำงบประมาณ ไม่ได้อยู่ที่ว่างบประมาณกระทรวงใดแซงกระทรวงใด จะได้รับจัดสรรงบประมาณมากหรือน้อย

เขากล่าวว่า หากมีกระบวนการจัดทำออกแบบงบประมาณที่เข้มแข็ง มีการกระจายเม็ดเงินที่ให้น้ำหนักตามภารกิจเป้าหมายประเทศแต่ละด้านได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่างบประมาณเหล่านั้นจะถูกใช้ด้วยความคุ้มค่าอย่างแท้จริง ประเทศชาติและประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ การจัดทำงบประมาณปี 67 มีการจัดทำเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างหลายส่วนด้วยกัน ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยมีการจัดความสัมพันธ์ท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนอำนาจ ที่ผ่านมามีการถ่ายโอนภารกิจ ถ่ายโอนบุคลากร แต่ไม่ยอมถ่ายโอนงบประมาณ รวมถึงการถ่ายโอน รพ.สต. หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่เป็นการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ ก็ต้องพิจารณาในส่วนของงบประมาณให้สอดรับกัน

               “ทราบว่าคุณศิริกัญญาเป็นฝ่ายค้าน แต่ต้องไม่รีบร้อนลนลานค้านไปหมดทุกเรื่อง ตอนจะตั้งรัฐบาลบอกว่า 10 เดือนรอได้ รัฐบาลเพิ่งทำงาน 2 เดือนกว่า จะรีบไปไหน ลองไปศึกษารายละเอียดงบประมาณ 67 ให้ครบถ้วนแล้วค่อยวิจารณ์ก็ไม่สาย” นายอนุสรณ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้