‘ทิม’ท้าสกัดพ้นการเมือง

ไทยโพสต์ ๐ "พิธา" ยันฝ่ายค้านไม่แผ่ว   แต่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ เน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว โวเปิดซักฟอกต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด   ลั่นถูกสกัดให้ยุติชีวิตทางการเมือง ท้าทำเลย ไม่มีอะไรค้างคาใจอีกแล้ว   เพราะก้าวไกลคือพรรคที่เอาชนะเพราะการทำงานเพื่อประชาชน ชม "ปดิพัทธ์"  สุดเจ๋งบุกทวงกฎหมายถึงทำเนียบฯ แต่ประธานวิปรัฐบาลชี้เป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหาร "เรืองไกร" ร้อง กกต. เข้าข่ายแทรกแซงข้าราชการพลเรือน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่จังหวัดอุดรธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงคำวิจารณ์ว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่แผ่วลง ว่าไม่แผ่ว แต่เรามองเป็นยุทธศาสตร์ การที่ทำอะไรเร็วๆ ลวกๆ ใช่จะเป็นเรื่องดีเสมอไป ขอเน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว ไม่ได้หมายความว่าวุฒิสภาอภิปรายแล้วเราต้องอภิปรายบ้าง ต้องดูข้อมูลและฐานความสำคัญของประชาชน ที่ต้องอธิบายให้ประชาชนฟังว่า ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไป   1 ปีมีแค่อย่างละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ตอนที่โดนเร่งเร้าให้ใช้ หากมีเรื่องอภิปรายที่สำคัญก็กลับมาใช้สิทธิ์นั้นไม่ได้แล้ว พร้อมย้ำ 1  ปีต้องมียุทธศาสตร์

สำหรับแนวโน้มที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ นายพิธากล่าวว่า ก็เป็นไปได้ ทั้งการอภิปรายทั่วไปและอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากตอบตรงๆ เขาก็รู้

นายพิธายังประเมินการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลา 6 เดือนว่า ในใจอยากให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาประเทศให้มากขึ้น ข้อดีที่เห็นอยู่คือ เรื่องการต่างประเทศ ที่ช่วยวิกฤตสงครามในอิสราเอล แต่เข้าใจว่าขณะนี้ยังมีคนอุดรธานีติดอยู่ที่นั่นประมาณ 7-8 คน จึงขอฝากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดตามเรื่องนี้ให้กับพี่น้องชาวอุดรธานีด้วย

เขาบอกว่า มีพี่น้องถามว่าก้าวไกลจะเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เป็นตำบลกระสุนตกเลยหรือไม่ ก็บอกว่าวิกฤตของพรรคก้าวไกลไม่ยิ่งใหญ่เท่าวิกฤตประชาชน และตนไม่ได้พูดเล่น ตนไม่ได้พูดเอาคะแนนเสียงอย่างเดียว ตนศึกษามาแล้วว่าครั้งที่แล้วคนอุดรธานีไปเลือกตั้งน้อยมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ เลยไม่ได้เลือก ซึ่งเป็นปัญหามาจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาความแห้งแล้ง ดังนั้น วิกฤตของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าวิธีของพรรคก้าวไกล

“ถ้าเขาอยากจะยุติชีวิตทางการเมืองของผม ทำเลย ผมไม่มีอะไรค้างคาใจอีกแล้ว เราคือพรรคที่เอาชนะเพราะการทำงานเพื่อประชาชน แล้วผมก็วางแผนในการบริหารองค์กรไว้เยอะแยะ ยังมีคนเก่งอีก 20 คน ข้างหลังยังมีคนเก่งอีกรออยู่ข้างหลัง” นายพิธากล่าว

ส่วนเรื่องภายในประเทศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีสิ่งที่จะต้องแก้และแตะโครงสร้างให้มากกว่านี้ รวมถึงร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ที่เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามเรื่องร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์กับรัฐบาล ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะฝ่ายค้าน แต่มีของรัฐบาลด้วย หากรัฐบาลอยากแก้ไขปัญหาอะไร แต่กฎหมายไม่เอื้อ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะติดโครงสร้างกฎหมายอยู่ จึงเชื่อว่านายปดิพัทธ์ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และช่วยรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาได้ดีมากขึ้น พร้อมเห็นว่า เป็นการปฏิบัติตามมารยาททุกอย่าง ประสานงานไป 2 ครั้ง โดยส่งหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 และ 21 กุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมาเป็นรูปธรรม จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เป็นเหตุให้เข้าไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการประสานงานให้กับประชาชน ถือเป็นประโยชน์ให้กับรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลด้วยซ้ำ

               ส่วนที่รัฐบาลออกมาติงว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่บุกไปทำเนียบรัฐบาล นายพิธาถามกลับว่า ไม่เหมาะสมตรงไหน เพราะเท่าที่ติดตามข่าว ท่านก็ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าประสานก็มีคนต้อนรับแล้ว คำตอบที่ได้ยินต่อมาคือประสานไป 2 ครั้ง โดยย้ำว่าได้ทำหนังสือไปที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 และ 21 กุมภาพันธ์ถูกหรือไม่ จึงไม่เข้าใจว่าที่ไม่เหมาะสมคืออะไร เพราะหากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง

แทรกแซงฝ่ายบริหาร

"กฎหมายบางฉบับยื่นไปให้เซ็น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งมีกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งวาระทางนิติบัญญัติ ถ้ารวดเร็ว ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่สภาอย่างเดียว แต่อยู่ที่รัฐบาลและพี่น้องข้าราชการ ที่กฎหมายเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ก็ไม่ทราบว่าไม่เหมาะสมตรงไหน ขอคำอธิบายจากรัฐบาลด้วย" นายพิธากล่าว

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มองว่านายปดิพัทธ์  ทำเกินอำนาจหน้าที่ของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมองว่าเป็นเรื่องที่เกินเลยไปมาก การไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามร่างกฎหมายของนายปดิพัทธ์เช่นนี้ จะเป็นการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร หน้าที่และอำนาจของประธานและรองประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร ต้องเป็นตัวแทนของสภา สื่อสารประสานงานเท่านั้น และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินกิจการของสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และที่สำคัญแทบจะทุกเรื่องจะต้องอาศัยมติของสภา  ในส่วนของการพิจารณากฎหมาย  สามารถสั่งระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง แค่นั้น

เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะนำไปหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลในสัปดาห์หน้าหรือไม่  ประธานวิปรัฐบาลตอบว่า เรื่องนี้ต้องจบได้แล้ว จะไม่นำไปหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องที่ควรคิดได้ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับงานสภา จึงไม่ควรนำมาหารือในที่ประชุมวิป

ถามว่าที่ผ่านมาเคยทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกับนายปดิพัทธ์ จะมีการพูดคุยหรือชี้แนะนายปดิพัทธ์หรือไม่ นายวิสุทธิ์แจงว่า ไม่มีอคติกับนายปดิพัทธ์ แต่อยากให้ข้อคิดว่าการทำหน้าที่บนบัลลังก์ และการทำหน้าที่ของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นกลาง ถือเป็นหน้าตาของฝ่ายนิติบัญญัติ

“อยากให้คุณปดิพัทธ์ระวังในเรื่องนี้  เพราะเมื่อมาเป็นรองประธานสภาฯ  แล้ว ถือว่าไม่มีพรรคไม่มีพวก มีแค่ทำหน้าที่ให้ประชาชน จะไปติดตามเรื่องใดโดยเฉพาะนั้นทำไม่ได้” นายวิสุทธิ์ กล่าว

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจ​วัฒนะ​ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว พบว่านายปดิพัทธ์ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2567 แล้ว และก่อนหน้านั้นได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรวม 2 ฉบับ คือหนังสือที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0001.03/18 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 และหนังสือที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0001.03/26 ลงวันที่ 21 ก.พ.2567 ด้วย 

แทรกแซงข้าราชการพลเรือน

เรื่องนี้จึงควรพิจารณาถึงหน้าที่และอำนาจของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 9 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 ที่ได้มีมติรับทราบแนวทางป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ

นายเรืองไกรกล่าวว่า ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/152 วันที่ 23 พ.ย.2566 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบนั้น หน้า 4 ข้อ (2.2) ระบุว่ากรณีสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้น สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (7) หรือมาตรา 111 (7) แล้วแต่กรณี ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่เพื่อดำเนินการให้มีการวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามนัยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป”

เขาบอกว่า ยังไม่พบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรทำหนังสือไปถึง กกต.แทน เนื่องจากมาตรา 82 วรรคสี่ ให้อำนาจ กกต.ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ด้วย

นายเรืองไกรกล่าวว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบและพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายปดิพัทธ์ได้ลงนามออกหนังสือไปถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ และการเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ดังกล่าว เข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 9 หรือไม่ และเข้าข่ายอันควรสงสัยตามข้อ (2.2) ตามหนังสือของสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/152 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายจะทำให้สมาชิกภาพของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) เพราะเข้าข่ายกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง