กกต.อวยคณะก้าวหน้า ‘ธีรยุทธ’ชงปมเลือกสว.

“อิทธิพร” เปิดติวเข้มเลือกตั้งสภาสูง ย้ำอย่าพยายามฝ่าฝืนกฎหมายเพราะโทษหนัก อุ้มคณะก้าวหน้ารณรงค์ชวนเลือก สว. บอกควรสนับสนุน! ชี้คอนเซปต์ 1 ครอบครัว 1 สว. ไม่สุ่มเสี่ยง “ธีรยุทธ” มาแล้ว ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยเรื่องการให้คัดเลือกกันเองสุ่มเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567    สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระหว่างวันที่ 19-21 เม.ย.   โดยมีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน   กกต. เป็นประธาน เพื่อชี้แจงให้ตัวแทน  กกต.ประจำจังหวัด หรือรอง ผอ.กกต.จังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานจัดการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วม และพนักงานการเลือกตั้งที่จะจัดการเลือก สว. เป็นการภายใน

นายอิทธิพรให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงความคืบหน้าของระเบียบและประกาศ  กกต.เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. ว่าส่วนใหญ่เสร็จแล้ว โดยมี 1 ฉบับอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ตั้งใจว่าจะส่งไปในวันที่ 23 เม.ย.นี้ ซึ่งช่วงเช้าที่ผ่านมา กกต.ได้จัดอบรมชี้แจงให้ตัวแทน กกต.ประจำจังหวัดและผู้เกี่ยวข้อง โดยขอให้ทุกคนใช้ความพยายามในการศึกษากฎหมาย  ระเบียบ ประกาศต่างๆ รวมถึงหลักต่างๆ   ให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้ถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานต่อไป ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งเมื่อมีการนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่อาจจะยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน 

เมื่อถามว่า เราจะมีมาตรการป้องกันการฮั้วกันของผู้สมัครที่หลายฝ่ายมีความกังวลนั้นอย่างไร นายอิทธิพรกล่าวว่า  อย่าฝ่าฝืนกฎหมายกันได้ก็อย่าฝ่าฝืนเลย  ส่วนจะป้องกันอะไรบ้างนั้น ตามกลไกกฎหมายคือการกำหนดค่ารับสมัครในระดับที่ไม่ได้ต่ำหรือสูงเกินไปจะเป็นปัจจัยในการจะฮั้วกันหรือไม่ ประการที่สองคือจัดให้มีการเลือกแบบไขว้กันจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงฮั้วกันยาก และ  กกต.ยังมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ตั้งขึ้นจะปฏิบัติหน้าที่เลือก สว.ด้วยเช่นกัน หน้าที่หลักคือตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดให้เลือกว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้งมีชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งเป็นตำรวจที่คุ้นเคยพื้นที่ดี จะเป็นการช่วยสอดส่องการฝ่าฝืนกฎหมาย

“ถ้าจะมาสมัครเป็นผู้แทนประชาชน ในจิตสำนึกก็พยายามอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ให้เริ่มต้นจากการเป็นผู้สมัครที่ดีต้องไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย”  นายอิทธิพรกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีคณะก้าวหน้ารณรงค์ให้ประชาชนลงสมัครเข้าเลือก สว. เข้าข่ายต้องตักเตือนหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เท่าที่ทราบข่าว ไม่คิดว่าถึงขั้นสุ่มเสี่ยงในขณะนี้ เพราะการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในด้านต่างๆ    เป็นสิ่งที่ตนเองก็ได้รณรงค์มาตลอด ซึ่งหากมีการสมัครเยอะ การแข่งขันก็จะยิ่งเยอะ และทำให้การแข่งขันมีคุณค่า ซึ่งการเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสิ่งที่น่าจะสนับสนุนด้วยซ้ำไป แต่เตือนว่า อะไรก็อย่าไปฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าสงสัยอะไรแนะนำให้มาคุยกับ กกต.ก่อนในทุกๆ เรื่อง ซึ่งคำตอบของเราอาจจะทำให้การกระทำที่สุ่มเสี่ยงไม่เกิดขึ้น 

ถามย้ำว่า คณะก้าวหน้าที่ชูนโยบาย 1 ครอบครัว 1 สว. จะทำให้ผิดเจตนารมณ์ของการเลือก สว.หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า เบื้องต้น 1 ครอบครัว 1 สว. เป็นการรณรงค์ให้สมัคร อาจเป็นคอนเซปต์ที่ฟังง่าย ให้คนฉุกคิดว่าเรื่องนี้ไม่ถึงขั้นสุ่มเสี่ยง ซึ่งถ้าสุ่มเสี่ยงก็ต้องรับฟังกรอบความเห็นของสำนักงาน ขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ชัด ทั้งนี้ หากมีผู้ตอบรับแคมเปญแล้วมีผู้สมัครหลักแสนคนนั้น ทาง กกต.ต้องสามารถรับมือได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่แรกว่าจะมีผู้สมัครหลักแสนคน และ กกต.ก็มีแผน 1 แผน 2

เมื่อถามว่า หากมีการรับจ้างสมัครเข้าไปเลือกผู้สมัคร สว.คนอื่น นายอิทธิพร กล่าวว่า เรื่องนี้มีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว กกต.ก็ได้หารือกันถึงเรื่องนี้ ถ้าทำจริงก็ถือว่ามีความผิด ทั้งจำทั้งปรับและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ถ้าตั้งใจจะฮั้วอย่ามั่นใจว่าจะรอด ไม่มีใครจับได้ เพราะสมัยนี้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เยอะ ช่องทางการตรวจสอบก็เยอะ ดังนั้นอย่าเสี่ยง

ถามว่า แม้เงื่อนไขจะระบุว่าผู้สมัครไม่ให้ลงสมัครในนามพรรคการเมืองหรือเป็นสมาชิกพรรค แต่ในทางปฏิบัติพรรคอาจมีคนมาสมัคร นายอิทธิพรกล่าวว่า ถ้าทำแล้วเรามีหลักฐานก็ต้องรับผิด เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โทษของการฝ่าฝืนมีทั้งจำทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ฉะนั้นอย่าเสี่ยง ถ้าไม่แน่ใจสอบถามได้

เมื่อถามย้ำว่า ความผิดถ้าทำจะผิดเฉพาะคนสมัครหรือพรรคการเมืองด้วย นายอิทธิพรกล่าวว่า ผู้สมัครและมีคำว่าผู้ใดระบุไว้ด้วย คือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง กรรมการบริหารพรรค ผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง สส. สมาชิกท้องถิ่น

ถามถึงกรณีมีผู้ฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้านการสมัคร สว. จะยื้อเวลาการทำหน้าที่ของ สว.ชุดปัจจุบันหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เมื่อเราจัดการเลือกระดับประเทศเสร็จแล้ว กฎหมายก็ให้รอ 5 วัน เผื่อมีการยื่นร้องเรียน และถ้าร้องเรียนก็ต้องร้องภายใน 3 วัน หลังจากวันที่เลือก ซึ่ง กกต.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 วัน ส่วน กกต.จะมีการสั่งให้เลือกในวันไหนนั้น กรณีที่มีการเลือกซ่อม โดยหลักก็ต้องทำให้เร็ว เพราะฉะนั้นจะไม่ทำอะไรที่เป็นการขวาง

“เวลานี้ผมไม่คิดว่าจะมีการทำให้เลื่อน การเลื่อนต้องมีเหตุตามกฎหมายและชัดเจน ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่อยากจะสันนิษฐานว่าเลื่อนออกไปเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ หากมีพระราชกฤษฎีกา เราก็ต้องทำตามตารางของเรา เราไม่ได้คิดเป็นอื่น” นายอิทธิพรกล่าว 

วันเดียวกัน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร    ทนายความอิสระ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน หรือผู้แทน เพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 40, 41 และมาตรา 42  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107   หรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนของการคัดเลือกกันเองของ สว.

เมื่อถามว่า กระบวนการเลือก สว.ควรชะลอไว้ก่อน รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับที่มาของ สว.ให้แล้วเสร็จก่อนหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า ได้เร่งทำคำร้องขึ้นเพื่อหวังเป็นกระบวนการป้องกันความเสียหายต่อประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก   ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อมีข้อบกพร่องหรือได้บัญญัติไว้ อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ การป้องกันเสียก่อนจะเซฟบ้านเมืองไว้ได้ หากขยับไปอีกสักนิดเพื่อรับคำวินิจฉัยก็คงจะดี

ถามอีกว่า จะเป็นการช่วยยื้อเวลาให้ สว.ชุดนี้อยู่ต่อหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า  ไม่ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ประชาชนหรือปวงชนชาวไทยมีสิทธิ์เมื่อพบความไม่ชอบธรรม อำนาจอย่างเต็มที่ในการเสนอเรื่องต่อหน่วยงานรัฐ ทุกหน่วยงาน และหน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงสะท้อนปัญหา ซึ่งก็เป็นเพียงคนหนึ่งที่เสนอความเห็น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงควรวินิจฉัย

“หากคำร้องมีความน่าเชื่อถือเพียงพอและมีความน่าจะเป็นได้ว่าบทบัญญัติ มาตรา 40, 41 และ 42 ไม่ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันการสมยอมกันไว้จริง ก็ควรแก้ไขกฎหมายเสียก่อน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายก็จะเป็นต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่วมกัน เพราะการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ สว.ก็อยู่ด้วย หากจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอน สว.ก็ควรต้องอยู่ จึงไม่ได้คิดว่าจะมาช่วยเพื่อให้ สว.ได้อยู่ทำงานต่อหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ตราบใดที่ยังไม่มี   สว.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ ชุดเดิมก็คงต้องรั้งการทำงานไว้อยู่” นายธีรยุทธระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขา กกต.โยนบาปรัฐธรรมนูญ! บอกการคัดเลือก สว.แก้ไขไม่ได้

'เลขา กกต.' มองคงแก้อะไรไม่ได้ แม้ถูกทักท้วง รูปแบบ’คัดเลือก สว. เหตุ รธน.กำหนดไว้ ชี้ไทม์ไลน์ ไม่เหมือน เลือกตั้ง สส. ยันมีมาตรการป้องกันการฮั้วทุกพื้นที่

หน้าที่และอำนาจของ สว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่สาระน่ารู้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา 20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทย ไปพร้อมกัน