‘รทสช.’วอน! อย่าเหมาเข่ง นิรโทษม.112

ไทยโพสต์ ๐ "ธนกร" เรียกร้อง กมธ.วิสามัญศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่นับความผิด ม.110, 112 เป็นแรงจูงใจการเมือง อย่าเหมาเข่ง ชี้กระทบความมั่นคงของชาติ ไม่เช่นนั้นจะคัดค้านถึงที่สุด "ราเมศ" ย้ำหลักการประชาธิปัตย์ แก้ไขเพิ่มเติมจะต้องไม่กระทบกับหมวด 1 และ 2

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สรุปให้ชัดเจนเกี่ยวกับคำนิยามเรื่อง “แรงจูงใจทางการเมือง” และความผิด 25 ฐานที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองใดว่าเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง ขอให้พิจารณาไม่รวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวกับการประทุษร้ายหมิ่นประมาทฯ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท  ขอให้ กมธ. อนุ กมธ.พิจารณาให้รอบคอบ เพราะความผิดทั้ง 2 มาตรา เป็นความผิดร้ายแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐซึ่งประมุขของประเทศ ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้

ทั้งนี้ แม้ว่าบางพรรคการเมืองได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวมความผิดเกี่ยวกับมาตราดังกล่าวให้ได้รับการนิรโทษกรรมต่อสภามาแล้วก็ตาม  แต่ตนขอย้ำในหลักการกฎหมาย ว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอคัดค้านจนถึงที่สุด เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

"ขอเรียกร้องไปยัง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พิจารณาตามหลักกฎหมายให้ดี ให้ถูกต้อง รอบคอบ เพื่อสรุปกำหนดนิยามเรื่องแรงจูงใจทางการเมือง ต้องไม่เหมารวมผู้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 110 และ 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม แต่หากกลับกันมีการเหมารวมยกเข่ง เชื่อว่าเรื่องนี้จะทำให้คนทั้งประเทศที่รักเทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน รวมทั้งผมด้วย" นายธนกรระบุ

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณีของรัฐสภาที่ขอให้วินิจฉัยว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น รัฐสภาจะมีอำนาจในการลงมติพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อนว่า การทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลักการของพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากกว่าฉบับปัจจุบัน และการแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องไม่กระทบกับหมวด 1 และ 2

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการถกเถียงเรื่องการทำประชามติว่าต้องดำเนินการกี่ครั้ง ซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลประกาศต่อประชาชนว่าจะทำอย่างเร่งด่วน แต่รัฐบาลพยายามถ่วงเวลามานานแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 (8) บัญญัติว่า หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 15 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และถ้าผลการทำประชามติระบุว่าเห็นชอบด้วยกับการแก้ไข จึงจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่เสนอได้ อีกทั้งหลังจากการจัดตั้งส.ส.ร.แล้ว เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จสิ้น ก็ต้องไปถามประชาชนด้วยการทำประชามติอีกครั้ง จึงถือว่าสมบูรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งหากเพิ่มการถามประชามติก่อนดำเนินการในรัฐสภา ก็จะไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ

นายราเมศกล่าวอีกว่า ขณะนี้บางฝ่ายพยายามดึงศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นคู่กรณีด้วยในทางการเมืองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่หากไปศึกษาคำวินิจฉัยอย่างละเอียด จะเห็นว่าคำวินิจฉัยไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่อุปสรรคอยู่ที่ฝ่ายปฏิบัติที่ไม่กล้าในการตัดสินใจ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันหลักการเดิม คือรัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราจึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลรีบตัดสินใจ   อย่ายื้อเวลา แต่ถ้าคิดว่าระบอบประชาธิปไตยคือเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ รัฐบาลก็ยื้อเวลาต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง