ถกบอร์ดไตรภาคี ปรับสูตร‘ค่าแรง’ ตัดจีดีพีโควิด19!

“ไพโรจน์” นัดประชุมบอร์ดค่าจ้างใหม่ 20 ธ.ค.นี้ เตรียมชงทบทวนสูตรใหม่ เล็งตัดจีดีพีช่วงโควิดออกเพื่อให้ค่าแรงพุ่ง นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่เห็นด้วยขึ้นเงินเดือนข้าราชการหน้าใหม่ 35% หนุนปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท รวม 17 กลุ่มจังหวัดของบอร์ดค่าจ้างออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้บอร์ดค่าจ้างกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่ก่อนเสนอต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ว่าได้นัดกรรมการไตรภาคีประชุมในช่วงเช้าวันที่ 20 ธ.ค.นี้ที่กระทรวงแรงงาน และตั้งเป้าเสนอ ครม.อนุมัติภายในเดือนนี้ เพื่อให้เป็นของขวัญในปีใหม่ 2567

เมื่อถามว่า จะมีการรื้อโครงสร้างปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท ที่เป็นมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.หรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่า ต้องถามความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยกรรมการฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการ

ถามต่อว่า หากที่ประชุมมีความเห็นว่าให้ทบทวนจะมีปรับสูตรคำนวณอย่างไร นายไพโรจน์กล่าวว่า ได้ประสานให้คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ทำสูตร ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ด้วย

มีรายงานแจ้งว่า ในการปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นั้น มีแนวโน้มว่าจะตัดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ออก เพราะหากคำนวณตามสูตรค่าจ้างเดิมที่พิจารณาตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 5 ปี ซึ่งรวมช่วงโควิด-19 ระบาดด้วย จะกลายเป็นตัวถ่วงในการพิจารณา

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่องขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการขึ้นเงินเดือนข้าราชการกลุ่มแรกเข้า ภายใน 2 ปี พบว่า 48.93% ระบุว่าเหมาะสมดีแล้ว, 28.63% ระบุว่าควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกกลุ่มไม่ว่าจะแรกเข้าหรือรับราชการมานานแล้ว, 13.66% ไม่ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการตอนนี้, 3.74% ขึ้นน้อยเกินไป, 3.51% ขึ้นมากเกินไป และ 1.53% ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ  

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท พบว่า 35.11% ระบุควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเพิ่มขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด, 28.40% ขึ้นน้อยเกินไป, 28.32% เหมาะสมดีแล้ว, 6.18% ไม่ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้, 0.84% ขึ้นมากเกินไป และ 1.15% ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ      

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้นปี เพราะหากไม่ปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม ไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การปรับเพิ่มค่าจ้างจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อภายในระบบเศรษฐกิจ และมีแรงกดดันเงินเฟ้อน้อยมาก เพราะไม่ได้ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกันระบบไตรภาคีต้องปรับค่าจ้างของแรงงานนอกระบบให้เป็นค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตด้วย

“ค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเท่าไหร่ก็อยู่ที่การเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคี ส่วนการปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจด้วย แต่ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยให้สูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งบวนการแรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานเคยเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง