ไข้หวัดนกระบาด จีนตายแล้ว2ราย ไทยเฝ้าระวังเข้ม

อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย องค์การอนามัยโลกพบ "ไข้หวัดนก" ระบาดในจีน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย อีก 3 รายยังรักษาตัว แต่ไม่พบการระบาดในไทย ยันไม่ประมาทพร้อมเข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิด H5N6 ในจีน โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อแล้ว 5 ราย ในจำนวนนี้ 2 รายเสียชีวิตแล้ว จากรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขฮ่องกงระบุว่า ผู้ติดเชื้อในจีนทั้ง 5 ราย พบในปี  2021 เป็นชาย 4 ราย และหญิง 1 ราย จากมณฑลเสฉวน, เจ้อเจียง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดนี้ 2 รายเสียชีวิตแล้ว ขณะที่อีก 3 รายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการสาหัส โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 5 ราย ในจำนวนนี้ 4 รายสัมผัสกับสัตว์ปีก ขณะที่อีก 1 รายอยู่ระหว่างการสืบสวน

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 12 ปี แต่กรมปศุสัตว์ยังคงเตรียมความพร้อมและป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น เป็นต้น เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก

ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงในระบบฟาร์มให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด เช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มให้เข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้าออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำไปจำหน่ายจ่ายแจกหรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อทำการตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที

"หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร.06-3225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน  DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา" อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์