ดับเครื่องชน ‘ก๊วน21ส.ส.’ลากไส้กันเอง

แก๊ง 21 ส.ส.ยังฟัดกันต่อ  "ไผ่ ลิกค์" แฉแหลก "ส.ส.เบี้ยว" พี่นั่งอยู่หลังผม พี่กลับบอกพี่ไม่รู้เรื่องด้วย ไม่รู้เรื่องมาก่อน และที่สำคัญตอนยกมือขอมติจากสมาชิกพรรค พี่ยกมือด้วย ด่าเช็ดสงสารประชาชนได้ ส.ส.แบบนี้ ขณะที่ "พิเชษฐ" ยันพลังประชารัฐสงบแล้ว

จากกรณีนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 1 ใน 21​ ส.ส.ที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับออก ได้ยื่นหนังสือถึง​ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี​ ในฐานะหัวหน้าพรรค​ เพื่อขอให้ทบทวนมติพรรค​ พปชร.ที่ให้สมาชิกออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 19 มกราคม โดยให้เหตุผลว่าไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า​ ส.ส.พะเยา​ จะเสนอให้มีการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ตนเองไม่เคยเรียกร้อง​ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่มีส่วนร่วมใดๆ นั้น

ล่าสุด วันที่ 22 มกราคม 2565 นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และอดีตรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

“วันนี้ ส.ส.เบี้ยว ออกมาบอกว่าไม่รู้เรื่องในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ในการโดนขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ผมเกิดความสงสัยขึ้นมากมาย ว่าพี่มาถึงประมาณบ่าย 4-5 โมง พี่มีเวลาถึงเกือบ 3 ทุ่ม ขั้นตอนในการประชุม มีหลายขั้นตอนมาก ไม่ว่าจะเรียกมาคุยกันก่อน ตามด้วยประชุมกับหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคประชุมกันเอง และ มาประชุมร่วมกับสมาชิกพรรค ทุกขั้นตอนมีการหารืออย่างเผ็ดร้อน ในการประชุมทุกขั้นตอน พี่นั่งอยู่หลังผม พี่กลับบอกพี่ไม่รู้เรื่องด้วย ไม่รู้เรื่องมาก่อน และที่สำคัญตอนยกมือขอมติจากสมาชิกพรรค พี่ยกมือด้วย”

“แต่พอผ่านไปสองวัน คนไม่รู้เรื่องกลายเป็นคนเก่งขึ้นมา ร่างจดหมายได้ยาวเหยียด หลักการครบทุกอย่าง ความจำดี จำทุกอย่างทุกขั้นตอนได้หมด ที่พี่จำได้อาจจะไม่ใช่ที่พี่จำได้ แต่อาจจะเพราะพี่ไปพบใครมารึเปล่าครับ”

“สุดท้ายผมสงสารประชาชนมากที่มี ส.ส.แบบนี้ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ขนาดนั่งประชุมขนาดนี้ และที่โหวตๆ มารู้เรื่องบ้างมั้ยครับ นี่ไม่รู้เรื่องขนาดโทร.มาบอกว่า “ผมดีใจมาก ผมรอมานานแล้ว” ด้วยนะเนี่ย หรือพี่ได้ยาวิเศษอะไรเข้าไปครับเลยเปลี่ยนพี่ไปขนาดนี้ แล้วสุดท้ายพี่จะไปอยู่พรรคไหน RIP ครับพี่”

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ติดตามกลุ่มดังกล่าวก็ใช่ว่าจะไม่สนับสนุนรัฐบาล ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ เพียงแต่ทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาของพรรคที่ไม่กระทบกับรัฐบาล

        "ผมเชื่อว่ายังไปได้ เพราะเสียงของรัฐบาลยังเข้มแข็ง และตอนนี้ยังมีปัญหารอให้รัฐบาลแก้ไข ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โควิด-19 ที่ไปได้ดีขึ้นในช่วงนี้ ต่อไปก็เป็นเรื่องเปิดประเทศ ให้ประเทศเดินหน้า ผมว่ายังทำงานได้ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตรก็ได้จับมือพูดคุยกันว่าจะขับเคลื่อนรัฐบาลต่อไป คนที่ไปก็ยังเคารพพล.อ.ประวิตรอยู่ ก็น่าจะเดินหน้าร่วมกันต่อไปได้ เพราะสุดท้ายตอนนี้ก็ยังเลือกตั้งใหม่ไม่ได้อยู่ดี ต้องขับเคลื่อนกฎหมายเลือกตั้งก่อน" นายชัยวุฒิกล่าว

นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกอย่างทางการเมืองของพรรคถือว่าสงบเรียบร้อยแล้ว เพราะสังคมรับทราบกันดีว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีความเคลื่อนไหวจากทีมของรัฐบาล อยากให้ ร.อ.ธรรมนัสพ้นจากพรรค สุดท้ายมีการแตกหักหลังเลือกตั้งซ่อม ซึ่งมองว่าตรงนี้ไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นเพราะมีความขัดแย้งชัดเจนตามที่สังคมทราบ ความขัดแย้งดังกล่าวสร้างความเสียหายกับพรรค เป็นเหตุผลของมติที่ออกมา

        "หลังจากนี้พรรคพลังประชารัฐถือว่าสงบแล้ว สิ่งที่นายกฯ และทีมของท่านสบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคก็สบายใจ เพราะเหตุการณ์ภายในพรรคอึมครึมมานาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อการบริหาร วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร สบายใจ เพราะสิ่งที่นายกฯ ต้องการได้รับการดำเนินการแล้ว"

นายพิเชษฐกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากนี้ถือว่าเข้าโหมดเรื่องการเมืองล้วนๆ เรื่องการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐจบ คนที่มีปัญหาพ้นจากพรรคไปแล้ว พ้นความรับผิดชอบของ พล.อ.ประวิตร แล้ว คนที่ออกไปจะอยู่พรรคไหนสังคมก็ติดตามเอาหลังจากนี้ คนที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลคือ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนต้องฟอร์มรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาจะเชิญทั้งหมดนี้มาร่วมรัฐบาลหรือไม่ พรรคใหม่นี้ก็ต้องขับเคลื่อน หัวหน้ารัฐบาลถ้าต้องการสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลก็ต้องเจรจาให้เขามาร่วมรัฐบาล ตอนนี้เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ว่าจะเชิญร่วมรัฐบาลหรือไม่ ถ้าไม่เชิญก็เสี่ยงปริ่มน้ำ

ดังนั้น พรรคเล็กจะมีบทบาทอย่างมาก เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ว่าหัวหน้ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ต้องแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ เรื่องแรกจะตัดสินใจอย่างไรกับพรรค 21 คน ก่อนว่าจะให้ร่วมรัฐบาลหรือไม่ ถ้าจะให้ร่วมก็ต้องเจรจาว่าเงื่อนไขมีอะไร อย่างไร เป็นธรรมดาทางการเมือง ต้องแก้ตรงนี้ให้จบ แล้วต้องไปดูพรรคเล็กๆ ด้วย เพราะสิ่งที่เขาเคยพูดคุยเจรจาไม่ได้เป็นตามนั้น ก็ถึงโอกาสต้องมาทบทวนด้วย มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้เป็นโหมดการเมืองล้วนๆ จะแก้ปัญหาอย่างไรให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ

นายพิเชษฐยังกล่าวถึงกรณีนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม  หนึ่งใน ส.ส. 21 คนที่ถูกขับออก และมีหนังสือขอให้ทบทวนมติ ว่า ก่อนมีมติขับ ส.ส.ออก มีการอ่านรายชื่อผู้ถูกขับออกทีละคน นายสมศักดิ์ก็นั่งอยู่ในที่ประชุม ไม่เห็นทักท้วงอะไร แต่วันนี้มีท่าทีเปลี่ยนไป ขอตั้งข้อสังเกตว่าไปกินกล้วยที่ไหนมาหรือเปล่า ส่วนตัวจำเป็นที่ต้องแถลงข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้เกิดการเสียหายต่อพรรคพลังประชารัฐ

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง การเมืองไทย หลังพลังประชารัฐปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,105 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2565 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.3 เห็นด้วยที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และพวก ออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 เชื่อว่าสังคมไทยจะเข้มแข็งมากขึ้น จากการตรวจสอบ คัดกรองคนดีซื่อสัตย์สุจริตปกครองบ้านเมือง

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 ระบุพรรคร่วมรัฐบาลจะขัดแย้งกันน้อยลง, ร้อยละ 70.7 ระบุการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองจะลดลง, ร้อยละ 70.6 ระบุความมั่นคงและความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สูงขึ้น, ร้อยละ 68.8 ระบุภายในพรรคพลังประชารัฐ มีเอกภาพมากขึ้น และร้อยละ 67.1 ระบุเสถียรภาพของรัฐบาลจะดีขึ้น ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.5 ระบุอนาคตการเมืองไทยน่าจะดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 28.5 ระบุไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 เล็กน้อยหรือร้อยละ 35.5 สนับสนุนรัฐบาล, ร้อยละ 35.4 ขออยู่ตรงกลาง เป็น พลังเงียบ และร้อยละ 29.1 ไม่สนับสนุนรัฐบาล

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสังคมไทยจะเข้มแข็งมากขึ้น จากการร่วมกันตรวจสอบคัดกรองคนดี ซื่อสัตย์สุจริตปกครองบ้านเมือง โดยมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะขัดแย้งกันน้อยลง เพราะที่ผ่านมาเห็นปัญหาความขัดแย้งชัดเจนในพื้นที่เลือกตั้งซ่อมและรอยร้าวอื่นๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

4คนไทยยังอยู่ในมือเมียนมา

4 ชีวิตลูกเรือไทยวืดกลับบ้าน "บิ๊กอ้วน" ยันเมียนมาปล่อยแบบไร้เงื่อนไข ขณะที่บัวแก้วสยบข่าวโยงขนอาวุธว้าแดง-เรียกค่าไถ่