ยิ่งลักษณ์รอดอาญาย้ายถวิล

“ยิ่งลักษณ์” เฮ ศาลฎีกานักการเมืองลงมติเสียงข้างมากยกฟ้องไร้ความผิดทางอาญาและให้ถอนหมายจับ ปมโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ชี้ไม่มีเจตนาพิเศษสร้างความเสียหายเอื้อประโยชน์เครือญาติ ระบุคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครองผูกพันแค่เรื่องพ้นเก้าอี้-คำสั่งมิชอบเท่านั้น

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 11/2565 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งโยกย้ายและให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติราชการพลเรือนฯ มาตรา 57 วรรคสอง  เป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้งโยกย้ายหรือการให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 129/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการ ป.ป.ช. 2561 มาตรา 192 โดยให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลย ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.211/2560และจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.2/2565 ของศาลนี้

โดยวันนี้มีตัวเเทน อสส., นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลย เดินทางมาศาล

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า แม้มูลกรณีคดีนี้จะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2559 แล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่เพียงว่าผู้ถูกร้องใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกฯ เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่เท่านั้น และผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงผูกพันศาลนี้ให้รับฟังได้เพียงว่า ความเป็นรัฐมนตรีของจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้ว ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็มีประเด็นเพียงว่า คำสั่งสำนักนายกฯ ที่สั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และประกาศสำนักนายกฯ ที่สั่งให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นพิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรมนูญและศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย และยังไม่มีศาลใดวินิจฉัยมาก่อนจึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ

การที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของจำเลย นอกจากต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาและเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 129/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาตรา 192 ด้วย  จึงไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมาผูกพันให้ศาลนี้

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำความผิดตามฟ้อง  นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว เจ้าพนักงานผู้นั้นยังต้องมีเจตนาพิเศษในขณะกระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือต้องมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  โดยพยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณโยกย้ายตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ แตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป ประกอบกับจำเลยมิได้มีสาเหตุขัดแย้งอันใดกับนายถวิลเป็นการส่วนตัว อันจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งนายถวิลแต่อย่างใด การใช้ดุลพินิจของจำเลยในการโยกย้ายนายถวิลจึงเป็นไปตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยต้องการให้พลตำรวจเอก พ. ญาติของจำเลยขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น เมื่อทางไต่สวนไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยัน กรณีจำเป็นต้องพิจารณาจากพยานแวดล้อมที่ปรากฏในการไต่สวน ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่อาจบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายได้มีการคบคิดวางแผนกันล่วงหน้าในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยมาตั้งแต่แรก

ส่วนการที่จำเลยได้มีคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ ใช้เวลาเพียง 4 วัน ก็ได้ความว่าการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดให้ทันต่อการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นบ่อย จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ และเมื่อจำเลยได้ออกคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ ภายหลัง ครม.มีมติอนุมัติแล้ว ก็เป็นกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายในการโอนย้ายข้าราชการระดับสูง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมารับฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของพลตำรวจเอก พ. จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง เเละให้ถอนหมายจับคดีนี้

ภายหลังฟังคำพิพากษาตัวเเทน อสส.กล่าวก่อนเดินทางกลับสั้นๆ ว่าต้องคัดคำพิพากษาเสนอไปยัง อสส.พิจารณาต่อไป เนื่องจากเรื่องการอุทธรณ์ อสส.เป็นผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียว

ขณะที่นายนรวิชญ์กล่าวว่า ทีมทนายขอบคุณศาลเเละองค์คณะทุกท่านที่มีคำพิพากษาออกมาที่ยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ คำพิพากษาวันนี้คือยกฟ้องอดีตนายกฯ สาระสำคัญก็คือการเป็นนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทั้งหมด การโยกย้ายก็เป็นไปตามกฎหมายข้าราชการพลเรือนมาตรา 57 ก็สามารถกระทำได้ และประเด็นที่สองก็คือเรื่องของการกระทำผิดทางอาญาต้องอาศัยความเจตนาเป็นสำคัญ มาตรา 59 ซึ่งเรื่องนี้ในทางไต่สวนหรือไม่ปรากฏว่าไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่ท่านมีเจตนาพิเศษในการที่จะกันแกล้งนายถวิล

 “เรื่องของคำพิพากษาของศาลปกครอง ในเรื่องของการปกครองก็เป็นการพิจารณาในเรื่องของที่พูดถึงการโอนย้ายชอบไม่ชอบเป็นเรื่องของขั้นตอนเท่านั้น ส่วนศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเรื่องของการปฏิบัติความผิดทางอาญา จึงไม่อาจนำคำพิพากษาของทั้ง 2 ศาลมาว่าจำเลยกระทำผิดทางอาญา”

นายวิญญัติกล่าวถึงเรื่องการอุทธรณ์คดีว่า ต้องเป็นมติของศาลว่าจะรับอุทธรณ์โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่ามีสาระสำคัญมีประเด็นในการที่จะอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าศาลไม่รับอุทธรณ์หรืออุทธรณ์ไม่ได้ คำวินิจฉัยคำพิพากษาว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิดถือเป็นสิ้นสุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง