เชื่อ‘อุ๊งอิ๊ง’เยือน‘กัมพูชา’ ถกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนแน่!

คปท.ยื่นหนังสือกลาโหมปกป้องอธิปไตยเกาะกูด “สุทิน” บอกกังวลและรักชาติได้แต่ควรพองาม ชี้ยุคนี้มีระบบตรวจสอบพรึ่บ อย่าไม่ไว้วางใจจนทำอะไรไม่ได้ พร้อมโยน กต.เป็นผู้ทำหน้าที่หลัก นักวิชาการย้ำ “อุ๊งอิ๊ง” ไปเยือนกัมพูชามีนัย ฟันธงมีการพูดเรื่องพื้นที่ทับซ้อนแน่

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล และนายนัสเซอร์ ยีหมะ พร้อมเครือข่าย  อาทิ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ ยื่นหนังสือถึงนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้แสดงจุดยืนในการปกป้องอธิปไตยกรณีประเทศกัมพูชาอ้างสิทธิเกาะกูด จ.ตราด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ สน.พระราชวังได้มาแจ้งกับทางกลุ่ม คปท.ไม่ให้ข้ามเข้ามาในพื้นที่กระทรวง ซึ่งเป็นเขตพระบรมมหาราชวัง   โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมออกมารับหนังสือ   พร้อมเชิญตัวแทนกลุ่มไปหารือ

นายสุทินกล่าวถึงกลุ่ม คปท.เดินทางมายื่นหนังสือเรื่องเกาะกูดว่า เป็นสิทธิความกังวลของคนไทย ที่กังวลและห่วงความรักชาติ แต่ขอให้มั่นใจว่าวันนี้ประเทศเรามีระบบประชาธิปไตยที่ดี มีการตรวจสอบได้ในสภาผู้แทนราษฎร    คิดจะทำอะไร นำผลประโยชน์ของชาติไปทำเสื่อมเสีย ระบบสามารถตรวจสอบและกำกับได้อยู่ และสังคมก็ช่วยกันดู ให้สบายใจได้ ความกังวลก็เข้าใจได้ แต่ก็กังวลให้พองาม

เมื่อถามว่า ความกังวลกับความรักชาติมากับความไม่ไว้วางใจ นายสุทิน กล่าวว่า ขอให้แยกแยะ เป็นมานานแล้วประเทศไทย ถ้าเราไม่ไว้วางใจอะไรกันเลยก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้

ถามว่าปัญหาพื้นที่เกาะกูดไม่ต่างกับพื้นที่ ส.ป.ก. เพราะถือแผนที่กันคนละฉบับ นายสุทินกล่าวว่า มันก็อาจคล้ายกัน ยิ่งคนละประเทศ เราต้องหาจุดลงตัวให้ได้

เมื่อถามว่า มีความกังวลผลประโยชน์ระหว่างตระกูลและผลประโยชน์ของประเทศ นายสุทินกล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการตรวจสอบ ทุกวันนี้เป็นระบบประชาธิปไตย คงไม่มีใครคิดไปทำอะไรกันขนาดนั้น ถึงมีความคิดก็ทำไม่ได้

เมื่อถามว่า ทาง กห.ได้คุยกับกรมแผนที่ทหารในเส้นเขตแดนที่มีความทับซ้อนที่เกาะกูดหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเรื่องสนธิสัญญา ซึ่งทหารมีหน้าที่ดูแลอธิปไตยที่เป็นหน้าที่หลัก เราก็รู้จักลำดับ เป็นลำดับที่ต้องรักษา เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ลำดับแรกคือ กต.ได้ไปคุยกันมาก่อน เราจะไปล้ำเส้นเขาไม่ได้ กห. อยู่ในอำนาจ ต้องรักษาเส้นเขตแดนเป็นหลัก

เมื่อถามว่า มองว่าควรยึดตาม MOU  44 คือการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันกับการแบ่งเส้นเขตแดน และต้องทำควบคู่กันทั้งสองอย่างนี้หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ตนยังไม่ชำนาญพอ ยังไม่ได้ศึกษาในส่วนนี้ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้มีระบบการทำงานอยู่ จะต้องหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็แล้วแต่ จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพื่อรักษามิตรภาพ

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะ มีกำหนดการเยือนกัมพูชาในช่วงกลางเดือน มี.ค. ว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้มีการมาเยือนไทยของ พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และยังมีกรณีสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกฯ เดินทางมาพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ การที่ น.ส.แพทองธารจะเยือนกัมพูชาอีก ก็จะเห็นภาพเชื่อมโยงการเมืองที่เป็นทางการกับการเมืองที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองของกัมพูชา สมเด็จฮุน เซน สามารถกำกับได้ทั้งหมด ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับนายทักษิณ เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะส่งผลให้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองของรัฐบาลและของกัมพูชาสามารถเชื่อมต่อกันได้ง่าย

“การไปเยือนกัมพูชาของคุณอุ๊งอิ๊งแม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในทางบริหาร ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ได้มีตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือเป็น สส.อะไรเลย มีเพียงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ตรงนี้มีนัยสำคัญทางการเมือง เพราะการไปเยือนกัมพูชาของคุณอุ๊งอิ๊ง คือตัวแทนของคุณทักษิณ ตรงนี้สะท้อนการเมืองอย่างเป็นทางการและการเมืองอย่างไม่เป็นทางการที่จะเชื่อมกัน”รศ.ดร.ยุทธพรกล่าว

รศ.ดร.ยุทธพรกล่าวอีกว่า การเยือนของหัวหน้าพรรค พท.ครั้งนี้ มีโอกาสที่จะมีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทยและกัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเล และมองเป็นไปได้อาจมีการพูดคุยกันตั้งแต่ที่สมเด็จฮุน เซน มาเยี่ยมนายทักษิณที่บ้านจันทร์สองหล้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมสามารถตั้งคำถามได้ แต่การพูดคุยอย่างเป็นทางการเป็นอำนาจหน้าที่ของ กต.และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง