ล่าชื่อค้านแก้กัญชา เอกชนชงใช้กม.คุมดีกว่า/อนุทินย้ำต้องถกเหตุผล

"นายกฯ" ยืนยัน "กฤษฎา" พ้นตำแหน่ง "รมช.คลัง" แล้ว รอคุย "รวมไทยสร้างชาติ" หาคนแทน "ธนกร" ชี้เลือกใครไปนั่งเก้าอี้คลังอยู่ที่ กก.บห. ยัน "รทสช." ไม่มีแตกแยกหลัง "สุพัฒนพงษ์" ลาออก "อนุทิน" ลั่นไร้ขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาลปมกัญชากลับเป็นยาเสพติด ระบุถ้าเปลี่ยนแปลงต้องมีเหตุผล รอหารือ "สมศักดิ์" ในวงประชุม "ร้านกัญชา" เล็งล่า 3 หมื่นชื่อ จี้รัฐบาลแจงความชัดเจน แนะบริหารจัดการดีเก็บภาษีได้มหาศาล  "ปชป." เตือนขึ้นค่าแรง 400 บาทฟังไตรภาคี

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 พ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.การคลัง) ของนายกฤษฎา จีนะวิจารณะว่า ถือว่ามีผลเรียบร้อยแล้ว

ถามว่าจะตั้งเข้ามาใหม่หรือจะรอหารือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)ให้เสนอมาก่อน นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีโอกาสได้คุยกับพรรค รทสช. แต่เชื่อว่าที่จ.เพชรบุรี ที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จะมีการพูดคุยกัน ขอให้เกิดขึ้นก่อนแล้วกัน

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงการหาคนมาแทนตำแหน่ง รมช.การคลังของนายกฤษฎาว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรค, หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค จะพิจารณาตามความเหมาะสม

นายธนกรยังชี้แจงถึงข่าวพรรคเกิดรอยร้าวจนนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรค รทสช. ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคว่า ความสัมพันธ์ภายในพรรคยังเป็นหนึ่งเดียวเหนียวแน่น เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ โดยการนำของหัวหน้าพรรค นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นแกนนำและเลขาธิการพรรคซึ่งเข้าใจคนรุ่นใหม่ และประสานความร่วมมือของคนทุกรุ่น ให้ทำงานยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาก่อนเรื่องส่วนตัว

ถามถึงข่าวภายในพรรคแบ่งเป็นก๊กเป็นกลุ่มจริงหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า  เรื่องการพูดคุยหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นเรื่องปกติ ที่จะมีกลุ่มที่สนิทชิดเชื้อกันมานานและทำงานในพื้นที่เดียวกัน แต่ภายในพรรคยืนยันไม่มีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าแบ่งกลุ่ม

"ที่มีข่าวพรรคแตกไม่เป็นความจริง เพราะในวันที่ 12 พ.ค.นี้ พรรค รทสช.เตรียมจัดสัมมนาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค เพื่อกำชับการทำงานในพื้นที่ การทำงานในสภา รวมถึงในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่ดูแลกระทรวงต่างๆ  เพื่อให้พรรคสามารถเป็นที่พึ่งและแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ เราเดินหน้าทำงานการเมืองอย่างมืออาชีพ ทำทุกบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ไม่มีขัดแย้งแตกแยกอย่างที่เป็นข่าว" นายธนกรกล่าว

รองหัวหน้าพรรค รทสช.กล่าวว่า  สมาชิกและ สส.ทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าต่อยอดงานจากรัฐบาลชุดที่แล้ว สร้างและพัฒนางานใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เรายึดมั่น ทำแล้ว ทำอยู่ และทำต่อ หวังจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ที่ จ.ภูเก็ต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มที่สนับสนุนกัญชาออกมาคัดค้านรัฐบาลจะนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดว่า คนกลุ่มนี้พยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง เพราะลงทุนธุรกิจมากพอสมควร ถ้าการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต้องให้โอกาสพวกเขาชี้แจงข้อมูลไว้ตัดสินใจ เป็นเรื่องปกติ

หนูลั่นไม่ขัดแย้งปมกัญชา

นายอนุทินกล่าวว่า กลุ่มที่เห็นด้วยกับกัญชาส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีข้อมูล ทำการศึกษาและไปรวมกลุ่มกับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ มาร่วมพัฒนากัญชาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย

"ความขัดแย้งไม่ควรจะมี นโยบายกัญชาอยู่ในนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในทางปฏิบัติก็อยู่ในกรอบมาตลอด ทุกอย่างต้องมีการควบคุมตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข" นายอนุทินกล่าว

ถามว่า ได้พูดคุยกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขแล้วหรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างมีขั้นตอน จะเปลี่ยนกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ เราต้องมีข้อมูลใหม่ๆ

"ตอนที่เราปลดกัญชาออกจากยาเสพติด นายสมศักดิ์กับผมอยู่ในกรรมการชุดนี้ มีมติในที่ประชุมเป็นเอกสาร ไม่ใช่มีมติเสียงข้างมาก-ข้างน้อย ผมก็ได้เรียนกับนายสมศักดิ์ไปว่าคงต้องรื้อรายงานการประชุม และมาดูว่าทำไมวันนั้นตัวท่านเอง ผมและกรรมการอีกหลายคนถอดกัญชาออกจากยาเสพติด" นายอนุทินกล่าว

ซักว่านายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ลักษณะที่ว่าอาจจะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวว่า นั่นคือพาดหัวข่าว แต่ในเนื้อข่าวไม่ใช่ ได้คุยกับนายสมศักดิ์แล้ว มีหลายเรื่องที่เห็นตรงกันและไม่ตรงกัน ไม่ได้หมายความว่าขัดแย้งกัน ท่านเข้ามาเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขได้สัปดาห์เดียว เรื่องกัญชาตนทำมา 4 ปีในสมัยรัฐบาลที่แล้ว

"มั่นใจว่าวินาทีนี้ผมน่าจะมีข้อมูลที่ต้องให้นายสมศักดิ์นำไปประกอบพิจารณา ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ดีและมีประโยชน์ ไม่ได้ทำด้วยทิฐิ นโยบายของพรรคภูมิใจไทยใครจะมายุ่งเกี่ยวไม่ได้ก็ไม่ใช่ ต้องดูประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก" หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว

เมื่อถามว่า นายกฯ ระบุทำไมคิดว่าเหตุการณ์นี้จะกระทบกับพรรค ภท. เพราะเรายึดประโยชน์ของประชาชน   นายอนุทินกล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองต้องมองประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก พรรคการเมืองมีนายคือประชาชน นายกฯ พูดไม่ผิด เราต้องมองประโยชน์ประชาชน แต่เรื่องนโยบายของแต่ละพรรค เราอยู่รัฐบาลเดียวกัน ต้องพยายามผลักดันเกื้อกูลกันให้มากที่สุด ให้นโยบายของแต่ละพรรคไปถึงฝั่งฝันได้ ก็จะวินวินกับทุกคน พรรคภูมิใจไทยก็มีนโยบายกัญชา ตอนที่มาร่วมรัฐบาลถึงได้ถูกบรรจุไว้ในนั้น หลายคนมีความเห็นไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราอยู่ร่วมกันแล้วต้องเคารพนโยบายของแต่ละพรรค พรรคภูมิใจไทยก็ทำมาตลอด

ซักว่าเรื่องนี้จะสร้างความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีหรอกครับ เป็นเรื่องความคิดฐานข้อมูลไม่เท่ากัน ใครมีข้อมูลมากกว่าต้องทำให้เกิดความเข้าใจ จะนำกัญชาไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ ถ้าอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากประกาศปัจจุบันต้องเข้าคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม เป็นประธาน

"หากไปถึงจุดนั้น ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการฯ หากฟังข้อมูลในที่ประชุมนำเสนอไม่ครบ ก็อาจจะต้องชี้แจง แต่ถ้าไปถึงขั้นลงคะแนนเสียง ทุกฝ่ายต้องยอมรับในมติของคณะกรรมการฯ  พรรคภูมิใจไทยพูดได้ชัดเจนว่าเราจะยอมรับในมติของคณะกรรมการฯ แต่ขอให้เราได้ทำงานของเราก่อน" นายอนุทินกล่าว

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ขอบคุณนายอนุทินหลังให้สัมภาษณ์ถึงการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล  โดยนายกฯ ระบุว่า “ต้องคำนึงถึงทุกฝ่าย ต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียด รัฐบาลเราเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งครับ ขอบคุณท่านรองนายกฯ อนุทิน ที่ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอด”

เอกชนล่า 3 หมื่นชื่อจี้ รบ.

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตั้งแต่นายเศรษฐานำจัดตั้งรัฐบาลปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่สุด ที่รัฐบาลไม่เพียงประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ยังบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนิน 3 มาตรการสำคัญอย่างแข็งขัน ได้แก่ การปิดชายแดน สกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้ลักลอบนำเข้าประเทศ การยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดและการเผาทำลายยาเสพติดของกลางเพื่อป้องกันการนำออกจำหน่ายหมุนเวียน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายกฯ ยังประชุมการแก้ไขปัญหายาเสพติดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มอบนโยบายเป็นความคืบหน้าล่าสุดอีกว่าให้แก้ไขกฎกระทรวงฯ ปรับลดปริมาณที่ให้สันนิษฐานว่ามียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อเสพลงเหลือ 1 เม็ด ตลอดจนให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 โดยเร่งออกกฎกระทรวงฯ อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น  และที่สำคัญคือ ให้ยกระดับประสิทธิภาพงานบําบัดยาเสพติด ทั้งในศูนย์บำบัด เรือนจํา และระบบคุมประพฤติ รวมถึงให้ใช้ค่ายทหารหนึ่งแห่งเป็นต้นแบบนำร่องทดลองบำบัด ก่อนนำผลมาพิจารณาการใช้ค่ายทหาร หรือฝ่ายปกครองตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

“ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อที่ลงพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อประสานกับ สส.เขต พบว่าหนึ่งปัญหาที่ประชาชนกังวลมากที่สุดคือยาเสพติด โดยได้รับเสียงสะท้อนที่ดีจำนวนมากต่อทิศทางของรัฐบาลที่ประกาศให้ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ จึงขอเป็นหนึ่งเสียงร่วมกับเพื่อน สส.พรรคเพื่อไทย แสดงความขอบคุณ และส่งความหวังต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามข้อสั่งการนายกฯ เศรษฐา คืบหน้าภายใน 90 วัน เพื่อคืนอนาคตที่ดีให้ลูกหลานพี่น้องประชาชนทุกคน” น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเจตนิพิฐ มุสิเกตุ เจ้าของร้านจำหน่ายกัญชา " K Cannabis Store" ซึ่งตั้ง อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงกรณีรัฐบาลให้ สธ.แก้ไขประกาศกระทรวงโดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้นว่า ร้านค้าของตนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาหลายรูปแบบ มีใบอนุญาตทางการค้าถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อได้ยินว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง งงและตกใจมาก ไม่คิดว่ารัฐบาลจะมีแนวคิดแบบนี้

"ที่ตัดสินใจปลูกและทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา เพราะรัฐบาลสมัยนั้นส่งเสริม โดยมีนายอนุทินผลักดันจนสำเร็จ แต่รัฐบาลสมัยนี้กลับจะนำกัญชาไปเป็นยาเสพติดอีก ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองมากกว่า โดยทางกลุ่มกัญชาเตรียมรวบรวมรายชื่อ 30,000 รายชื่อ ขอความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรี" นายเจตนิพิฐกล่าว

เจ้าของร้านกัญชารายนี้ระบุว่า รู้สึกกังวลกับธุรกิจกัญชาที่ลงทุนไปนับสิบล้านอย่างมาก เพราะร้านของตนเองปลูกกัญชา และแปรรูป ขายทั้งช่อดอก ผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลายรายการ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ช่วงนี้ต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อน เพราะยังมีความไม่ชัดในเรื่องนี้ จึงอยากให้รัฐบาลประกาศความชัดเจนโดยเร็วว่าขอบเขตของกัญชาสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน และหากจะยกเลิกทั้งหมด ต้องเยียวยาผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง เพราะมีการลงทุนเยอะ

"อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน สิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ถ้าหากมีการบริหารจัดการดีๆ สามารถเก็บภาษีเข้ารัฐได้มหาศาล แต่ไม่อยากให้กลับไปเป็นยาเสพติด เพราะกัญชามีประโชน์มากกว่าโทษ ที่อ้างว่าการเสพกัญชาทำให้อาละวาดคลุ้มคลั่งไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง ที่คลุ้มคลั่งน่าจะเป็นสารเสพติดชนิดอื่นมากกว่า เรื่องนี้ผมสามารถยืนยันได้เพราะใช้กัญชามารักษาอาการนอนหลับไม่หลับ กินยาแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่หาย แต่ใช้กัญาแล้วหาย ไม่อยากให้กัญชาไทยถอยหลังลงคลอง เพราะต่างประเทศก็ปลดล็อกกันหมดแล้ว แม้แต่ต่างประเทศก็ให้ความสนใจกัญชาไทยอย่างมากอีกด้วย" เจ้าของร้านกัญชารายนี้ระบุ

ขึ้นค่าแรงยึดมติไตรภาคี

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีภาคเอกชนออกมาคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ว่า การพิจารณาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะประชุมร่วมกันปีหนึ่งหลายครั้ง ประเด็นดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่นโยบายของพรรค ภท.เพียงอย่างเดียว  ฉะนั้นเราก็ดำเนินการตามนั้น และคณะกรรมการไตรภาคีทั้งสามฝ่ายก็รับทราบนโยบายของรัฐบาล หากสุดท้ายโหวตเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น แต่เบื้องต้นเขาโหวตเห็นชอบมาแล้วครั้งหนึ่ง (ขึ้นค่าแรง 400 บาท โรงแรมพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง 10 จังหวัด) แต่หลังจากนี้ต้องคุยกันในเรื่องรายละเอียด

ถามย้ำว่า วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศหรือไม่  นายอนุทินระบุว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมช.แรงงาน ก็ให้การยืนยันมาว่าต้องทำทุกอย่างสุดความสามารถ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้กับประชาชน

ซักว่าหากขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะทำให้สินค้าขึ้นราคาตามด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกฝ่ายก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่ายเอาไว้ เขาถึงให้มีคณะกรรมการไตรภาคี ฉะนั้นควรเอาเรื่องของความจำเป็นออกมา ซึ่งในส่วนของกระทรวงก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถึงอย่างไรพยายามทำความเข้าใจเพื่อให้เขาเห็นถึงความจำเป็น แต่ถ้าหากคณะกรรมการไตรภาคีว่าอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งหากไม่เห็นด้วยก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะมันเป็นกติกาและระเบียบอยู่แล้ว

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า รัฐบาลประกาศชัดเจนว่ามีนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.2567 ซึ่งต้องมาดูรายละเอียดอยู่มากพอสมควร เราเข้าใจทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจะมีการปรับขึ้นค่าแรง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายจึงมีเจตนารมณ์ที่กำหนดกลไกให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือที่เรียกว่าไตรภาคี จะมีภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้แทนรัฐบาล ต้องพูดคุยกันเพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ มาตรฐานการครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และข้อเท็จจริงอื่นๆ นำมาร่วมในการพิจารณา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาขึ้นค่าแรง

"ขอย้ำว่าสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ให้เป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ได้พิจารณาแล้ว แต่เรื่องนี้ควรต้องแยกการพิจารณาออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดด้วย เพราะข้อเท็จจริงในเรื่องการขึ้นค่าแรงไม่เหมือนกันทั้งหมด เมื่อได้ความเหมาะสมแล้วจะนำเสนอ ครม. นี่คือขั้นตอนที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกลไกการพิจารณา" นายราเมศกล่าว

โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า พรรคการเมืองและรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่การกำหนดเป็นนโยบายพรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงเท่านั้นเท่านี้ ตนอยากถาม กกต.ว่าเป็นนโยบายที่ทำได้จริงถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือ สิ่งที่น่าห่วงคือรัฐบาลบริหารราชการโดยไม่สนใจหลักเกณฑ์กฎหมาย รัฐบาลประกาศล่วงหน้าแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ประชาชนก็สับสน สุดท้ายถ้าไปคนละทางกับไตรภาคี ใครจะรับผิดชอบ รัฐบาลก็โยนบาปให้คนอื่นอีก

"อย่าทำการเมืองแบบเอาแต่ตัวเองได้ ควรคิดให้ละเอียดรอบคอบก่อน คิดให้ครบ รัฐบาลต้องคิดควบคู่กันไปคือเรื่องสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ก็จะเพิ่มมูลค่าทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลยังคิดจะทำโดยไม่สนใจใยดีต่อกฎหมาย ป้ายหน้าก็เจอกันที่ ป.ป.ช.ต่อไป" โฆษกพรรค ปชป.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มฮั้วยึดเก้าอี้สว. กกต.จับตาพวกไร้คะแนน-ท็อปไฟว์/‘ทักษิณ’ส่ง‘สมชาย’ดันนั่งปธ.

ประเดิมสมัคร สว.วันแรก มีทั้งพื้นที่คึกคักและกร่อย สะพัด! กทม.เริ่มมีเรื่องฮั้ว รวมกลุ่ม “กกต.” จับตาพวกไร้คะแนนและบรรดาท็อปไฟว์

ขาสั่น 'เศรษฐา' รับกังวล ปมถูกยื่นถอดถอน

สาธารณรัฐอิตาลี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 40 วุฒิสมาชิก ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ตนคงไม่ไปก้าวล่วงกับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเป็น 50 ต่อ 50 หรือ 40 ต่อ 60 และเมื่อ