สนอง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ งบกลาง68พุ่ง8แสนล.

ครม.ไฟเขียวงบปี 68 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มงบกลางอีก 1.52 แสนล้าน เข็น "ดิจิทัลวอลเล็ต"  คลังแจงยิบปมร้านสะดวกซื้อ ปัดเอื้อทุนใหญ่ โต้คนโวยล้วงเงิน ธ.ก.ส. ไม่รู้จริง ลั่นดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง "กฤษฎีกา" ยันรัฐบาลไม่ได้กู้เงิน ธ.ก.ส. ชี้ทำตามมาตรา 28 ได้

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท ตามที่สำนักงานงบประมาณเสนอ

เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่เสร็จ ถ้าเปลี่ยนม้ากลางศึกจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ตอบคำถามเรื่องนี้ คิดว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตชัดเจนไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ครม. ได้ให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยต่อเนื่องจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 ที่ให้ความเห็นชอบการทบทวนวงเงินงบฯ ปี 2568 โดยปรับกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นอีก 1.52700 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.752 ล้านล้านบาท ซึ่งงบ 152,700 แสนล้านบาท จะอยู่ในงบกลาง เป็นรายการใหม่ซึ่งจะตั้งเป็นชื่อโครงการเฉพาะสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งปกติงบกลางจะมีทั้งหมด 11 รายการ เมื่อเพิ่มอีก 1 รายการ รวมทั้งหมดเป็น 12 รายการ รวมงบกลางทั้งหมด 805,745 ล้านบาท

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า มั่นใจสูงว่าการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะสำเร็จอย่างแน่นอน ภายในไตรมาส 4/2567 โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ เพราะร้านค้าสะดวกซื้อสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ในส่วนของกระทรวงการคลังมีข้อสังเกตเรื่องนี้ แต่ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผล ด้วยความเป็นรัฐคงไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งปัจจุบันต่างจังหวัดมีร้านค้ารายย่อยที่เป็นร้านสะดวกซื้ออยู่จำนวนมากเช่นกัน และร้านค้าเหล่านี้รวมสินค้าอุปโภค บริโภค ทำให้เกิดการผลิต และการจ้างงาน

อย่างไรก็ดี ร้านค้าสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อรับชำระดิจิทัลวอลเล็ตจากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์แล้ว ในรอบแรกจะยังไม่สามารถไปขึ้นเป็นเงินสดได้ทันที และจะต้องนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิต เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในการนำสินค้ากลับมาขาย ทั้งนี้จะขึ้นเงินได้ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตรอบที่ 2 เป็นต้นไปแล้ว  โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน และคาดว่าเงินจะหมุนเวียนอยู่ในระบบ 1 ปี

ส่วนกรณีที่มีเสียงคัดค้านการใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งอาจเสี่ยงผิดกฎหมายได้นั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณ ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน แต่ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการสนับสนุนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และไปตั้งงบชดเชยในภายหลัง เช่น ตั้งงบคืน ธ.ก.ส. ปีละ 60,000-80,000  ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 3 ปี ชำระหนี้ส่วนนี้ได้ครบ

 “ทำไมจึงไม่เชื่อส่วนราชการ ที่ได้พิจารณากฎระเบียบเงื่อนไขแล้ว เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายทุกประการ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ และไม่มีการขยายเพดาน มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 32% จะยังคงเป็นไปตามกรอบ อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังกำลังดูอยู่ว่า จะมีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายอีกชั้นว่าสามารถทำได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเข้า ครม. และจบภายในเดือน เม.ย.” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.การคลังกล่าวว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอะไรที่ใหม่ ครั้งแรกของโลกในการทำนโยบายการคลัง ซึ่งรัฐบาลทำให้เห็นแล้วว่า คิดใหญ่ ทำยาก แต่ต้องทำ เพราะคนคิดเกมคือผู้ชนะ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือของรัฐในอนาคต สำหรับการกำหนดนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ภาวะซึม ตามทฤษฎีกบต้ม จำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามากระชาก เพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาให้ได้ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการอสังหาริมทรัพย์ การแก้หนี้ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดูในองค์รวม ดูเป็นเฉพาะมาตรการไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการเสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า แหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้มีการพูดถึงการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ซึ่งในการดำเนินโครงการจะมีการกำหนดรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติ โดยในงบประมาณ 172,300 ล้านบาท จะมีการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ซึ่งในหลักการสามารถทำได้ แต่จะต้องมีการทำรายละเอียดโครงการเสนออีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับเรื่องการเสนอโครงการโคแสนล้าน เป็นการดำเนินการตามมาตรา 28 ในรายละเอียดจะบอกถึงแหล่งเงินและเงื่อนไขในการทำโครงการ

ส่วนกรณีสหภาพ ธ.ก.ส. หากต้องการความเห็นจากสำนักงานกฤษฎีกาในเรื่องนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถแยกส่งไปยังสำนักงาน แต่จะต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ก่อนที่จะไปถึงกฤษฎีกา หรือการให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.ก็ได้ หรือหากเป็นความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องมีการนัดประชุม 2-3 ครั้ง เพื่อสอบถามรายละเอียดว่าสามารถดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ทำอย่างไรบ้าง ถึงจะวินิจฉัยได้ว่าจะเข้าตามเงื่อนไขของกฎหมาย ธ.ก.ส.หรือไม่

ทั้งนี้ หากจะมีการนำเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า และนำผลการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตครั้งสุดท้ายเข้าไปพิจารณา จะเป็นเพียงว่าอนุมัติในหลักการที่มาของแหล่งเงินว่ามีที่ไหนบ้างเท่านั้น ตามที่ได้ชี้แจงไป ซึ่งจะไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น

นายปกรณ์กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการด้านกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่านายกฯ ในฐานะประธาน ธ.ก.ส. หากอนุมัติงบประมาณเพื่อมาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ว่า การอนุมัติเงินเป็นเรื่องของบอร์ด ไม่ใช่เรื่องของตัวนายกฯ เพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหารธนาคารในระดับอาเซียน อดห่วงไม่ได้กับท่าทีรัฐบาลในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงขอเตือนไปยังรัฐบาลในความเสี่ยง 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้น  เรื่องแรกคือ การเตรียมตัวกับวิกฤตในอนาคต ซึ่งขณะนี้เกิดวิกฤตการสู้รบหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงหากเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงในประเทศขึ้นอีก หากการแจกเงิน 5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจของไทยไม่ได้เติบโตตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ ความเสี่ยงของประเทศไทยในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกหรือภูมิภาคที่อาจจะเกิดขึ้นจะทำได้ยาก ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้จากการเก็บภาษีราว 13.7% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งน้อยมาก ดังนั้น พูดง่ายๆ คือเราใช้จ่ายเกินตัว แต่มีรายได้ต่ำ

ส่วนความเสี่ยงเรื่องที่สอง คือการขาดงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ  อีกมากของรัฐบาล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและคนชั้นกลาง คนยากจน และการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หากเป้าหมายของการแจกเงิน 5 แสนล้านบาทไม่สำเร็จ รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลชุดหน้าจะไม่มีเงินมากพอที่จะดูแลคนยากจนและเกษตรกรได้ทั่วถึงอีกต่อไป สำหรับเสี่ยงเรื่องสุดท้ายคือการทุจริตคอร์รัปชัน ที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทยยังมีช่องว่างเยอะมาก เช่น การจัดทำซูเปอร์แอป หรือระบบบล็อกเชน เราตรวจสอบไม่ได้ว่าใครทำอะไร

"ชาวบ้านเขาฝากมาถามว่ารัฐบาลกำหนดว่าคนที่ได้รับจากงานก็ต้องมีรายได้ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือนถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการแจกเงิน ตัวเลขนี้มาจากไหน เราไม่เคยได้รับการอธิบายจากรัฐบาลเลย แล้วไม่รู้จะเปลี่ยนต่อไปอีกหรือไม่ ทำไมคนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาท ต้องมารับใช้หนี้" นายจุลพงศ์ระบุ

เมื่อถามว่า โครงการนี้เอื้อนายทุนหรือไม่ นายจุลพงศ์กล่าวว่า ไม่ขอพูดว่าเอื้อใคร เราควรจะดูร้านค้าขนาดเล็ก ตนผ่านร้านค้าขนาดเล็ก เห็นมีคิวอาร์โค้ดห้อยอยู่ แต่จะไม่เห็นแบบนี้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้

'จิราพร' คาดได้เป็นเสนาบดีเพราะ'เศรษฐา' ต้องการพลังคนรุ่นใหม่!

'น้ำ จิราพร' เผยได้เป็นรัฐมนตรีป้ายแดงเพราะนายกฯ หวังใช้พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนงาน รับ อายุน้อยสุดในครม. ตื่นเต้นแต่ไม่ตระหนกพร้อมทำทุกหน้าที่