เร่งชงสูตรลด‘ค่าไฟฟ้า’ ฟันเปรี้ยงลงอีก11.5สต.

"โฆษกรัฐมนตรีพลังงาน"    ฟุ้งรื้อโครงสร้างพลังงานให้เอกชนใช้ก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยตามราคาเฉลี่ย

ทำค่าไฟฟ้าถูกลง 11.5 สตางค์แบบถาวร "เอกชน" โต้ "พีระพันธุ์" อย่าหลงประเด็น ลดค่าไฟ-น้ำมันแล้วราคาสินค้าจะลด รับยังแบกต้นทุนแพงอยู่ ชง 3 แนวทางแก้ปัญหาสำคัญ

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ในช่วงปลายปี 2566 รัฐบาลมีการประกาศลดค่าพลังงานอยู่เป็นระยะ หลายคนอาจไม่รู้ว่ารัฐมนตรีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้มีการขยับรื้อโครงสร้างพลังงานด้านก๊าซธรรมชาติครั้งสำคัญไปเรียบร้อย โดยการแก้ไขการจัดสรรก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาต้นทุนผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศถูกลงในระยะยาว

 “หลายท่านอาจไม่ทราบ เดิมทีบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิการใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ได้ถูกนำมาหารเฉลี่ยกับราคาก๊าซ LNG นำเข้าจากต่างประเทศ และแหล่งอื่นๆ หรือที่เรียกว่าพูลก๊าซ (Pool Gas) ที่เป็นฐานต้นทุนที่ผลิตไฟฟ้าคนทั้งประเทศ ซึ่งมีราคาสูงกว่า" นายพงศ์พลกล่าว

โฆษกรัฐมนตรีพลังงานระบุว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ทางรัฐมนตรีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีการสั่งการแก้ไข โดยโยกก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทย ในส่วนที่นำไปใช้ผลิตปิโตรเคมีหากำไรเพื่อบริษัท เพื่อนำไปสำรองให้กับการผลิต LPG ประชาชนใช้หุงต้มดำรงชีวิตในราคาถูกที่สุด (ประมาณ 219 บาท) ส่วนการผลิตปิโตรเคมีให้ได้ใช้ในราคาของพูลก๊าซ (ประมาณ 362 บาท) ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เราเล็งเห็นว่าเป็นธรรม และควรปรับมาเนิ่นนานแล้ว ผลลัพธ์ในการเฉลี่ยราคาแบบใหม่ทำให้ราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนลดลงได้ (ประมาณ 11.5 สตางค์/หน่วย) ในระยะยาว

"นี่แค่รื้อแรก ยังมีรื้อ-ลด-ปลด-สร้าง โครงสร้างพลังงาน ส่งเสริมพลังงานสะอาดอีกหลายสูบ เพื่อให้พลังงานมั่นคง, เป็นธรรม อย่างยั่งยืน โปรดติดตาม" โฆษกรัฐมนตรีพลังงานระบุ

ขณะที่ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการ "กรุงเทพธุรกิจ Biz Insight" ถึงกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2566 ระบุ  ลดค่าไฟ/ลดดีเซลมาหลายเดือนแล้วและต่ออีก 4 เดือน สภาอุตสาหกรรมมีมาตรการในการลดราคาสินค้าให้ประชาชนอย่างไรบ้างนั้น

นายอิศเรศกล่าวว่า ส่วนตัวต้องให้กำลังใจถึงเจตนาดีของ รมว.พลังงาน สะท้อนให้เห็นว่าเข้ามาดำรงตำแหน่งไม่ถึง 4 เดือน ก็มีมาตรการในการตรึงราคาดีเซล ไฟฟ้า โดยสิ่งที่สะท้อนภาพชัดเจนคือ ต้องยอมรับว่าเจตนาของทางรัฐบาลมีเจตนาดีที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตัวเองอยากจะนำเสนอมี 3 หัวข้อคือ 1.ราคาสินค้าควบคุมกับต้นทุนค่าไฟฟ้าและพลังงานของปี 2565 กับต้นปี 2567 จึงอยากชี้แจงว่าราคาพลังงานขณะนี้หากเทียบกับราคาพลังงานเมื่อปี 2565 ราคาค่าไฟฟ้า 1 ปี มี 3 งวด โดยปี 2564 ค่าไฟฟ้าประมาณ 3.78 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ปี 2565 มีการปรับขึ้นตลอดทั้งปี แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการลดราคาจากที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศแล้วก็ตาม ตอนนี้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 แม้ กกพ.จะประกาศออกมาที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างหาเงินสนับสนุนและยืนยันว่าจะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย แต่เรามองว่าไม่ควรเกิน 4.10 บาทต่อหน่วย เพราะราคานำเข้า LNG วันนี้ลดลงแล้ว

"ที่ผ่านมาเอกชนต้องขาดทุนในเรื่องของกำไร เพราะต้นทุนผลิตด้านพลังงานเพิ่มขึ้น ต่อให้กลับมาที่ 4 บาทต้นๆ ก็ยังแพงกว่าปี 2565 อยู่ดี ดังนั้นอย่าทำให้ประชาชนหลงประเด็น แม้เจตนาจะดีแต่กลไกมีหลายเรื่อง ต้นทุนวัตถุดิบสินค้าบางอย่างก็ขึ้นเพราะนำเข้าจากต่างประเทศ" นายอิศเรศกล่าว

นอกจากนี้ 2.บทบาทภาครัฐระดับนโยบายกับภาคเอกชนที่มีกลไกตลาดแข่งขันเสรีเป็นตัวขับเคลื่อน จะเห็นได้ว่า ราคานำเข้า LNG ปัจจุบันเหลือที่ 11.5 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู ถือว่าลงมาจากเดือน ธ.ค.2566 ที่ราคา 14 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู เพราะประเทศใหญ่ๆ อย่าง อเมริกา จีน และยุโรป ไม่มีความต้องการใช้สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจไม่ดี แต่ทำไมค่าไฟงวดที่ 1/2567 ยังสูงในเมื่อพลังงานราคาลดลงเกือบใกล้กับก่อนหน้าที่เจอวิกฤต

"เมื่อช่วงวิกฤตยังผ่านมาได้ดี หากจะเดินหน้าต่อ ขอให้ดูความเป็นจริงว่าจะเดินไปข้างหน้า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ 65% ในการผลิตไฟฟ้า รัฐบาลเพิ่งจะแตกปัญหาได้จากสิ่งที่หลายภาคส่วนสะท้อนออกไป จึงอยากให้เปิดใจหารือร่วมกันผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) พลังงานเอกชนขับเคลื่อนโดยกลไกเสรี อยู่ดีๆ จะไปขึ้นราคาสินค้าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะอยู่ในตลาดแห่งการแข่งขันเสรี มีคู่แข่ง ประชาชนจะเป็นผู้เลือก ส.อ.ท.ผลักดันนโยบาย ESG โดยการทำธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ดังนั้น ภาคนโยบายต้องเข้าใจโจทย์หากแก้ที่ต้นตอจริงๆ วันนี้ความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุนผูกขาดและอีกหลายเรื่องจะต้องแก้ไข" รองประธาน ส.อ.ท.กล่าว

ส่วน 3.ทำไมต้องมาลุ้นค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน หากรัฐบาลแก้ไขตรงจุด ก็ไม่ต้องมีการทะเลาะกัน เอกชนพร้อมให้ความร่วมมือ เอกชนมี กรอ.พาณิชย์  กรอ.เกษตร ได้มีการหารือและร่วมกันในการแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืน

"เห็นอาหารสตรีทฟู้ดทุกวันนี้ขึ้นทีละ 5-10 บาท ขึ้นแล้วไม่ลง สะท้อนภาพค่าครองชีพของประชาชน ถ้าราคาค่าไฟต่ำกว่าปี 2565 ราคาสินค้าก็อาจจะลดลงตาม เพราะผู้ประกอบการจะแข่งขันกัน ในการลดราคาสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้เกิน 4 บาทต่อหน่วย ยังถือว่าสูง จึงคิดว่าท่านอย่าหลงประเด็น ควรเอาข้อมูลมาคุยกัน ประชาชนเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ ทุกคนลงเรือลำเดียวกัน จึงคิดว่าอย่าเอาปัญหามาโต้แย้งผ่านโซเชียลมีเดีย" นายอิศเรศกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง