คลังฟุ้งตัวเลข ใช้‘คนละครึ่ง’ รบ.โอ่แก้‘ศก.’

“คลัง” ฟุ้งยอดใช้จ่ายการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศทะลุ 3.5 หมื่นล้านบาท คนละครึ่งสะพัดกว่า 3.3 หมื่น ล. “บิ๊กตู่” ร่ายผลงานเรื่องสินค้าแพงและเงินเฟ้อ บอกไทยดีกว่าหลายประเทศทั่วโลก ลั่นจะไม่หยุดคิดหยุดทำเพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤตและดีขึ้นทุกๆ วัน


เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ว่าจากข้อมูลสะสม ณ วันที่ 17 ก.พ. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 37.65 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 35,781.37 ล้านบาท โดยโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิ 12.40 ล้านราย มียอดการใช้จ่าย 2,467.72 ล้านบาท, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิ 1.03 ล้านราย มียอดใช้จ่าย 204.85 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิกลุ่มเดิมและใหม่รวม 24.49 ล้านราย และยอดใช้จ่ายรวม 33,108.8 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 16,785.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 16,323.6 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 13,156.8 ล้านบาท, ร้านธงฟ้า 5,987.9 ล้านบาท, ร้าน OTOP 1,507.8 ล้านบาท, ร้านค้าทั่วไป 11,829.9 ล้านบาท, ร้านบริการ 571.8 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 54.6 ล้านบาท


“มีประชาชนที่ลงทะเบียนสำเร็จทั้งหมด 26.4 ล้านราย ซึ่งมีประชาชนที่กดยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 แล้ว 25.47 ล้านราย จากจำนวนผู้ใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 จำนวน 26.35 ล้านราย สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วจำนวน 1.35 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 1.98 หมื่นราย” นายพรชัยกล่าว


นายพรชัยกล่าวอีกว่า ข้อมูลการใช้จ่ายสะสมผ่านฟู้ดเดลิเวอรีแพลตฟอร์ม โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีการใช้จ่ายสะสม 897.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 462.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 435.6 ล้านบาท และในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีแพลตฟอร์ม มีจำนวน 9 หมื่นราย


วันเดียวกัน ในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ในประเด็นสินค้าราคาแพงและสถานการณ์เงินเฟ้อ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ว่า ยังคงเป็นหัวข้อที่ประชาชนให้ความสนใจ ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีข้อมูลหลายส่วนที่ได้นำเสนอในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอสรุปเป็นประเด็นที่กระชับและชัดเจนอีกครั้ง


พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ต่อว่า 1.วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงและเงินเฟ้อทั่วโลก และรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะช่วงปี 2564 2.ปี 2564 เงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 1.2% ในขณะที่อินเดียมีเงินเฟ้อ 10.6%, สหรัฐอเมริกา 4.7%, ญี่ปุ่น 2.6%, มาเลเซีย 2.5%, สิงคโปร์ 2.3% และเวียดนาม 1.9% 3.ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของเงินเฟ้อทั่วโลกที่สำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการทางสาธารณสุข ที่จำกัดการเปิดกิจการ และการเดินทาง โดยเฉพาะการปิดเมือง 2.การจำกัดการเดินทาง ทำให้การขนส่งสินค้าหยุดชะงัก ส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว


4.ตัวอย่างราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงวิกฤตโควิด เช่น ราคารถยนต์มือสองในอเมริกาสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ราคาค่าเช่าบ้านในอเมริกาสูงขึ้นกว่า 12% ในปี 2564 ราคาก๊าซหุงต้มพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปยุโรปนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว 5.หากเปรียบเทียบกันแล้ว ชาวไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น ค่าน้ำมันดีเซลในไทย ขึ้น 20% ในขณะที่คนอังกฤษต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นเกือบ 30% และอเมริกาต้องจ่ายแพงขึ้น 46%, ปี 2564 คนไทยยังคงเสียค่าไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ในอังกฤษต้องจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว, ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 28% ในปี 2564 แต่ราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไม่รวมแอลกอฮอล์ ราคาโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นเพียง 0.77%


พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ต่อว่า ท่ามกลางวิกฤตโลก รัฐบาลไทยสามารถแสวงหาโอกาส โดยเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ผักเพิ่มขึ้นถึง 63,000 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกกว่า 191,000 ล้านบาท ในปี 2564 และที่สำคัญรัฐบาลยังตั้งเป้าหมายมุ่งเน้นการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างเอาจริงเอาจัง โดยประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน และเชื่อว่าจะปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้


“ชาวโลกกำลังประสบปัญหาเดียวกับไทยเราในเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ตัวเลขต่างๆ ที่ผมกล่าวไปข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าไทยรับมือได้ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล ที่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และที่สำคัญคือความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนของไทยเรา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน”


พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ช่วงท้ายว่า รัฐบาลยังมีมาตรการลดภาระให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน ทั้งการรักษาพยาบาล ค่าครองชีพ การเยียวยา ซึ่งรัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาของสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด และช่วยให้ประเทศชาติไม่เสียหายไปมากเท่าที่มีการคาดการณ์ และยังรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้อย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ว และจะไม่หยุดคิดหยุดทำในการแก้ปัญหา เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤต และดีขึ้นในทุกๆ วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง