พิธากัดฟันไม่อ่อนข้อเรื่องชั้น14

ผมกลับมาแล้วครับ! "พิธา" ลั่นกลางสภา ชง 5 ข้อเสนอวางกรอบทำงาน กมธ.วิสามัญฯ ลุยแก้ปัญหาขยะ แย้มเม.ย.เปิดอภิปรายรัฐบาลฉายภาพบริหารงานล้มเหลว ปัดไม่เคยออมมือปม "ทักษิณ" มองถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม "อนุทิน" เผยวงดินเนอร์พรรคร่วมไม่มีคุยปรับ ครม. ปัดตอบดึง "อุ๊งอิ๊ง" เสริมทัพ "เด็ก พท." ดาหน้าถล่ม "ชวน" แขวะชั้น 14 "จตุพร" คาดหลัง 18 ก.พ. การเมืองส่อเดือด เดือน พ.ค.ถึงขั้นเปลี่ยนแปลง

ที่รัฐสภา วันที่ 26 ม.ค. เวลา 10.00  น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงจุดยืนในภาพรวมการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลว่า  ในทุกสัปดาห์เราจะมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คอยเก็บข้อมูลและลงพื้นที่ไปรับฟังพี่น้องประชาชน มีทีมงานเบื้องหลังก็มีการเรียบเรียงข้อมูลให้เห็นว่าภาพที่รัฐบาลทำมีอะไรบ้าง และมีอะไรบ้างที่รัฐบาลควรจะต้องปรับปรุงตามกลไกของรัฐสภา ตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไปน่าจะพอเห็นภาพ

"ถ้ามีเหตุการณ์สำคัญที่เราคิดว่ารอไม่ได้ถึงเดือนเม.ย. ก็จะใช้กลไกสภา อาทิ การตั้งกระทู้ รวมไปถึงการทำงานกับสื่อมวลชนในการแถลงข่าว เพื่อให้ทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินเป็นประโยชน์ และเป็นธรรมต่อประชาชน" นายพิธากล่าว

ถามว่า ได้คิดฉากทัศน์ภายหลังศาลธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีนโยบายหาเสียง 112 ไว้แล้วใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า มีการคิดไว้แล้ว ถึงแม้จะเป็นฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด พรรค ก.ก.ก็ยังบริหารจัดการได้ ไม่ได้ทำให้ภาพรวมใหญ่ทั้งปีต้องสะดุดลง ตนคิดว่าสามารถบริหารจัดการได้ แต่ยังลงรายละเอียดไม่ได้

นายพิธากล่าวว่า ในการอภิปรายรัฐบาลเราเน้นไปที่ 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1.ความล้มเหลวในการบริหาร 2.การประพฤติมิชอบ คอร์รัปชัน และ 3.การทำงานช้า น้อย หรือสายเกินไป ไม่ตรงกับความท้าทายของศักยภาพประเทศ ตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้พูด แต่ทีมงานหลังบ้านกำลังทำข้อมูลเพิ่มขึ้นทุกอาทิตย์ ในส่วน กมธ.ก็สามารถเรียกข้อมูลเพิ่มเติมได้ สัญญากับพี่น้องประชาชนว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง

ถามว่า ฝ่ายค้านของพรรค ก.ก.จะไม่เหมือนกับฝ่ายค้านชุดที่ผ่านๆ มาใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เราอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การทำกฎหมายที่ก้าวหน้าเป็นหน้าที่ของเรา แน่นอนว่าต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาเต็มที่อยู่แล้ว แต่การตรวจสอบยังไม่พอ ต้องมีการแนะนำ ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ในกระบวนการ

"เมื่อเราเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง เราจะได้ไม่มีข้อติดขัดต่างๆ ทำงานได้เลย เป็นการเรียนรู้ไปในตัว" นายพิธากล่าว

ถามว่ามีกระแสวิจารณ์การตรวจสอบของพรรค ก.ก.ค่อนข้างที่จะอ่อนแอลง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล  โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องของนายทักษิณ  ชินวัตร อดีตรัฐมนตรี นายพิธากล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เรายังทำงานอย่างตรงไปตรงมา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้ตั้งกระทู้ถามสดไปในสภาแล้ว

"ผมมองเป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่แค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ต้องการให้กลายเป็นเรื่องของความสะใจ แต่จะให้ความสำคัญกับระบบที่ควรจะมีความเสมอภาคของคนที่โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมถึงคนที่โดนลี้ภัยไปต่างประเทศ ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองและไม่สามารถกลับบ้านได้ ควรที่จะได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนและโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐของอภิสิทธิ์ชน เราพยายามทำงานตรงนี้ให้ไปข้างหน้าให้ได้" นายพิธากล่าว

พิธาชี้ทักษิณโดนกลั่นแกล้ง

ปธ.ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก.ก. มองถึงสถานการณ์ของนายทักษิณว่า ต้องยอมรับนายทักษิณถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองด้วยความสองมาตรฐานเช่นเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าความสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ สามารถไปล้มล้างความสามารถความสองมาตรฐานในอดีต เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งก่อนและหลัง แต่ยังไงก็ยังติดตามอยู่ตลอดจะใช้กลไกทั้งนอกและในสภาในการทำงานตรงนี้

ถามว่า การนำพรรค ก.ก.ไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ สว.จะเปิดอภิปราย มาตรา 153 โดยประเด็นเนื้อหารวมถึงนายทักษิณ ปธ.ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก.ก.กล่าวว่า อายุการทำงานไม่เท่ากัน ประสิทธิภาพของการทำงานไม่ได้หมายความว่าใครทำก่อนทำหลัง แต่ประสิทธิภาพการทำงานคือใครทำงานตรงเป้าหมายมากกว่ากัน หากวุฒิสภาเห็นว่าเวลาที่เหมาะสมคือตอนนี้ ก็อาจจะทำก่อนพรรคก้าวไกล ก็เป็นสิทธิ์ของวุฒิสภา

 “ที่น่าแปลกก็คือประชุมกันมาหลายปี ก็เพิ่งเห็นครั้งแรก ไม่เคยมีการตรวจสอบรัฐบาลมาก่อน ก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกลับไป แต่ของเราอภิปรายไม่ไว้วางใจมาทุกปี และไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวัง เราทำอย่างเต็มที่ไม่มีการออมมือ” ปธ.ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก.ก.กล่าว

ซักว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนเม.ย. จะมีเรื่องนายทักษิณหรือไม่  นายพิธากล่าวว่า มีหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องรอดูสถานการณ์ไหนที่จะมาเรียงลำดับความสำคัญ

ต่อมาเวลา 10.40 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของ น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ และญัตติทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับ ให้พิจารณาไปในคราวเดียวกัน

ในเวลา 11.50 น. นายพิธาลุกขึ้นอภิปราย ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานที่ประชุม โดยก่อนที่จะอภิปรายเข้าเรื่องขยะ นายพิธากล่าวว่า “ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือนที่ผมไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาแห่งนี้ แม้กระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ แต่โชคดีที่ยังมีบัตรสำรองให้มีโอกาสได้มาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ผมได้ลงไปในช่วงที่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างนี้เกี่ยวกับญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่เมืองท่องเที่ยว”

นายพิธากล่าวว่า สถานที่สองสถานที่เมื่อเดือน ต.ค.66 ที่ตนได้มีโอกาสลงไปในระหว่างถูกหยุดปฏิบติบัติหน้าที่ คือบ่อขยะ ต.แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และ 2.บ่อขยะเทศบาลนครภูเก็ต สองที่นี้ให้ความรู้กับตนมากเพราะมีความแตกต่างกันมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะได้ไม่หมดส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ความอันตรายในการเสี่ยงอัคคีภัยที่เกิดขึ้น แต่ในเรื่องของงบประมาณที่อยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 49 แห่ง มี 1.6 พันล้านบาท ซึ่งจีดีพีเฉพาะสมุทรปราการ 6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหนึ่งจังหวัด ส่วน จ.ภูเก็ต ถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการขยะได้ และต้องการให้นักท่องเที่ยวมาในภูเก็ตเยอะๆ  หลังโควิด แต่ขยะที่เห็นอยู่สักวันหนึ่งก็จะลงไปในทะเล แล้วฝั่งก็จะเรียกภูเก็ตว่าสรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ สถานการณ์ขยะที่มีต่อภูเก็ต 800 ตันต่อวัน ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ 700 ตัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน จีดีพีภูเก็ตอยู่ที่กว่า 2 แสนล้านบาท งบประมาณของ อปท.ทั้งกว่า 10 แห่งรวมกันกว่า 600  ล้านบาท คิดเป็น 0.31 เปอร์เซนต์

 “นี่คือภาพจุลภาคที่เห็นได้ในท้องถิ่น ที่ทำให้ผมกลับมาแล้วรู้สึกสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้ง กมธ.วิสามัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกิดขึ้น ควรที่จะจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร เพราะการจัดการขยะจะมองเป็นจุดๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการขยะ ถ้าต้นทางไม่สามารถจัดการขยะได้ ก็เลิกคิด กลางทาง ปลายทาง เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” นายพิธากล่าว

ดินเนอร์ไร้ปมปรับ ครม.

นายพิธากล่าวต่อว่า ตนขอเสนอ 5ข้อในการในการวางกรอบการทำงานของ กมธ.วิสามัญฯ คือ 1.ลดขยะต้นทาง โดยการส่งเเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 2.การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร 3.การโอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว 4.เพิ่มเติมงบประมาณในการบริหารจัดการขยะ เพราะงบจัดการขยะปีนี้มีแค่ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งต้องเพิ่มอีกอย่างน้อยอีก 20 เท่าถึงจะแก้ปัญหาขยะในประเทศไทยได้ และ 5.การออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสำหรับผู้ที่ได้รับการบำบัดจากผลการกำจัดขยะ ดังนั้นถ้าเราสามารถวางแผนได้แบบนี้ ก็จะสามารถลดจำนวนขยะ ป้องกันก่อนปัญหาได้

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีนายพิธากลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส.ว่า การกลับมาของนายพิธาไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับรัฐบาล เพราะการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเป็นหน้าที่ของสภาและองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว นายพิธาจะจับตาโครงการใดของรัฐบาลก็เป็นสิทธิ รัฐบาล คงไม่ต้องไปตกใจอะไร การตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้านก็คงทำหน้าที่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา เพียงแค่มี สส.เพิ่มขึ้นมาในฝ่ายค้านอีกหนึ่งคนเท่านั้น

นายอนุสรณ์กล่าวว่า ในทางกลับกันการกลับมาของนายพิธาอาจกระทบกับฝ่ายค้านเองมากกว่า โดยเฉพาะการจะคืนตำแหน่งหัวหน้าพรรคให้นายพิธาหรือไม่ ถ้าคืนจะคืนกี่โมง รวมถึงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภา จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนกันอย่างไร เข้าใจว่าฝ่ายค้านเองอาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะปรับโครงสร้างองคาพยพ เพื่อหาที่หาทางให้นายพิธาให้เหมาะสม

"ประเทศไทยต้องเดินไปข้างหน้า การตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้านสามารถทำได้บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน แต่ไม่จำเป็นต้องค้านทุกเรื่อง เรื่องใดที่คัดค้านแล้วทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส ไม่ได้ประโยชน์ หรือนำพาประเทศกลับไปสู่วังวนของความขัดแย้งต้องระมัดระวัง" นายอนุสรณ์กล่าว

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการรับประทานอาหารพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการเมืองหรือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นบรรยากาศพูดคุยกันแบบสบายๆ คุยกันเรื่องทั่วไป แล้วรู้สึกว่าทุกคนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และวางใจกันมากขึ้น ถ้าเทียบกับช่วงต้นรัฐบาล

ถามว่ามีแกนนำรัฐบาลคนใดเชียร์น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. มานั่งใน ครม.หรือไม่ เพราะขณะนี้ยังมีตำแหน่งว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง นายอนุทินกล่าวว่า เราเชียร์คนเก่ง เราเชียร์คนมีความรู้ความสามารถ ทำงานเพื่อบ้านเมืองอยู่แล้ว และ น.ส.แพทองธารก็เป็นถึงหัวหน้าพรรค พท.ที่เป็นหัวหน้าพรรคแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเรายอมรับและเชื่อมั่นในตัวของ น.ส.แพทองธารอยู่แล้วที่พร้อมทำงานเพื่อบ้านเมือง

ขณะที่ นายวรชัย เหมะ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กรณีออกมาเตือนแพทย์ รพ.ตำรวจอย่าเซ็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะเกรงจะต้องติดคุกว่า ทำไมนายชวนไม่เตือนนายกิจ หลีกภัย พี่ชายตัวเองสมัยเป็นนายก อบจ.ตรัง เพราะเพิ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีการซื้อที่ดินสร้างท่าเรือ ทำไมไม่เตือนนายระลึก หลีกภัย ที่เคยโกงเงินแบงก์จนหนีคดีจนขาดอายุความแล้วกลับมา นายชวนควรเตือนญาติพี่น้องครอบครัวตัวเองก่อนว่าอย่าทำอะไรผิดกฎหมายแล้วจะติดคุก ก่อนจะออกมาเตือนคนอื่น ควรทำครอบครัวตัวเองให้สะอาดเสียก่อนที่จะว่าใครได้

พท.ดีดปากชวนแขวะชั้น 14

"นายชวนอย่าดีแต่เก่งกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง แต่กลับกันในยุคที่ทหารยึดอำนาจ นายชวนกลับเงียบเหมือนเป่าสาก ไม่พูดอะไรเลย ไม่เคยต่อต้านการยึดอำนาจเลย บริหารพรรคประชาธิปัตย์จนเหือดแห้ง เพื่อน สส.หายไปเกือบหมด อย่าเป็นคนใจแคบอิจฉานายทักษิณที่ทำพรรคชนะพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งมาโดยตลอด จนกลายเป็นความแค้น" นายวรชัยกล่าว

เช่นเดียวกับ นายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายชวนจำได้แต่เรื่องของคนอื่น แต่เรื่องตัวเองและคนรอบข้างจำไม่ได้ หรืออาจจะไม่อยากจดจำก็ได้ ส่วนตัวนับถือท่านชวน แต่ตนไม่ยอมให้สังคมไขว้เขว เพราะมองว่านายชวนเต้าข่าว พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น ไม่มีคนติดคุกเพราะทำตามคำสั่งนายทักษิณ เป็นเรื่องไม่จริงทั้งอดีตหรือปัจจุบันตามคำพูดของนายชวนแต่ฝ่ายเดียว อย่าลืมว่าข้าราชการมีผู้บังคับบัญชา มีกฎระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินกำกับดูแล มีจรรยาแพทย์ควบคู่ในจิตใต้สำนึกของแพทย์ที่ต้องดูแลคนป่วย มิใช่จะทำอะไรก็ทำตามใจตนเองได้

"การที่นายชวนจะอาศัยที่ตนเองเป็นผู้ใหญ่หรือมีอคติส่วนตนมาชี้นำตัดสินการวินิจฉัยของแพทย์จึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แล้วยิ่งเอาความเจ็บช้ำใจของตนเองทางการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งมาซ้ำซาก แพ้มาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยเสมือนมาเป็นตัวชี้นำการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ราชการเช่นนี้ ยิ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม สิ่งที่นายชวนควรทำมากที่สุด คือต้องยึดหลักสุจริต วิจารณ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่เอาวาระส่วนตัวแอบแฝง ทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นหลักให้กับสังคมและประเทศชาติให้สมกับความอาวุโส ความเป็นผู้ที่อยู่ในการเมืองมานาน" นายพายัพกล่าว

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ช่วงหลัง 18 ก.พ. ไป มี.ค. จนถึง พ.ค. อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากทุกอย่างเป็นสภาพเดิม โดยนายเศรษฐายังเป็นนายกฯ สถานการณ์พิเศษคงเกิดเร็ว

นายจตุพรบอกว่า การแก้ ม.112 พรรค พท.ช่วงหาเสียงก็เสนอไม่แตกต่างจากพรรคก้าวไกล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร และแกนนำพรรคยืนยันจะแก้ไข แต่เมื่อเป็นรัฐบาลกลับเล่นอีกบท ซึ่งเหมือนกับการหาเสียงไม่กู้เงินมาแจกดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็มากู้เงิน ถ้ารัฐบาลบริหารตามปกติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขพิเศษแล้ว คงนำงบประมาณมาใช้จ่ายกันสะพัดกับโครงการใหม่ๆ หรือการจัดซื้อจัดจ้างตามงบประมาณปี 2567 ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้งบประมาณยังไม่ถูกนำมาใช้จนกว่าจะถึง พ.ค. แสดงว่านายเศรษฐาต้องเป็นนายกฯ ถึง 9 เดือน ตั้งแต่ ส.ค.2566-พ.ค.2567 จึงได้ใช้งบประมาณ ซึ่งผิดปกติอย่างมาก

"เชื่อว่านายเศรษฐาจะเดินไปถึงวันที่จะได้ใช้งบประมาณเหรอ และไม่มีเหตุผลทางรัฐศาสตร์และไม่มีหลักความเป็นไปได้เลย เพราะมันคือข้อตกลงที่ทำกันไว้ จึงได้เสียง สว. 152 เสียงมาโหวตให้เป็นนายกฯ รวมถึงนักโทษชั้น 14 ก็เป็นเรื่องเดียวกันหมด คือการดีลกันไว้แล้ว" นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรกล่าวว่า ทุกอย่างในสิ่งผิดปกตินั้นจะเกิดขึ้นก่อน 11 พ.ค.นี้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงนายกฯ หากมีนาคมถึงเมษายนไม่เปลี่ยนตัวแล้ว อาจมีเหตุการณ์อีกอย่างเกิดขึ้น เพราะการเลือกคนที่มีชนักติดตัวมาเป็นนายกฯ ย่อมเป็นชนวนเหตุให้เกิดสถานการณ์บางอย่างขึ้นมาได้ ดังนั้นหลังวันที่ 18 ก.พ.นี้ คนชั้น 14 คงได้กลับบ้าน การเมืองจะมีเปลี่ยนแปลง เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้น แล้วยังต้องมีความเด็ดขาดในเรื่องการดีลกันไว้ อีกอย่างถ้าการดีลเป็นการตกลงขายขาดกันแล้ว เชื่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตคงไม่อยู่ในสภาพสร้างวิกฤตให้ได้ ซึ่งสะท้อนได้ชัดเจนว่า การดีลยังเป็นเรื่องต่อเรื่อง ไม่มีการขายขาดกัน

"ถ้าการดีลไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างแล้ว เชื่อว่าหลายเหตุการณ์คงไม่เกิดขึ้น และสภาพขณะนี้หลายคนรู้เวลากันอยู่ เพราะการบริหารของรัฐบาลผิดปกติไปหมด" นายจตุพรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง