ตีตกกม.คำนำหน้า/เลิกคำสั่งคสช.

สภาเอกฉันท์ไฟเขียวยกเลิกคำสั่ง คสช.แก้ปัญหาใต้ “ปชป.-ก้าวไกล-เพื่อไทย” เห็นตรงกัน จวกคณะรัฐประหารเพิ่มอำนาจ กอ.รมน. แต่ลดบทบาทตัวแทนประชาชนในพื้นที่ พร้อมตีตก กม.คำนำหน้านามเพศ

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์  เวลา 10.30 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2559 ของนายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ และอีก 2 ฉบับ ของนายรอมฎอน ปันจอร์  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และฉบับของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

นายยูนัยดีอภิปรายหลักการและเหตุผลว่า เนื่องด้วยคำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ได้กำหนดให้ยกเว้นบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก และเป็นส่วนสำคัญให้การแก้ปัญหาเกิดผลสัมฤทธิ์ ขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ของ คสช. ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม ทั้งนี้แต่เดิมสภาที่ปรึกษาฯ มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน สามารถเสนอแนะ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบประเมินการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ออกไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่คำสั่ง คสช.ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ถูกลดทอนอำนาจหน้าที่ลงไป จึงขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว เพื่อให้สภาที่ปรึกษาเดิมได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้รับมอบหมายจากนายรอมฎอนเป็นผู้อภิปราย ว่า คำสั่ง คสช.ได้เพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. เพื่อขยายอำนาจฝ่ายทหารมาควบคุมกิจการของพลเรือน ซึ่งมองว่ากำลังเดินไปผิดทาง จึงเสนอให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว เพื่อยุติบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ฟื้นฟูสภาที่ปรึกษาฯ และจำกัดบทบาทของ กอ.รมน.

ขณะที่นายชูศักดิ์อภิปรายระบุว่า  เป็นการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลางเพื่อเสนอนายกฯ แต่ไม่มีตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน การบริหารเช่นนี้เป็นผลทำให้การบริหารปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายหน่วยงานว่าควรยกเลิกคำสั่ง คสช. แล้วกลับไปใช้กฎหมายเดิม ทั้งนี้ทั้ง 3 ร่าง พ.ร.บ.ที่มีผู้เสนอมา มีเจตจำนงเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์

 “ระบบกฎหมายของไทยขณะนี้ ถ้าคนยึดอำนาจการปกครองประเทศแล้วออกคำสั่งประกาศต่างๆ ใช้เวลาเท่าใด บางคนบอกว่าใช้เวลาวันเดียว พอยึดอำนาจแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายอะไรได้หมด ครั้นเราจะยกเลิก ต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ผ่านวาระต่างๆ อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือเป็นปี เรื่องนี้สภาควรต้องตระหนักว่าระบบแบบนี้ควรหมดไปจากประเทศไทย โดยทั้งสภาและศาล ต้องไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใดๆ ไม่ยอมรับการยึดอำนาจรัฐประหาร ว่าไม่ใช่สิ่งดีงาม ไม่ร่วมมือด้วย ฝากเป็นข้อคิดอุทาหรณ์ไปยัง สส.ว่าเราควรต้องตระหนักถึงหน้าที่ของเราในส่วนนี้” นายชูศักดิ์กล่าว

จากนั้นให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่าคำสั่ง คสช.มีปัญหาต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นด้วยให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.และสนับสนุนให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญยกเลิกคำสั่ง คสช.

ภายหลังอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ด้วยคะแนน 421 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี  งดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14 จำนวน 31 คน แปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่างของนายชูศักดิ์​เป็นร่างหลัก

ต่อมาที่ประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม  และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ…. ที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ

นายธัญวัจน์ชี้แจงเหตุผลว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ การมีกฎหมายรับรองผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้สามารถกำหนดการใช้คำนำหน้านามจะเป็นเพศอะไร จะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ เพื่อผลักดันสังคมโอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพ จากนั้น สส.ได้อภิปรายแสดงความเห็นกันหลากหลาย โดย สส.พรรคก้าวไกลอภิปรายไปแนวทางเดียวกัน สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศ ไม่ยึดติดกับคำนำหน้าชื่อ อาทิ นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอพูดจากก้นบึ้งหัวใจจากผู้หญิงข้ามเพศที่เจ็บปวดกับคำนำหน้านามว่า “นาย” มาตลอดชีวิต ความฝันสูงสุดของตนคือการได้เปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน คือการได้เป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ ใครไม่ได้เป็นบุคคลข้ามเพศไม่มีทางเข้าใจสิ่งนี้ ขอวิงวอนจากหัวใจหญิงข้ามเพศที่รอสิ่งนี้มานานตลอดชีวิต

ขณะที่ สส.พรรคร่วมรัฐบาล อภิปรายไม่เห็นด้วยกับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว โดยแสดงความเป็นห่วงว่าอาจเป็นต้นเหตุการก่ออาชญากรรม เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อไปหลอกลวงบุคคลอีกเพศ อ้างว่าเป็นเพศเดียวกัน อาทิ นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การออกกฎหมายต้องสอดคล้องกับบริบทสังคม หากกฎหมายสุดโต่งเกินกว่าความต้องการสังคม นอกจากไม่สร้างประโยชน์ อาจสร้างปัญหาตามมา คำนำหน้าชื่อทั้งนาย นาง นางสาว เป็นการแบ่งเพศตามสภาพตั้งแต่กำเนิด จึงมีความห่วงใยหากให้เปลี่ยนได้ตามความสมัครใจ อาจเกิดการก่ออาชญากรรมไปหลอกลวงอีกเพศ อ้างว่าเป็นคนเพศเดียวกัน แม้ในต่างประเทศให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ แต่เงื่อนไขยากง่ายแตกต่างกันไป เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ การจะเปลี่ยนคำนำหน้าได้ ต้องพบจิตแพทย์  ต้องทำหมัน เพื่อกันกรณีถูกข่มขืนและตั้งท้อง ไม่อยากมองคำนำหน้านามเป็นกรอบกำหนดในชีวิต เพราะไม่ว่าจะเป็นนาย นาง นางสาว ก็เสมอภาคกันทุกคน หากจะทำกันจริงๆ ขอให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนคำนำหน้านาม ต้องรับฟังให้รอบคอบ อย่าเหาะเกินลงกา ไปไกลสุดลิ่มทิ่มประตู จะสร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ จะเป็นชายจริง หญิงแท้  หรือ LGBTQ ควรภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็น จะใช้คำนำหน้าอย่างไร ก็ภาคภูมิใจ หลังจากสมาชิกอภิปรายครบทุกคนแล้ว ที่ประชุมลงมติ 256 ต่อ 152 ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 152 เสียง ไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง