ห่วงศก.ปีหน้า เบรกขึ้นค่าไฟ ครองชีพอ่วม

กกร.คาดจีดีพีปี 67 โต 2.8-3.3% ภายใต้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเต็มวงเงิน 5 แสนล้าน จี้รัฐแตะเบรกขึ้นค่าไฟ ชี้ซ้ำเติมเศรษฐกิจยังเปราะบาง ดันราคาสินค้าพุ่ง 5-10% แนะเร่งตั้ง กรอ.พลังงานแก้ทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ประจำเดือน ธ.ค.2566 ได้พิจารณากรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของไทย โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คาดว่าจะเติบโต 2.8-3.3% การส่งออก 2-3% เงินเฟ้อ 1.7-2.2% จากปี 2566 ที่คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 2.5-3% ส่งออกลบ 2-ลบ 1% เงินเฟ้อ 1.3-1.7% อย่างไรก็ตาม จีดีพีปี 2567 เองก็มีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันจากการเผชิญทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย   (ธปท.) ที่เน้นวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง รวมถึงการกลับมาจัดชั้นคุณภาพหนี้ตามปกติหลังยุคโควิด-19 และยังท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ส่วนปัจจัยบวกปี 2567 ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน เพิ่มอีก 5 ล้านคนจากปี 2566

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2567 ที่ กกร.ประมาณการจีดีพีจะโต 2.8-3.3% ภายใต้นโยบายรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินดิจิทัลวอลเล็ต ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพี ราว 1-1.5%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่เร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุน ดูแลต้นทุนพลังงาน เตรียมพร้อมกำลังคนที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าเดือนม.ค.-เม.ย.67 ที่เห็นว่ารัฐควรจะตรึงไว้ที่เฉลี่ย 3.99 บาท/หน่วยไว้ก่อน และให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อปรับโครงสร้างให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ

 “ค่าไฟที่จะปรับขึ้นเป็น 4.68 บาท/หน่วย ถือว่าขึ้นสูง ยิ่งซ้ำเติมกับเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง เพราะ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกภาพรวมจะต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยราว 17% ต้นทุนที่เพิ่มจะทำให้ราคาสินค้าภาพรวมจะปรับขึ้น 5-10% ซึ่งก็จะไปกระทบค่าครองชีพประชาชน ส่วนที่รัฐระบุว่าหากขึ้นก็จะไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วยนั้น จะกระทบต้นทุนเพิ่ม 5% หนุนราคาสินค้าขยับเป็นราว 2-4%” นายเกรียงไกรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง