เฮ!ขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า เริ่ม1ม.ค.ทั้ง77จังหวัด/พีระพันธ์ุลุยเอฟที4.10บ.

กระทรวงแรงงานมาแต่ไก่โห่! เคาะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่ 77 จังหวัดขยับหมด อึ้ง! ภูเก็ตไม่ขอปรับ แค่ได้เพิ่มสูงสุดที่ 370 บาท ส่วน กทม.ขยับไปที่ 363 บาท 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่ำสุดที่ 330 บาท “พีระพันธุ์” พร้อมทำเป้า “เศรษฐา” หั่นค่าเอฟทีเหลือ 4.10 บาท/หน่วย ภูมิธรรมรับหากกฤษฎีกาท้วงติงที่มีผลกระทบกับดิจิทัลวอลเล็ตต้องมาทบทวนจะทำอย่างไร

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22  เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ซึ่งใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง โดยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะเป็นประธานการประชุม  แถลงภายหลังที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างค่าขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุดคือ จังหวัดภูเก็ต 370 บาท เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท และเฉลี่ย 77 จังหวัดค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่ 345 บาท โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค.2567

สำหรับรายละเอียดของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ประกอบด้วย 1.ค่าแรง 370 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต จากเดิม 354 บาท 2.ค่าแรง 363 บาทมี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร (จากเดิม 353 บาท), นครปฐม (353), นนทบุรี (353), ปทุมธานี (353), สมุทรปราการ (353) และสมุทรสาคร (353) 3.ค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท 2 จังหวัด คือ ชลบุรี (354) และระยอง (354) 4.ค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา (340) 5.ค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม (338) 6.ค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (343), สระบุรี (340), ฉะเชิงเทรา (345), ปราจีนบุรี (340), ขอนแก่น (340) และเชียงใหม่ (340)

7.ค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี (340) 8.ค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี (340), นครนายก (338) และหนองคาย (340) 9.ค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท 2 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ (340) และตราด (340) 10.ค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (335), ประจวบคีรีขันธ์ (335), สุราษฎร์ธานี (340), สงขลา (340), พังงา (340), จันทบุรี (338), สระแก้ว (335), นครพนม (335), มุกดาหาร (338), สกลนคร (338), บุรีรัมย์ (335), อุบลราชธานี (340), เชียงราย (332), ตาก (332)  และพิษณุโลก (335) 11.ค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี (335), ชุมพร (332) และสุรินทร์ (335) 12.ค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร (335), ลำพูน (332) และนครสวรรค์ (335) 13.ค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (332), บึงกาฬ (335), กาฬสินธุ์ (338), ร้อยเอ็ด (335) และเพชรบูรณ์ (335)

14.ค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท (335), สิงห์บุรี (332), พัทลุง (335), ชัยภูมิ (332) และอ่างทอง (335) 15.ค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท 16 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (332), สตูล (332), เลย (335), หนองบัวลำภู (332), อุดรธานี (340), มหาสารคาม (332), ศรีสะเกษ (332), อำนาจเจริญ (332), แม่ฮ่องสอน (332), ลำปาง (332), สุโขทัย (332), อุตรดิตถ์ (335), กำแพงเพชร (332), พิจิตร (332), อุทัยธานี (332) และราชบุรี (332) 16.ค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง (332), น่าน (328), พะเยา (335) และแพร่ (332) 17.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส (328), ปัตตานี (328) และยะลา (328)

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมยอมรับผลการประชุม เพราะก้าวก่ายไม่ได้ ถ้าเศรษฐกิจดีอย่างที่รัฐบาลคิดไว้ เชื่อว่าในปีหน้าจะได้เห็นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 400 บาทในหลายๆ จังหวัด หรือบางจังหวัดอาจทะลุ 400 บาทก็เป็นได้ แต่ยืนยันว่าจะขึ้นให้ทุกจังหวัดแน่นอน แม้มี 5 จังหวัดที่ไม่ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุด 354 บาท

“เขาอาจคิดว่าของเขามีค่าแรงสูงสุดถึง 354 บาท ซึ่งค่าแรง 354 บาทก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ภูเก็ต ยังมีระยองและชลบุรี แต่เขาก็ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ภูเก็ตสวนทางลงมา ซึ่งผมรับไม่ได้ ผมก็เรียนตรง ๆ กับสื่อนะครับว่าผมรับไม่ได้ในสิ่งที่ภูเก็ตนำเสนอว่าไม่ขอขึ้นค่าแรง” นายพิพัฒน์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าเรื่องค่าไฟฟ้านั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนภายหลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย.2567 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วยว่า กกพ.ก็ทำหน้าที่ปกติของเขาไป แต่ทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ตอนนี้เรากำลังทำงานอยู่ ซึ่งค่าไฟฟ้าจะไม่ขึ้นไปสูงขนาดนั้น แต่ปัจจัยสำคัญคือค่าแก๊สในตลาดโลกตอนนี้ขึ้นสูง เนื่องจากเป็นช่วงหน้าหนาว ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องปรับราคา ซึ่งความจริงไม่มีใครอยากปรับ แต่ต้องพิจารณาดูว่าการปรับนั้นทุกคนต้องอยู่ได้ เราพยายามปรับให้น้อยที่สุด สำหรับกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าน้อยที่ไม่เกิน 300 หน่วยก็จะได้ราคาเดิม

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ กกพ.แล้วหรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันไว้เบื้องต้นแล้ว ส่วนจะนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะไม่อยากนำเข้าทีละเรื่อง แต่จะเข้า ครม.ทีเดียวหลายเรื่องเลย และต้องเข้า ครม.ก่อนครบกำหนดเวลา

เมื่อถามว่า นายกฯ อยากให้ลดลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วยเป็นไปได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เป็นไปได้ แต่การปรับลดไม่ใช่บอกว่าจะลดเท่านั้นเท่านี้ เพราะมีปัจจัยและมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งการปรับลดค่าไฟไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานเดียวหรือปัจจัยเดียว แต่เราได้พยามวางเป้าหมายเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่เราวางไว้ หรือพยามทำให้ได้หรือให้ใกล้เคียงที่สุด

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง เป็นห่วงเรื่องค่าไฟฟ้า ที่ขณะนี้ตัวเลขค่าไฟที่ 4.20 บาทต่อหน่วย เป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ตัวเลขที่อยากได้คือตัวเลข 4.10 บาทต่อหน่วย โดยนายพีระพันธุ์ก็มีความเห็นที่สอดคล้องและได้ผลักดันนโยบายดูแลค่าไฟฟ้ามาโดยตลอด และเตรียมเสนอที่ประชุม ครม. ตรึงราคาค่าไฟฟ้า 3.99 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบาง และตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 423 บาท ต่อถัง 15  กิโลกรัม ซึ่งกลุ่มเปราะบาง คือผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 ยูนิตต่อเดือน ส่วนประชาชนกลุ่มอื่นๆ ไม่ต้องน้อยใจ​ เพราะจะได้รับการดูแลให้ไม่เกิน 4.20 บาท

วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ได้ส่งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ส่วนกรอบเวลาพิจารณานั้น งานทุกอย่างที่รัฐบาลทำในขณะนี้ เราก็อยากให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป ไม่ปล่อยให้เชื่องช้า แต่ก็ต้องอยู่ในดุลพินิจของกฤษฎีกาว่ามีข้อขัดข้อง หรือข้อที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดมากขึ้นแค่ไหน ถ้าไม่มีก็จบเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ในดุลพินิจของกฤษฎีกาอยู่แล้ว และทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา และรู้ว่าที่เราต้องทำเรื่องนี้ เพื่อแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าคิดว่าเป็นวิกฤตก็คงต้องรีบพิจารณา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงแม้กฤษฎีกาจะมีข้อท้วงติงอย่างไร รัฐบาลก็ยังเดินหน้าเรื่องนี้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายที่เราได้พูดกับประชาชนและแถลงต่อสภาแล้ว ดังนั้น จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ เราหวังว่าจะช่วยเป็นใบเบิกทางเริ่มต้นที่จะทำให้เศรษฐกิจบูมขึ้น และเดินต่อไปได้ ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือข้อห่วงใย ถ้าไม่ใช่สาระสำคัญก็ไม่มีปัญหา อาจปรับปรุงและเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าเป็นข้อท้วงติงที่จะมีผลกระทบกับโครงการ เราก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร

ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบเฝ้าระวังโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า มีการประชุมในทุกสัปดาห์ และวันนี้ก็มีการประชุม รวมทั้งขอเอกสารจากหน่วยงานราชการ และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง สำนักนโยบายหนี้สาธารณะ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาพูดคุย

 “จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์สาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องติดตามว่าจะมีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเรื่องที่ต้องติดตามคือเรื่องการใช้เงินว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และเมื่อได้รับเงินมาแล้วจะมีการดำเนินการในลักษณะอย่างไร เป็นเงินดิจิทัลหรือไม่ หรือจะจ่ายเป็นอย่างไร ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะการดำเนินการของรัฐบาลยังไม่สิ้นสุด จึงต้องรอติดตามเท่านั้น รวมกับการกำหนดประเด็นซักถาม” นายนิวัติไชยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง