เตรียมรวยถ้วนหน้า ‘เศรษฐา’ ขู่รื้อค่าแรง

กาญจนบุรี ๐ เตรียมรวยกันถ้วนหน้า! "เศรษฐา" โวยวาย จะยอมให้แรงงานไทยต่ำติดดินแบบนี้หรือ เทียบสิงคโปร์ เกาหลี   ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 1 พันบาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ สั่งรื้อปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ อัดนายจ้างกดค่าจ้าง ไม่พัฒนาตัวเอง 10 ปีแล้วขอคืนลูกจ้างบ้าง ไม่เชื่อย้ายฐานการผลิต เป็นแค่วาทกรรม

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการไตรภาคีมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท ว่า ค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้ขึ้นมานานมาก และขึ้นมาน้อยมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน โดยรัฐบาลพยายามทำหลายวิธีที่จะให้ลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร และอีกหลายอย่าง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ของประชาชน   รวมไปถึงการแก้ไขหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ รัฐบาลพยายามทำอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่เรื่องของการเพิ่มรายได้ก็สำคัญ โดยประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก บางจังหวัดขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับ ให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค   ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า เดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนในไทย ไปเปิดตลาดค้าขายใหม่ในต่างประเทศ ที่ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาทางการค้า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ต้องขอวิงวอนและขออ้อนวอนว่า พี่น้องแรงงาน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น อีกทางหนึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกทาง แต่การขึ้นรายได้ผู้ประกอบการต้องพยายามทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง แล้วนายจ้างไม่ได้พัฒนากิจการของตัวเองเลย ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันนายจ้างก็ได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน และอีกหลายอย่างตามมาตรการของรัฐบาล

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เราจะยอมให้แรงงานประชาชนคนไทยต่ำติดดินแบบนี้หรือ ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยเช่น สิงคโปร์หรือเกาหลี สิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ เมื่อรัฐบาลพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการก็ควรที่จะทำไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำเพียงฝ่ายเดียวเป็นไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องค่าแรงจะมีโอกาสทบทวนใหม่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องขอทบทวนใหม่ เดี๋ยวจะต้องไปพิจารณาดูถึงแนวทางความเหมาะสม เพราะเพิ่งทราบข่าวเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่การสั่งการ แต่เป็นการพูดคุยร่วมกัน เราต้องพูดถึงองค์รวมของเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจไม่ใช่แค่ขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีการเพิ่มรายได้เปิดตลาดที่มากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว ถึงเวลาต้องคืนให้กับคนที่เป็นกำลังสำคัญในภาคผลิตด้วยหรือเปล่า พอพ้นจากวันหยุดก็จะมีการเรียกคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกคนมีความกังวลหมด ขอให้คิดถึงใจเขาใจเรา

เมื่อถามย้ำว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับการปรับขึ้นมานาน แต่ขณะนี้ปรับเพียงแค่ 2 บาท จะมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้คุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้พูดคุยกันเรื่องนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาท่องเที่ยว การเปิดด่านสะเดา มีการลงทุนสร้างสะพานไปยังมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงขึ้นแค่ 2-3 บาท ยอมรับว่าตนไม่สบายใจ ถึงอยากใช้เวทีนี้สื่อสารไปถึง และขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่อย่างนั้นจะติดกับรายได้ต่ำ ต้องคุยทั้งกับไตรภาคี และใน ครม. เพราะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรมควรจะอยู่ที่ตัวเลขเท่าไหร่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ โดยจะต้องฟังเหตุผลของเขาเหมือนกัน อย่างที่บอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า ผู้ประกอบการจะอ้างเรื่องผลประกอบการไม่ดีเพราะสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลก็พยายามช่วยอยู่ โดยเฉพาะการลดค่าไฟที่ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์ จากที่ 4.50 บาทต่อหน่วย ลดมาเหลือ 3.99 ดังนั้นขอให้คืนกับประชาชนบ้าง ขอย้ำว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่แล้ว

ซักว่าหากมีการปรับเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อาจจะมีปัญหาเรื่องของการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทย นายเศรษฐาตอบว่า ไม่มีหรอกครับ อันนี้เป็นวาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้น จาก 300 เป็น 400 บาท ไม่มีหรอก รัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษี มีระบบสาธารณสุขที่ดี สถานศึกษาก็ดี โครงสร้างพื้นฐานและสนามบินก็ดี ท่าเรือน้ำลึกก็มี ที่ตนเดินทางไปต่างประเทศก็ได้เซ็น MOU กับหลายบริษัทใหญ่ๆ ทั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ถ้าผู้ประกอบการไม่ช่วยกันก็ไปลำบาก

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ถึง 400 บาท ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องดูตามความเหมาะสม ในจังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง ต้องดูความเหมาะสม ขอย้ำว่าสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้นายจ้างสามารถส่งสินค้าออกไปได้ และยังอำนวยความสะดวกเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ

ถามว่า นายกฯ จะสื่อสารไปยังผู้ใช้แรงงานอย่างไรเพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว นายกฯ ตอบว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ขอให้ผู้ใช้แรงงานดูการกระทำว่าตนมีความจริงใจขนาดไหนอย่างไร เราให้ความสำคัญสูงสุด การที่ตนไปพูดที่หอการค้าไทย ขอให้ฟังดูว่าเขาดีใจหรือไม่ที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมฯ รัฐบาลพยายามสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและเข้ามาอยู่ในประเทศไทยง่ายและปลอดภัยขึ้น ทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจ

"วันนี้ผมไม่ได้มาหาเสียง เพราะการหาเสียงจบไปแล้ว แต่เราพูดถึงความเป็นจริงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องได้รับการดูแลควบคู่กันไปด้วย ขออ้อนวอนไปถึงนายจ้างให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานด้วย"

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. จะพิจารณาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องดูว่ามีความจำเป็นว่าจะเสนอเข้ามาหรือไม่ ถ้าเสนอเข้ามาตนไม่ยินยอม ไม่เห็นด้วยแน่นอน ตนเชื่อว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำเราดูที่ความเหมาะสม เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ หลายประเทศค่าแรงขั้นต่ำเขามากกว่านี้ วันนี้เราชนะสิงคโปร์ในแง่ดึงดูดนักลงทุน บริษัทใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center เป็นนิมิตหมายอันดีว่าประเทศเรามีศักยภาพสูง แต่ทำไมจึงไปกดผู้ใช้แรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศ

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีรู้สึกเหมือนมีความฉุนเฉียวที่พูดถึงเรื่องนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับฉุน เพราะการที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องดูแลประชาชน 60 ล้านคน ไม่ใช่ดูแลแค่มาเอาคะแนนเสียงกับผู้ใช้แรงงานอย่างเดียว แต่นายจ้างและผู้ประกอบการก็ไปรับฟังความเห็นตลอด และพร้อมจะช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว

ต่อมานายเศรษฐาทวีตข้อความผ่าน X ระบุว่า “ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้ ต้องขอหารือร่วมกันกับคณะกรรมการไตรภาคีถึงความเหมาะสมให้กับภาคแรงงาน เราต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด ผมไม่ได้จะมาขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้จากการเปิดตลาดที่มากขึ้น

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์กันไปบ้างแล้ว ก็ขอความเห็นใจให้กับกำลังสำคัญอย่างแรงงานในภาคการผลิตด้วย เพราะสุดท้ายหากภาคการผลิตมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจภาพรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วยครับ”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่พลาด! ชัยธวัชนำลูกพรรคส้มร่วมเดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติ

'ชัยธวัช' นำ สส.ก้าวไกลร่วมเดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติ บอกเสียดายรัฐบาลควรให้ความชัดเจน เรื่องสิทธิ-สวัสดิภาพ-ค่าแรง หวังทุกฝ่ายร่วมสนับสนุน 'ร่างกฏหมายแรงงาน' ผ่านสภา