ผลตรวจล็อตแรก 11คนปนแคดเมียม สแกนพื้นที่ชุมชน

อันตราย! ผลตรวจล็อตแรก 8 คนใน 11 คนงานสมุทรสาคร พบแคดเมียมเกินมาตรฐานในร่างกาย ลุยตรวจต่อโรงงานที่ 2 พร้อมสแกนพื้นที่ชุมชนโดยรอบ แพทย์ชี้กลุ่มเสี่ยงคือคนที่อยู่ในโรงงาน-กลุ่มสัมผัสโดยตรง ขณะที่ "สมศักดิ์" นั่งไม่ติด สั่งด่วน “สทนช.” เกาะติดภัยสารเคมีรั่วลงแม่น้ำโขง สั่งเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 3 จุดในพื้นที่เชียงคาน-ปากชม ยันสถานการณ์ยังปลอดภัย

เมื่อวันจันทร์ ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลสมุทรสาคร  นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5  พร้อมด้วยนายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร, นายแพทย์ศุภฤทธิ์ เฮงคราวิทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร คณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ประชุมร่วมกันเพื่อวางมาตรการและแนวทางการรักษาผู้ที่ได้รับสารแคดเมียมจากบริษัท เจ แอนด์  บี เมททอล จำกัด

 นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า โดยเบื้องต้นจากการตรวจปัสสาวะของพนักงานภายในโรงงาน 11 คน จากจำนวนทั้งหมด 19 คน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. พบสารแคดเมียมในร่างกายทั้ง 11 คน แต่เป็นผู้ที่มีสารในร่างกายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 8 คน ส่วนที่เหลืออีก 8 คน อยู่ระหว่างการนำตัวเข้ามาตรวจหาสารแคดเมียมเช่นเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังได้มีการวางแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชนรอบโรงงาน และ ปฏิบัติการตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกายของพนักงานบริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ที่มีการตรวจพบกากแร่แคดเมียมในพื้นที่  ต.บางน้ำจืดเช่นเดียวกัน โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

 “สำหรับผลการเก็บตัวอย่างหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงานแห่งแรก 11 คน พบมีสารแคดเมียมทุกคน แต่ที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานมีจำนวน 8 คน โดยทั้งหมดไม่มีอาการผิดปกติ จึงได้ประสานพนักงานโรงงานทั้งหมดทั้งที่ตรวจแล้วและยังไม่ได้ตรวจรวม 19 คน ให้มาเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อยืนยันผล ก่อนนำเข้าสู่การวิเคราะห์และประเมินแนวทางหรือวิธีการรักษาใน รพ.สมุทรสาครโดยผู้เชี่ยวชาญต่อไป” นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว

 นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า กระบวนการดูแลรักษาในเบื้องต้นจะต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจเช็กอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก่อน เช่น ปอด ไต ตับ กระเพาะอาหาร  ระบบการหายใจ จากนั้นก็จะประเมินร่างกาย พร้อมนำข้อมูลปริมาณสารแคดเมียมที่ตรวจพบว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใดมาวิเคราะห์แล้วรักษา ซึ่งหากมีสารแคดเมียมในร่างกายที่ไม่สูงเกินไป ระบบร่างกายจะสามารถขับถ่ายออกมาเองโดยธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ต้องมีการคัดแยกกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาจากพื้นที่เดิม ส่วนผู้ที่พบมีสารแคดเมียมสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หรือร่างกายไม่สามารถขับออกมาได้ทันนั้น อาจจะต้องมีการให้ยาขับสาร ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครกล่าวอีกว่า  สำหรับสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครยังได้เตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่ให้บริการตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกายแก่ประชาชนที่อยู่ในชุมชนรอบโรงงาน (แห่งแรก) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ซึ่งนอกจากเพื่อเป็นการตรวจสุขภาพให้แก่พี่น้องประชาชนแล้ว ยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงของประชาชนภายนอกโรงงาน ที่มีโอกาสอาจจะได้รับสารแคดเมียมอีกด้วย

 “ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ที่มีการตรวจพบการกักเก็บกากแร่แคดเมียมเช่นเดียวกันนั้น ก็จะลงพื้นที่ปฏิบัติการตามแนวทางเดียวกับโรงงานแห่งแรก ขณะที่ภาพรวมทางด้านความเสี่ยงของประชาชนโดยรอบขณะนี้ พบว่าผู้ที่ได้รับสารแคดเมียมคือผู้ที่อยู่ภายในโรงงานและมีการสัมผัสกับกากแร่แคดเมียมโดยตรง ส่วนประชาชนภายนอกต้องรอผลการตรวจร่างกายที่ทางสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยก่อน จึงจะสรุปผลที่ชัดเจนได้"  นพ.สุรวิทย์ระบุ

ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดูแลกลุ่มเสี่ยงใน 3 พื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครที่ผลการตรวจสุขภาพออกมาแล้วนั้น ตอนนี้ยังไม่ได้มีการให้ยารักษาแต่อย่างใด เพราะไม่มีอาการ ต้องดูผลการตรวจเลือดที่ชัดเจนอีกครั้ง

วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เปิดเผยถึงกรณีสารเคมีรั่วไหลลงแม่น้ำโขงว่า ตนได้รับรายงานว่าที่ สปป.ลาวได้เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ  ส่งผลให้มีกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือกรดกำมะถัน รั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง  ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่านเมืองหลวงพระบางไปถึงเขื่อนไซยะบุรี แล้วไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีออกไปยังพรมแดนไทย-ลาว

"จุดที่เกิดเหตุถึง อ.เชียงคาน จ.เลย มีระยะทางประมาณ 340 กิโลเมตร จะใช้ระยะเวลาการเดินทางของน้ำ 3 วัน โดยภายหลังเกิดเหตุผมได้กำชับ สทนช.ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีความห่วงใยชาวริมโขงของทั้งสองประเทศที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่ง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ก็ได้เร่งรัดประสานงานกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และ สปป.ลาว ตามแนวทางปฏิบัติด้านเทคนิคของระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สทนช.ยังได้ประสานกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานของประเทศไทย  (National Focal Point) เพื่อติดตามความรุนแรงของสถานการณ์และคุณภาพน้ำ โดยผลจากการตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง  (pH) ปัจจุบันได้ค่าเท่ากับ 8 ถือว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์น้ำและคนสามารถใช้น้ำได้โดยปลอดภัย

 “แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงร่วมปฏิบัติตามแผนดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชมอย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าระวังคุณภาพน้ำจำนวน 3 จุด ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 5-12  เม.ย. 67 ขอเน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ จ.เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย”  นายสมศักดิ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โยนรบ.ปลดล็อกม.112 กมธ.นิรโทษฯชง3ข้อเสนอทะลุฟ้า/ก.ก.ย้ำสิทธิประกันตัว

"กลุ่มทะลุฟ้า" บุกทำเนียบฯ-รัฐสภา ร้องรัฐบาลตรวจสาเหตุ  "บุ้ง" เสียชีวิตให้โปร่งใส จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง