เคาะแผนคลังแจกหมื่น ปลุกศก.ฟรีวีซ่า93ปท.

ไร้เซอร์ไพรส์กระตุ้นเศรษฐกิจ “เศรษฐา” โปรยยาหอม  “เศรษฐพุฒิ” บอกแสดงความเห็นสร้างสรรค์ เชื่อทุกคนหวังดีกับประเทศ ครม.เคาะเพิ่มวงเงินรายจ่ายปี 2567 อีก 1.22 แสนล้านบาทรองรับแจกเงินหมื่น “จุลพันธ์” แพลมสั่งสำนักงบฯ ส่องเงินนอกงบประมาณหวังล้วงมาใช้ “ชัย” เผยที่ประชุมเห็นชอบแผน กต.เรื่องวีซ่าทำไทยเสียรายได้แค่ปีละ 1.2 หมื่นล้าน

เมื่อวันอังคารที่ 28 พ.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุม ว่า มีการพูดคุยกันในวงกว้าง ท่านเองก็ตอบรับการถูกเชิญเข้ามาด้วยดี และมีการให้คอมเมนต์สร้างสรรค์ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ได้แถลงไปแล้ว

“เชื่อว่าทุกคนมีความหวังดีกับประเทศชาติ ส่วนวิธีการที่เราจะมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หรือกอบกู้เศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่เราต้องมาพูดคุยกัน” นายเศรษฐาระบุ

เมื่อถามว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่นายพิชัยจะทำตัวเลขให้ได้ 2.5% ภายในสิ้นปีนี้ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายเศรษฐากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เพราะเรื่องของงบประมาณที่ยังไม่ได้ออกไปใช้เลย และตอนนี้จะเร่งจ่าย โดยวาระแรกที่เรามีการพูดคุยกันใน ครม.เศรษฐกิจ เป็นเรื่องการเร่งจ่ายเงินงบประมาณปี 2567 ออกไป

เมื่อถามว่า ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจที่นำปัญหาขึ้นมาพูดคุย และมีมาตรการฟื้นเศรษฐกิจในหลายเรื่อง ผู้ว่าฯ ธปท.มีปฏิกิริยาอ่อนลงหรือไม่ หลังที่ค้านมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ กล่าวว่า เรื่องปฏิกิริยาอ่อนหรือแข็ง หรือเห็นด้วยไม่เห็นด้วย คิดว่าทุกท่านที่เข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ ธปท. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เรามาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน เราอยากทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้น และเรื่องของเงินดิจิทัลก็เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่เรามีการพูดคุยกัน ซึ่งทุกคนตอบรับด้วยความมีเหตุมีผลซึ่งกันและกัน

นายเศรษฐาแถลงภายหลังการประชุม ครม.อีกครั้งว่า ครม.เห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงการใช้เงินนอกงบประมาณว่า ได้หารืออย่างหลากหลายในที่ประชุม ครม. เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแต่พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะเม็ดเงินนอกงบประมาณมีจำนวนมาก ซึ่งสำนักงบประมาณได้ชี้แจงว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แต่ก็พร้อมรับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อดูว่าในอนาคตจะสามารถดึงเงินนอกงบประมาณมาช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

 “เงินนอกงบประมาณนั้น ยังไม่ได้มีการชี้เป้าชัดเจนว่าจะไปดูส่วนไหนเป็นพิเศษ แต่ก็รู้กันดีว่าเงินนอกงบประมาณมีเป็นหลักล้านล้านบาท มันค่อนข้างเยอะ แต่ในรายละเอียดของเงินนอกงบประมาณนี้บางส่วนก็เป็นกองทุน หรืออะไรที่ไปแตะไม่ได้ แต่ก็มีส่วนที่บริหารจัดการได้ หลายๆ ที่ หลายๆ ส่วนรวมกันก็หลักหมื่นล้านบาท ตรงนี้ถ้าสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณได้” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง (ปี 2568-2570) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเห็นชอบกรอบการคลังระยะปานกลางที่มีการปรับปรุงใหม่หลังรัฐบาลจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยเป็นการขาดดุลเพิ่มเติมทั้งหมด ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะนั้น จะเพิ่มขึ้นราว 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 63-64% ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยนั้นไม่ได้น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

 “ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มเล็กน้อย ประมาณ 0.5% ดีดขึ้นมานิดหน่อย ไม่ได้เป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ตัวเลขทั้งหมดที่นำเสนอ ครม.นั้นก็อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ทุกอย่างอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งหมด” นายจุลพันธ์กล่าว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571)   เพื่อปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท รองรับโอนเงิน 1 หมื่นบาท ทั้งนี้ แผนการคลังระยะปานกลางยังได้ประมาณตัวเลขเศรษฐกิจไว้ว่า ปี 2567 คาดว่าจีดีพีขยายตัว 2-3%,  ปี 2568 จีดีพีขยายตัว 2.5-3.5%, ปี 2569 และ 2570 คาดว่าจีดีพีขยายตัว  2.7-3.7% และในปี 2571 และ 2572 คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5-3.5%

“ยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาล ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 จำนวน 11.131 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62.4% ของจีดีพี ในปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ  65.7%, ปี 2568 มีหนี้ 67.9%, ปี 2569 มีหนี้  68.8%, ปี 2570 มีหนี้ 68.9% และปี 2571 มีหนี้ 68.6%”

นายชัยยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการในการดำเนินมาตรการและแนวทางการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้ง 3 ระยะ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ คือ 1.มาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย 5 มาตรการ เริ่มใช้เดือน มิ.ย.2567 ได้แก่ การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตราสามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน (ผ.60), การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA), เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับคนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล, การปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป และควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตราเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย

2.มาตรการระยะกลาง ประกอบด้วย 3 มาตรการ เริ่มใช้ ก.ย.-ธ.ค.2567 ได้แก่ 1.จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส 2.ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อพำนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย 3.ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) และ 3.มาตรการระยะยาว เริ่มใช้เต็มรูปแบบเดือน มิ.ย.2568 เป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา

“ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการและแนวทางที่เสนอในครั้งนี้ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศที่นำรูปแบบการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรามาเป็นมาตรการในการดึงดูดนักท่องเที่ยว”

นายชัยกล่าวว่า กต.ได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และ 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 สรุปว่า การกำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว  เพื่อการท่องเที่ยว ทำงาน หรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 60 วันเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 93 สัญชาติ จะสูญเสียรายได้เเผ่นดิน 12,300 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6% แบ่งเป็นส่วนของ พอช. 4% และสหกรณ์ 2% ว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. จากการประชุมของบอร์ด พอช.ได้มีมิติปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 4% ลดลง 0.5% เหลือ 3.5% ส่งผลให้ดอกเบี้ยรวมทั้งหมดเหลือเพียง 5.5% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ และจะดำเนินการต่อในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งหากครบกำหนดเวลาแล้ว หากผลประกอบการและสถานการณ์ทางการเงินของ พอช.เอื้ออำนวย ก็จะต่อมาตรการนี้ให้กับประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์

นายใหญ่เมินห่วงปมเศรษฐา

“ทักษิณ” ไม่ห่วง “เศรษฐา”  ปมศาล รธน. มั่นใจพา พท.กลับมาผงาดได้ ไม่ขอแตะ “ลุงตู่” หลังมีกระแสคิดถึง