ร่อนคำถามสส.-สว. เช็กเสียงประชามติ

คณะกรรมการศึกษาทำประชามติ รธน.ส่งคำถามขอฟังความเห็นสมาชิกรัฐสภา เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย แก้รัฐธรรมนูญ-ขั้นตอนทำประชามติ พ่วงคำถาม ปชช.ตอนโหวตอยากได้ ส.ส.ร.แบบไหน อนุ กมธ.สภาฯ-นักวิชาการ-อดีต ส.ส.ร.หนุนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 

ความเคลื่อนไหวในการเตรียมทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามแนวทางของพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

 โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง  โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เปิดเผยว่า ได้ลงนามหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งคำถามประชามติในส่วนที่จะขอความเห็นของ สส. 500 คน และ สว. 250 คน ให้พิจารณาหลังจากที่รัฐสภาเปิดสมัยประชุมวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีข้อสรุปในวันที่ 21 ธ.ค.

นายนิกรกล่าวว่า คำถามที่ส่งไปยัง สส.และ สว.นั้น จะเป็นคำถามเชิงลึกมีมากกว่า 1 คำถาม อาทิ เห็นด้วยหรือไม่ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่, เห็นควรทำประชามติก่อนการดำเนินการใดๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญและมีผลต่อการสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว.ที่ต้องเห็นชอบด้วยเสียง 1 ใน 3 และคำถามเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ว่าจะเลือกตั้งทั้งหมดหรือเลือกตั้งผสมกับนักวิชาการ โดยการรับฟังความเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมดจะเสนอให้กรรมการชุดใหญ่พิจารณาในปลายเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในการทำประชามติถามประชาชน เบื้องต้นอาจมีคำถามพ่วงในประเด็นรูปแบบหรือที่มาของ ส.ส.ร.ด้วย

นายนิกรกล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอของการแก้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ พร้อมกับร่างแก้ไขมาตรา 13  จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์และเสียงที่มาลงคะแนน ได้เสนอให้ใช้เกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งเพียงชั้นเดียว คือเฉพาะผู้ออกมาใช้สิทธิ์ที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ส่วนผลการลงคะแนนให้ใช้เฉพาะเสียงข้างมาก อย่างไรก็ดีข้อสรุปเรื่องดังกล่าวต้องรอผลการศึกษาจากนายวุฒิสาร ตันไชย กรรมการประชามติอีกครั้้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำถามในการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกมี 5 ข้อ คือ 1.เห็นสมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมี 3 คำตอบคือ เห็นสมควรจัดทำทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 หมวด 2, จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ, ไม่เห็นสมควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2.ในกรณีที่เห็นว่าไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้เป็นรายมาตราหรือไม่

 3.ในกรณีเห็นควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาประการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งสามารถเลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ประกอบด้วย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายบริหารฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ, วิธีและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก และอื่นๆ

 4.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สมควรตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่, สมควรหรือไม่ที่ตั้ง ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด

และ 5.ในการจัดทำประชามติเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ทำก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อน และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

 วันเดียวกันนี้ มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาการจัดทำข้อเสนอระบบเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งใน กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน โดยได้เชิญนักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังความเห็น

โดยนายพริษฐ์กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแรกเรื่องที่มาของ ส.ส.ร. คือให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.ร.คือตัวแทนพื้นที่ ข้อเสนอที่สองคือ กำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากองค์ประกอบ 3  ส่วน ได้แก่ ตัวแทนพื้นที่ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน, ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ และตัวแทนกลุ่มเฉพาะ หรือกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งอาจใช้ระบบเลือกตั้ง เช่นรูปแบบการแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด เป็นต้น เบื้องต้นอนุ กมธ.เห็นว่าควรใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ในต่างจังหวัดจะให้จำนวน ส.ส.ร.ต่างกัน ตามจำนวนประชากร

นายพริษฐ์กล่าวว่า สำหรับรูปแบบเลือกตั้งตามที่อนุกมธ.พิจารณาคือทางเลือกแรก ซึ่งก็คือใช้การแบ่งเขตเลือกตั้ง ประชาชน 1 คน สามารถเลือก ส.ส.ร.ได้ 1 คน  หรือทางเลือกสอง ประชาชนสามารถโหวต ส.ส.ร.ได้ตามจำนวนที่เขตเลือกตั้งนั้นกำหนดให้มี ส.ส.ร. และทางเลือกสาม ให้ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ร.กี่คนก็ได้ตามที่ตนเองเห็นชอบหรือยอมรับ ส่วนผู้ชนะจะอยู่ในลำดับที่ 1-3  เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีบทกำหนดผลประโยชน์ทับซ้อน คือ ห้าม ส.ส.ร.ลงเลือกตั้งเป็น สส., สว., องค์กรอิสระในระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3-5 ปี

ขณะที่นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ และอดีต ส.ส.ร. ปี 2540 กล่าวโดยยกตัวอย่างและสนับสนุนการใช้รูปแบบที่มาของ  ส.ส.ร. ปี 2540 ที่มี 99 คน และมีกรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน ดังนั้นการกำหนดจำนวนดังกล่าวเหมาะสม ไม่เสียงบประมาณมาก และเป็นประชาธิปไตยที่ดี ทั้งนี้สำหรับที่มาของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ควรเป็นระบบซับซ้อนหรือพิสดาร เพราะคนไปใช้สิทธิ์จะสับสน  และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีคณะทำงาน 2 ชุดสำคัญ คือกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับแก้ไขตามการรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ควรเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็น โดยรัฐสภาไม่มีสิทธิ์บอกว่ารับหรือไม่ แต่ตนมองว่ากรณีที่รัฐสภาให้ความเห็น  และชี้ว่ามีข้อบกพร่องผิดพลาดใดจะเป็นประโยชน์ ส่วนการปรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร. จากนั้นจึงส่งไปออกเสียงประชามติ ส่วนกรอบเวลาทำรัฐธรรมมนูญใหม่เห็นว่า 240 วันเหมาะสม

ขณะที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสนับสนุนให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องจัดระบบเลือกตั้งให้เหมาะสม เช่นใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และคำนึงถึงสัดส่วนของประชากรในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนได้ร่วมเป็น ส.ส.ร. ขณะเดียวกันการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ควรมีเนื้อหาที่ยาวเกินไป

จากนั้นนายพริษฐ์กล่าวหลังประชุมว่า สิ่งที่คณะอนุกรรมการทำในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คือการพยายามออกแบบระบบเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะเรามีความเชื่อว่าการที่ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะทำให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และยังคงเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางสังคมได้เช่นกัน เมื่อได้รับฟังความเห็นเบื้องต้นแล้วจะมีการนำความเห็นทั้งหมดมาประมวลเพิ่มเติม และจะนำรายงานยื่นให้คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติของรัฐบาลไปพิจารณาต่อด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง