ฉายาสภาลวงละคร วันนอมินีชี้แค่คนกลาง‘พิธา’ดาวดับ‘สว.’แตกป.รอRetire

สื่อรัฐสภาตั้งฉายาสภาปี 66 "สภาลวงละคร" จากเพื่อไทยชิงไหวชิงพริบตั้งรัฐบาล "วุฒิสภา" ได้ "แตก ป.รอ Retire" ล้อเมื่อปี 65 "ตรา ป." หลังพี่น้อง 2 ป.แยกทางกัน ส่วน "ปธ.สภาฯ"  ฉายา (วัน) นอ-มินี "ปธ.วุฒิฯ" แจ๋วหลบ จบแล้ว "พิธา" คว้าดาวดับ โดยศาลฯ  สอยหุ้นสื่อจนสภาไม่ได้เหยียบทำเนียบไม่ได้เข้า วาทะแห่งปี "เพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับก้าวไกลจัดตั้ง รบ." ยังไร้คนดีศรีสภาต่อเนื่องปีที่ 5 "วันนอร์" ไม่โกรธปัดเป็นนอมินีเพื่อไทย มองฉายา “สภาลวงละคร” ป่วนเป็นเรื่องปกติ

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภาตลอดปี 2566  ซึ่งการตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง สส.และ สว. เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ สส.และ สว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ สส.และ สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ สส.และ สว.ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป ซึ่งมีความเห็นร่วมกัน ดังนี้

1.“สภาผู้แทนราษฎร" ได้รับฉายา "สภาลวงละคร" สภาที่มีการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นฝ่ายเดียว จับมือต่อสู้กันมาก่อน จนถึงขั้นฉีกเอ็มโอยู ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเล่นตามบทของพรรคอันดับรอง จับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบ เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง

2."วุฒิสภา" ได้รับฉายา "แตก ป. รอ Retire" ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 65 คือ ตรา ป. ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประวิตร แบบไม่มีแตกแถว แต่ในปีนี้ทั้ง 2 ป. ได้แยกทางกัน ซึ่งในการลงมติเลือกนายรัฐมนตรีที่ผ่านมา สว.ฝ่าย ป.ประยุทธ์ ได้ลงมติยอมสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับ ป.ประวิตร ที่งดออกเสียง และ สว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือน พ.ค.67 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ สว.

3.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ได้รับฉายา "(วัน) นอ-มินี" เนื่องจากตำแหน่งนี้เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก่อนที่จะเห็นร่วมกันว่า ใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทยจึงได้เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติในขณะนั้น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ ดังนั้น นายวันมูหะมัดนอร์จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ ทั้งที่จำนวนเสียง สส.ที่มีก็ไม่ได้เพียงพอต่อการชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่พรรคพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย

4.นายพรเพชร วิชิตชลชัย “ประธานวุฒิสภา” ได้รับฉายา "แจ๋วหลบ จบแล้ว" คำว่าแจ๋ว เปรียบเสมือนบทบาทของผู้รับใช้ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นายพรเพชรถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน บทบาทของนายพรเพชรในฐานะประธานวุฒิสภา พยายามหลบแรงปะทะ ไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากนัก รวมถึงไม่ออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในการทำหน้าที่สว. 6 ปีในเดือน พ.ค.67

5.นายชัยธวัช ตุลาธน "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเห็นควรว่าควรงดตั้งฉายา  เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

6."ดาวเด่น ’66" ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเห็นว่า "ไม่มีผู้ใดเหมาะสม" และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว 7."ดาวดับ 66" ได้แก่ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจนกระทั่งรู้ผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน สส.มากที่สุด เดินสายขอบคุณประชาชน พบหน่วยงานต่างๆ ประหนึ่งว่าเป็นนายรัฐมนตรีแล้ว พลอยให้บรรดาด้อมส้มเรียกนายกฯ พิธา ทำให้เกิดกระแสพิธาฟีเวอร์ แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบฯ ไม่ได้เข้า เนื่องจากศาลรับธรรมนูญสั่งแขวน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากคดีหุ้นไอทีวีที่ยังลูกผีลูกคน จึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว

ไร้คนดีศรีสภาเป็นปีที่ 5

8.“วาทะแห่งปี 66" ได้แก่ วาทะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ที่ผ่านมาว่า "เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับสอง มีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับสองสามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมือง และรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิดเพราะว่ายิ่งเราจับมือกันยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้" 

9..“เหตุการณ์แห่งปี” คือ “เลือกนายกรัฐมนตรี" ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 13 ก.ค.66 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ คือนายพิธา แต่ปรากฏว่าได้รับความเห็นชอบไม่ถึง 376 เสียง ทำให้มีการโหวตเลือกผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.66 แต่ปรากฏว่าในที่ประชุมรัฐสภากลับมีการถกเถียงกันถึงข้อบังคับการประชุมว่าจะสามารถเสนอรายชื่อนายพิธาซ้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่าญัตติที่เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเปิดลงมติตามข้อตามข้อบังคับที่ 151 ปรากฏว่าเสียงกึ่งหนึ่งเห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้

จากนั้นช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ค.66 นายชัยธวัช ตุลาธน ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ 1 เดือนต่อมา นพ.ชลน่าน ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียงกับ 11 พรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรครัฐบาลเดิม ในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุให้วันที่ 22 ส.ค.66 นายวันมูหะมัดนอร์ได้นัดประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยเสียง 482 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

10."คู่กัดแห่งปี" ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาลงมติเห็นว่าควรงดตั้งฉายาคู่กัดแห่งปี เนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงตรงกับช่วงปิดสมัยประชุม จึงยังไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน มีเพียงการปะทะคารมในบางเหตุการณ์เท่านั้น และ 11."คนดีศรีสภา 66" สื่อมวลชนประจำรัฐสภามีความเห็นร่วมกันว่ายังไม่มี สส.หรือ สว.คนใดเหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงฉายา “(วัน) นอ-มินี” ว่า เป็นเรื่องหยอกล้อกันธรรมดา ก็ต้องยอมรับ สภาก็ทํางานเต็มที่เพื่อประชาชน ซึ่งตนมาทําหน้าที่เป็นคนกลางเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ใช่คนของพรรคใด เป็นไปตามกลไกของสภา เพราะประเทศจะขาดรัฐบาลไม่ได้ ยืนยันตนว่าไม่ใช่นอมินี

ถามว่า เป็นการสะท้อนว่ามีการตัดสินเข้าข้างพรรคเพื่อไทยหลายครั้งหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่มีความจริง ตอนแรกตนก็สนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เพราะได้เสียงข้างมาก แต่เมื่อถึงสุดทางไปไม่ได้ จำเป็นต้องมีการปรับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามเสียงของสภา เมื่อถามว่า โกรธหรือไม่ที่สื่อตั้งฉายานี้ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่โกรธ เป็นเรื่องธรรมดา

สภาลวงละครป่วนปกติ

ถามถึง "สภาลวงละคร" ฉายาของสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สภาเป็นเรื่องของที่ประชุมและถกเถียงกันเพื่อหาข้อยุติ สภาทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ แต่สภาของประเทศไทยอาจดีกว่าหลายแห่งด้วยซํ้าไป อย่าไปกัววลว่าสภาป่วนหรือไม่ เป็นปรากฏการณ์ของสภาทั่วโลก ถ้ามันเรียบร้อยไม่มีถกเถียงก็ไม่ใช่สภา ตนมองเป็นเรื่องสนุกสนานในช่วงเทศกาลปีใหม่

บอกว่าปีนี้ไม่มีตําแหน่ง "ดาวสภา"  นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า คิดว่า “ดาวสภา” จะมีตอนอภิรายไม่ไว้วางใจ หวังว่าดาวจะเกิดตอนนั้น ดาวไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน

ขณะที่นายพรเพชรกล่าวถึงฉายา “แจ๋วหลบ จบแล้ว” ว่า ไม่มีอะไร ไม่ร้ายแรง ขอบคุณที่ตรงไปตรงมา ที่ผ่านมา 5 ปี ก็มีความสุขได้ทำงานหลายอย่าง รู้สึกพอใจ และไม่มีปัญหาขัดแย้งอะไรกับพรรคการเมืองต่างๆ รู้สึกพอใจ แต่บางทีก็อ่อนเบามากไปในการห้ามเขาทะเลาะกัน แต่สมัยประชุมนี้ยังไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น เพราะยังไม่มีประชุมร่วมกันเท่าไหร่ ซึ่งต้องรอดูต่อไปในการประชุมร่วมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงที่ยังไม่มีประชุมร่วมรัฐสภา เพราะอาจทำให้บางเรื่องขาดไป เช่น ข้อตกลงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่วุฒิสภาเก่ง และมีความถนัด ซึ่งต้องยอมรับว่าวุฒิสภาในปัจจุบันมีภารกิจหน้าที่ที่แตกต่างจากวุฒิสภาในอดีต เพราะมีบทบาททัดเทียม สส.แล้ว

ถามว่า ฉายา “แจ๋วหลบ จบแล้ว” เพราะเหมือนว่าประธานวุฒิสภาเลี่ยงให้สัมภาษณ์ และลดบทบาทจากที่ผ่านมา และตลอดเวลาที่ผ่านมามักถูกมองว่าทำงานให้กับ คสช. นายพรเพชรกล่าวว่า อย่าไปตีความแบบนั้น ทุกคนมีภาระหน้าที่ คสช.เมื่อก่อนเป็นหนึ่งเดียวกันหมดเป็นแม่น้ำ 5 สาย เราก็ต้องมีบทบาทแบบนั้น ดังนั้น บทบาทในอดีตจึงไม่เหมือนตอนนี้ ตอนนี้เป็นวุฒิสภาตนก็รู้ว่าบทบาทเป็นอย่างไร ส่วนที่บอกว่าจบแล้วนั้น ก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร หางานให้ทำหน่อย

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่วุฒิสภาได้รับฉายาว่า “แตก ป.รอ Retire” ประธานวุฒิสภากล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น บางทีที่ สว.บางคนหลีกเลี่ยงไป เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตอบคำถาม พูดง่ายๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องโดนด่า เขาบอกว่าจะครบวาระอยู่แล้วอย่ามายุ่งเลย และบทบาทวุฒิสภาที่ถูกมองว่าลดลงก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องแพ้ชนะของพรรคการเมือง เพราะไม่มีใครรู้ว่าพรรคไหนจะชนะเลือกตั้ง ต้องดูกันต่อไปการเมืองก็เป็นแบบนี้ เช่น พอพรรคก้าวไกลชนะก็ต้องได้เป็นรัฐบาล แต่ว่าทำไมไม่ได้เป็น การเมืองก็เป็นลักษณะนี้ 

 “ผมไม่ได้รอรีไทร์ ทำหน้าที่ทุกวัน วันนี้พรุ่งนี้ก็ต้องอยู่ แต่การทำงานของผมต้องทำด้วยความเรียบร้อย เพราะเราดูกฎหมายเป็นสำคัญ การให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นผลงานที่เรียบๆ” ประธานวุฒิสภากล่าว

ซักว่าเวลาที่เหลือหลังจากนี้ก่อน สว.จะหมดวาระในเดือน พ.ค.67 จะทำงานเข้มข้นขึ้นหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า จะทำงานจนพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ไม่ใช่ว่าอยากเป็น หรือไม่ยอมเลิก  แต่การทำหน้าที่มีหลายสิ่งหลายอย่างในบทเฉพาะกาลซึ่งผ่านไปแล้ว บางทีเราเป็นประธานก็พูดอะไรมากไม่ได้ นี่คือความลำบากของประธาน เพราะเป็นสมาชิกธรรมดาพูดได้ ถ้าตนรีไทร์ไปแล้วก็อาจจะพูดสิ่งที่คิด ดังนั้นตอนนี้ต้องทำงานต่อไปไม่มีวันหยุด

วันเดียวกัน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงฉายารัฐบาล "แกงส้มผลักรวม" ว่า ถ้าคุณได้รับฉายาควรต้องดีใจ เพราะถ้าไม่ได้รับจะเป็น No One แต่ถ้าได้รับฉายาคือเป็น Someone คือมีตัวตน ซึ่งเป็นบรรยากาศของการหยิกแกมหยอก สะท้อนมุมมองทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องซีเรียส อย่างฉายาที่รัฐบาลได้รับปีนี้มองว่าอยู่ในบรรยากาศฮันนีมูนพีเรียด เบาๆ น่ารักๆ แต่ว่าสะท้อนมุมทางการเมืองไม่มีอะไรที่ซีเรียส

"สมัยที่ผมเป็น รมว.คมนาคมและเลขาธิการพรรคชาติพัฒนา ได้รับฉายาว่า สุวัจน์หอกข้างแคร่ ซึ่งตอนนั้นมี 50 กว่าเสียงเป็นตัวแปรในรัฐบาล ขยับอะไรก็จะสร้างความหวั่นไหว และอีกครั้งได้รับฉายา สุวัจน์ 25 ชั่วโมง ขณะที่เป็นรองนายกฯ เนื่องจากทำงานทั้งวันประชุมแล้วแถลงข่าวเลย จึงอาจแถลงข่าวมากไปนักข่าวบอกว่าเดี๋ยวก็แถลง   เดี๋ยวก็แถลง" นายสุวัจน์กล่าว

 ด้าน พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. กล่าวถึงฉายานายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม "พลิกทินสู่ดาว" ว่า มองว่า ดี คำว่าดีของตนคือมีหลายอย่างที่ตนบอกท่าน รมว.กลาโหม ก็ตอบว่าตนไม่เคยรู้มาก่อน นั่นหมายความว่ากองทัพต้องปรับปรุงเรื่องการประชาสัมพันธ์ และผมก็รู้ว่าท่านก็พยายามช่วยกองทัพ เพราะหลายเรื่องที่เราบอกท่านไป ท่านก็พูดเสมอว่าหลายเรื่องกองทัพทำอยู่แล้ว

"บางครั้งสิ่งที่ทหารทราบ และไปนำเสนอประชาชน เป็นสิ่งที่ทหารคิดว่าคนอื่นไม่รู้ หรืออยากให้คนอื่นรู้ แต่เมื่อมีพลเรือนเข้ามา เมื่อเขาไม่รู้จริงๆ เขาก็นำสิ่งที่รู้จากทหารไปพูดต่อ ซึ่งก็จะตรงเป้ามากกว่า" ผบ.ทบ.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โยนรบ.ปลดล็อกม.112 กมธ.นิรโทษฯชง3ข้อเสนอทะลุฟ้า/ก.ก.ย้ำสิทธิประกันตัว

"กลุ่มทะลุฟ้า" บุกทำเนียบฯ-รัฐสภา ร้องรัฐบาลตรวจสาเหตุ  "บุ้ง" เสียชีวิตให้โปร่งใส จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง