แนะส่งกฤษฎีกา‘กู้มาแจก’2ขยัก

"วิษณุ" แนะรัฐบาล ควรส่งเรื่องถามกฤษฎีกา 2 ขยัก ถามเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจฉุกเฉินเร่งด่วนรัฐบาลทำถูกหรือไม่ก่อน ค่อยส่งร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านตามทีหลัง เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ย้ำมาตรา 9 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รัฐจะไปจ่ายเงินเพื่อประชานิยมไม่ได้ ด้าน “จุลพันธ์”  เคาะ 1-2 วันลุยส่งคำถาม ลั่นถอยไม่ได้ เพราะไม่มีประตูถอย

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา  นายวิษณุ เครืองาม กรรมการกฤษฎีกา    กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมถามกฤษฎีกาถึงการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตผิดกฎหมายหรือไม่ ว่าเป็นเรื่องที่ตอนนี้ยังตอบไม่ถูก  และไม่มีใครตอบถูก เพราะรัฐบาลยังไม่ได้สอบถามมา จึงไม่ทราบว่าจะถามว่าอย่างไร ซึ่งหากส่งมาแล้วก็มี 2 ทางเลือก คือนำเข้าคณะทำงานที่ชำนาญด้านนี้ ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน เพราะเป็นคนร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งอาจจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่า และตนไม่ได้อยู่คณะนี้ หรืออาจจะนำเข้าคณะพิเศษ ดึงคนที่มีความชำนาญด้านต่างๆ เพราะมองแล้วไม่ใช่มิติด้านกฎหมายการเงินการคลังเพียงอย่างเดียว แต่มีกฎหมายเรื่องเงินคงคลัง กฎหมายวิธีการงบประมาณ และกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยความสามารถของกรรมการหลายคณะ

นายวิษณุเห็นว่า ทางออกที่ดีควรส่งคำถามเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกควรถามว่ารัฐบาลประสบปัญหาวิกฤต ประเทศชาติมีวิกฤต และรัฐบาลคิดว่าจะทำอย่างนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ถูกขอให้ช่วยแนะนำว่าควรทำอย่างไรถึงจะทำได้เพื่อช่วยแก้วิกฤต ซึ่งหากกฤษฎีกาตอบมาว่าออกร่างกฎหมายกู้เงินได้ ก็ค่อยส่งร่างกฎหมายไปรอบที่ 2 ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วส่งร่างกฎหมายกู้เงินไปเลย เพราะถ้าทำเช่นนี้ก็จะตรวจสอบได้เฉพาะว่าร่างกฎหมายนี้ถูกต้องตามกฎหมายวินัยการเงินกันคลังหรือไม่  และถ้อยคำถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะไม่ได้คำตอบที่ต้องการ และวันหนึ่งจะมีคดีไปถึงศาลอีกอยู่ดี ดังนั้นจึงควรถาม 2 รอบ  หากถามเร็วก็ตอบเร็ว เชื่อว่าทันเดือนพ.ค.2567 อย่างแน่นอน

ส่วนเงื่อนเวลาในการพิจารณานั้น  นายวิษณุกล่าวว่า หากส่งคำถามแรกไปขั้นตอนการตอบอาจจะช้ากว่าคำถามที่ 2 ซึ่งหากเร่งพิจารณาทุกวัน ก็น่าจะเสร็จเร็ว ส่วนคำถามที่ 2 นั้นจะสามารถตอบได้เร็วมาก เพราะมีการตอบคำถามแรกไปแล้ว เช่น ถ้ากฤษฎีกาตอบว่า ออกเป็นร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ก็แสดงว่าออกได้ เมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ไป ก็แค่ตรวจถ้อยคำ ส่วนเรื่องที่ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถือว่าผ่านขั้นตอนการพิจารณามาในคำถามแรกไปแล้ว ทั้งนี้ กฤษฎีกาชิน กับการตอบคำถามเหมือนศาล ที่ถามแค่ไหนก็ตอบแค่นั้น โดยหลายเรื่องที่ถามกฤษฎีกาไปว่าทำได้หรือไม่ กฤษฎีกาก็ตอบ แค่ว่าได้หรือไม่ได้ แต่ไม่เคยตอบว่าถ้าไม่ได้จะต้องทำอย่างไร   จะไม่มีการชี้ช่องให้ ดังนั้นการจะถามคำถามไปยังกฤษฎีกา ควรถามให้กว้าง

"ถ้าส่งร่างพระราชบัญญัติไปรอบเดียวเขาจะตีความในมิติที่แคบ ถามช้างก็ตอบช้าง ไม่ได้ตอบม้า แต่ถ้าถามไปว่าจะช้างหรือม้า หรือวัวหรือควายดี เขาก็จะได้ตอบให้"

เมื่อถามว่า ส่งร่าง พ.ร.บ.ไปถามเลย จะทำให้มีคดีความตามมาหรือไม่นั้น   นายวิษณุตอบว่า ไม่ทราบ เพราะที่ขู่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้องเสมอไป    ขณะนี้ต่างคนต่างไม่รู้ทั้งนั้นว่าในตอนนี้รัฐบาลจะสอบถามกฤษฎีกาว่าอย่างไร

สำหรับกรณีที่สอบถามว่าประเทศวิกฤตจะออกได้เป็นพระราชกำหนดเท่านั้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อันดับแรกคนที่จะตัดสินว่าประเทศวิกฤตหรือไม่คือรัฐบาล และการที่จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แบ่งได้เป็น 2 วรรค คือ วรรคแรก กรณีที่วิกฤตฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ให้ออกเป็นพระราชกำหนดได้ และอีกวรรคหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน ต้องเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งในประเด็นแรก เรื่องวิกฤตหรือไม่ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ วินิจฉัย แต่เรื่องนี้จำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมืองหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้

ดังนั้น หากเกิดวิกฤตไม่ถึงขนาดไฟลนก้น เพียงแต่เหมือนวิกฤตมาแล้วหลายเดือน และมีแนวโน้มว่าจะวิกฤตต่อ ก็ออกเป็น พ.ร.บ.ได้ แต่ปัญหามีอยู่ว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินมาช่วยประชาชนวิกฤตหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง  และเข้าใจว่าในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ บัญญัติไว้ว่า รัฐจะไปจ่ายเงินเพื่อประชานิยมไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะต้องตอบ และจะไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ไม่ตรงปกตอนที่หาเสียง พูดเอาไว้อย่างไร ก็เกี่ยวโยงกับกฎหมายเลือกตั้งด้วย

เมื่อถามย้ำว่า การออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ จะต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลรู้อยู่แล้วไม่ต้องบอกผ่านสื่อ เพราะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่ขอย้ำว่า ถ้าถามกฤษฎีกาไป 2 ท่อน 2 ตอนอย่างที่เสนอ  ก็คงไม่ต้องมาถามคำถามนี้ โดยเฉพาะต้องขมวดคำถามว่า ทั้งหมดถ้าทำไม่ได้ต้องทำอย่างไร เช่น ถ้าบอกว่าให้ใช้งบประมาณ ก็ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินก็ถือว่าเสี่ยง

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้เป็นทางลงของรัฐบาลหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นทางขึ้น จึงไม่ทราบว่าทางลงเป็นยังไง

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง    เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ขณะนี้ได้ตรวจร่างคำถามเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะสามารถส่งร่างคำถามดังกล่าวให้กฤษฎีกาพิจารณาได้ โดยหลักๆ ของคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายทั้งหมด เพราะกฤษฎีกาเองมีหน้าที่ตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาอย่างแน่นอน

 “คำถามส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพราะกฤษฎีกามีหน้าที่ตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ส่วนเรื่องว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤตนั้น เขาไม่ได้มีหน้าที่ตอบส่วนนี้ โดยหลังจากนี้ต้องรอคำตอบจากกฤษฎีกาว่าได้หรือไม่ได้ แต่ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าจะได้” นายจุลพันธ์กล่าว

รมช.การคลังกล่าวอีกว่า เบื้องต้นหากกฤษฎีกาตีความว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินสำหรับดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย   กระทรวงการคลังจะเดินหน้ายกร่างกฎหมายกู้เงินดังกล่าวทันที โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคาดว่าภายในช่วงต้นปี 2567 จะเข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต่อไป โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือน เม.ย. และโครงการจะเดินหน้าได้ตามกำหนดการ ในเดือน พ.ค.2567

 “ตอนนี้คงต้องมารอดูคำวินิจฉัย  เพราะเรื่องพวกนี้ต้องดำเนินการอยู่ในกรอบของกฎหมาย หากกฤษฎีกาบอกว่าไม่ได้ ก็ต้องกลับมาคิดกัน แต่ถ้ากฤษฎีกาผ่าน แต่มีคนร้องไปที่ศาล และศาลบอกว่าได้ หรือไม่ได้มันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถึงเวลานั้นรัฐบาลก็ต้องมานั่งดู มาคุยกัน มาดูเหตุผลประกอบว่าทำไมโครงการถึงไปไม่ได้ เช่น หากไม่ได้เพราะเขามองว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤต เราก็อยากให้ดูกันต่อไป โดยรัฐบาลจะทำเต็มที่ หากถึงจุดหนึ่งสถานการณ์มันชี้ชัดมากไปกว่านี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็อาจเหมาะสมสำหรับอนาคตข้างหน้าก็ได้ใครจะไปรู้ แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ถอยไม่ได้ เพราะเราไม่มีประตูถอย เราต้องดำเนินโครงการให้สำเร็จให้ได้” นายจุลพันธ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง