สั่ง2เดือนสปก.เขาใหญ่จบ

“สุทิน” ขีดเส้น 2 เดือนให้   คกก.วันแมปจบเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ ปัดข่าวโยนอำนาจให้กรมอุทยานฯ   ตัดสิน “ชัยวัฒน์” แฉผู้ใหญ่โทร.มาเคลียร์ขอให้จบ แต่บอกไปถ้ายึดตามกรมแผนที่ทหารไม่ยอมแน่ “ชีวะภาพ”  ลั่นตรงไหนเป็นป่าอย่ามารังวัด

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายสุทิน คลังแสง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวันแมป (One Map) ว่าได้ประชุมหลายเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ โดยมีบทสรุปคือ ให้คณะทำงานทั้งหมดทุกระดับทำให้จบภายใน 2 เดือน หรือช่วงต้นเดือนพฤษภาคมน่าจะได้ข้อสรุปก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรณีปัญหาที่ทับซ้อนระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตปฏิรูปที่ดิน กรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบโดยใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินป่าเขาใหญ่ให้เป็นอุทยาน พ.ศ.2505 ประกอบกับสมุดบันทึกการรังวัด (filed book) และภาพถ่ายทางอากาศ ร่วมกับการปฏิบัติของชุดสำรวจ ชึ่งผลการตรวจสอบเป็นผลให้แปลงที่ดินของ ส.ป.ก.ไม่ทับซ้อนและอยู่นอกเขตอุทยานเขาใหญ่ คณะทหารทำถูกต้องตามหลักการ และได้รับการยืนยันจากผู้ชำนาญการว่าถูกต้องตามหลักการและได้รับการยอมรับ

“อยากให้ทำในลักษณะเป็นองค์กร  จะได้ไม่ต้องชี้แจงเพียงคนเดียว การดำเนินการวันแมปจะแก้ไขปัญหาได้เยอะ การแก้ตามวันแมปก็เพื่อให้ได้ข้อยุติ และเสนอต่อ ครม.ได้ต่อไป พร้อมได้เน้นย้ำคณะกรรมการวันแมปว่าต่อไปนี้เวลาลงพื้นที่ให้ลงเป็นองค์คณะ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงาน” นายสุทินกล่าว

เมื่อถามถึงกระแสข่าวกรมแผนที่ทหารจะชงที่ ส.ป.ก.เขาใหญ่ให้กรมอุทยานฯ นั้น นายสุทินกล่าวว่า ยังไม่เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีขั้นตอน โดยเมื่อกรมแผนที่ทหารได้ข้อสรุปก็จะเสนอชุดอนุกรรมการวันแมป และเสนออนุกรรมการอีกชุด และไป ครม. 

ถามถึงกรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ยังคงลงพื้นที่เคลื่อนไหว หากทอดเวลาออกไปแล้วยังไม่จบจะถูกตีเป็นประเด็นเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายสุทิน กล่าวว่า ขอให้ทุกคนทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ถ้าคิดว่าทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำให้สถานการณ์วุ่นวายหรือร้อนขึ้น เพราะระบบการทำงานหาข้อสรุปมันมีอยู่แล้ว

“ขอให้อดทน อดใจรออีกนิด เชื่อว่าจะมีข้อสรุปที่ดี ให้มองมุมนโยบายและมุมกฎหมาย ทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นองค์คณะทำงานทั้งหมด และเท่าที่ฟังวันนี้ทาง ส.ป.ก.แสดงเจตนาว่าไม่เดินหน้า  ไม่ดึงดัน ยอมรับและส่งสัญญาณว่าจะถอยด้วยซ้ำ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้มันเข้มข้นขึ้นมา" รมว.กลาโหมระบุ

วันเดียวกัน นายชัยวัฒน์พร้อมด้วยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนลงพื้นที่แปลง ส.ป.ก. 1 ใน 8 แปลง ของนายทุนชาว จ.ปทุมธานี ที่ครอบครองเนื้อที่รวมเกือบ 90 ไร่ พื้นที่บ้านกุดคล้า หมู่ 5 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าได้เอกสารสิทธิ สปก.4-01 แล้ว 29 ไร่ อยู่ระหว่างการออกเอกสาร ส.ป.ก.อีก 7 แปลง โดยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จุดนี้มาตลอด 1 เดือน พบหมุด ส.ป.ก. 5 หมุด

นายชัยวัฒน์เปิดเผยด้วยว่า มีผู้ใหญ่โทร.มาเคลียร์ว่าในวันพรุ่งนี้ทุกอย่างจะคืนให้กับกรมอุทยานฯ พื้นที่ทับซ้อนจะจบแบบไม่มีปัญหา ส.ป.ก.จะถอนออกทั้งหมด ซึ่งตนตอบตกลง ถ้าได้ที่คืน เราจบ แต่ถ้ายืนยันตามที่กรมแผนที่ทหารบอก ไม่ต้องโทร.มา ตนไม่เคลียร์ ถ้ากรมอุทยานฯ รวมทั้งกรมป่าไม้ไม่ได้ที่คืน ตนไม่ยอม สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน  ตลอดจนสังคม ช่วยกันดูว่าพื้นที่ตรงนี้สามารถออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ได้หรือไม่ และเป็นไปตามเจ้าหน้าที่บอกหรือไม่ ว่า ส.ป.ก.ออกเอกสารเฉพาะในพื้นที่ของตัวเอง

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า อยากให้เห็นความไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลง โดยเฉพาะแผนที่เริ่มต้นจากจุดที่ออกมาว่ากรมแผนที่ทหารยืนยันว่าบริเวณจุดนั้นเป็นที่ สปก.4-01 และครั้งนี้พาสื่อมาดูว่าไม่ใช่พื้นที่จำแนก กลุ่มทุนเป็นใคร เอาหนึ่งคนก่อน ไปจับมือกันแล้วไปออก ส.ป.ก.เป็นใคร ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าคนนี้มีทั้งหมด 8 แปลงในพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติ ภูเขาสูงชัน ไปดูด้วยกันว่าพื้นที่จำแนกและออกนอกเขต ส.ป.ก.ทำได้อย่างไร ไม่ใช่พิพาทกัน มันต่อจิกซอว์จากการขยายผลกลุ่มทุนรายใหญ่ เข้าไปบุกรุกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเอานอมินีเข้าไป แล้วถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาใหญ่จับกุมเมื่อเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา เป็นผู้หญิงที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

ด้านนายชีวะภาพกล่าวว่า พื้นที่คาบเกี่ยวกันของหน่วยงานรัฐด้วยกันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประสานงานก่อนออกเอกสารสิทธิ กฎหมายที่ทำให้พี่น้องประชาชนจะต้องมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาอยู่อย่างนี้ เพราะวันนี้ เรายังต้องรอวันแมปที่คาดว่าคงอีกนาน ระหว่างนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ แม้จะทับซ้อนกันบ้าง แต่จุดไหนที่เป็นป่าอย่าไปรังวัด เจ้าหน้าที่ต้องมีจิตสำนึก

ขณะที่กรมอุทยานฯ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ โดยระบุว่า  การกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 หรือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2505 (เดิม) โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมีแผนที่แสดงแนวเขตแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2505 มีแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายฯ มาตราส่วน 1 : 250,000 ที่ได้มีการสำรวจรังวัดแนวเขต มาตั้งแต่ปี 2502 และได้นำผลการสำรวจรังวัดมาประกอบกับสภาพข้อเท็จจริงแล้ว จึงขึ้นรูปเป็นแผนที่ในมาตราส่วนที่เหมาะสมจัดทำเป็นแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา

ต่อมากรมอุทยานฯ ได้ถ่ายทอดเส้นแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ลงบนแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร ในระบบเชิงเลข (Digital Map) และจัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติในรูปแบบดิจิทัล (Shape files) เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ปัญหาข้อพิพาทที่ดินและพื้นที่ทับซ้อนต่างๆ โดยการจัดทำแนวเขตดังกล่าว เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่

ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรฐานระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินในที่ดินของรัฐ พ.ศ.2550 รวมทั้งได้มีการถ่ายทอดแนวเขตอุทยานแห่งชาติตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาลงในแผนที่มาตราส่วน 1 : 4,000 และแผนที่ระวาง มาตราส่วน 1 : 50,000 ตามที่ระเบียบกำหนดครบทุกแห่งแล้ว

แถลงการณ์ระบุอีกว่า โดยแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ที่ได้จัดทำขึ้นได้ส่งให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) เป็นแผนที่รัฐ ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000  (One Map) ซึ่งในคราวประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.65 ที่ประชุมมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และเลย ตามที่กรมอุทยานฯ เสนอ

“แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ส.ป.ก.) ได้รับเรื่องร้องเรียนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทับซ้อนกับที่เอกชน (เป็นกรณีบริษัท ภูพบฟ้า จำกัดไม่เกี่ยวกับข้องกับกรณีแปลง ส.ป.ก.) ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ฯ (One Map) กลุ่มที่ 3 ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราสีมาและปราจีนบุรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกรณีปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณที่มีการออกเอกสาร ส.ป.ก.ในท้องที่บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่สอดคล้องตรงกันกับแนวเขตของกรมแผนที่ทหาร เห็นควรให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พิจารณาตามหลักเกณฑ์การพิจารณา One Map ให้ได้ข้อยุติและถูกต้องตามข้อเท็จจริงต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ กล่าวถึงข้อพิพาทการออก ส.ป.ก.ทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนถึงวินาทีนี้ไม่มีใครพูดถึง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เลย คนลืมไปแล้วว่าจริงๆ เมื่อก่อนไม่มีอุทยาน ในกฎหมายของ ส.ป.ก.ระบุไว้ชัดเจนว่า พื้นที่ใดหากมีการตราพระราชกฤษฎีกาให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. แล้ว สิทธิของเจ้าของในพื้นที่เดิมต้องถูกเพิกถอนเจ้าของเดิม ไม่ต้องไปผ่านกระบวนการเพิกถอน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ส.ป.ก.ก็ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในบางพื้นที่ไปตามที่มีการอนุมัติโดย ครม. แต่ปรากฏว่าหน่วยงานอื่นไม่เคยไปแก้แผนที่ของตัวเอง แล้วก็อ้างว่าแผนที่ตัวเองตรามาถูกต้อง แต่ลืมไปว่าหน่วยงานของเขาก็ผูกพันกับ  พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเอาแผนที่เก่าไม่มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันตามการตราพระราชกฤษฎีกาของ ส.ป.ก. ถือว่าคุณมีความผิด

“ปัญหาที่ผมเห็นตลอด 2-3 วันนี้คือ ไม่เห็นใครซักถามอุทยานเลยว่าคุณมีการปรับปรุงแผนที่ของคุณตามกฎหมาย ส.ป.ก. ซึ่งผูกพันหน่วยงานคุณด้วย และมักจะบอกว่า พวกนี้เป็นนายทุนไปแย่งพื้นที่ป่า แล้วทำไมพวกนายทุนที่คุยกับอุทยานรู้เรื่อง ยังอยู่ได้ไม่รู้กี่ที่" นายเกียรติกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบ68 ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง  ‘เรือดำน้ำ-ฟริเกต’ ไปถึงไหน?

คงต้องติดตามดูต่อไปว่า “สุทิน” จะได้รับการอนุมัติให้นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหมต่อเพื่อผลักดันโครงการ และปัญหาที่ยังไม่ลุล่วงเหล่านี้หรือไม่