'สูตรคำนวณ ส.ส.-ไพรมารีโหวต' ยังเห็นต่าง

'ชินวรณ์' ลั่นร่าง กม.ลูกไม่ยึดติดตัวบุคคล ระบุ กมธ.ยังเห็นต่างปมคำนวณ ส.ส.แบบปัดเศษ และการทำไพรมารีโหวต

06 เม.ย.2565 - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวถึงการพิจารณาของคณะ กมธ.ว่าคืบหน้าไปมาก โดย กมธ.ฯ จะรวมประเด็นที่มีความสำคัญว่าประเด็นใดบ้างที่จะต้องลงมติก่อน โดยไม่ต้องรอให้เสร็จทั้งฉบับ เช่น ในวันที่ 7 เม.ย.นี้จะพิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค ประเด็นผู้ก่อตั้งพรรคและสมาชิกพรรคให้เข้ามามีส่วนเสนอแนะพรรคตามข้อเสนอบางส่วนหรือไม่ และเรื่องการจัดทำไพรมารีโหวต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงมติแน่นอน โดยจะมีการลงมติในการประชุม กมธ. ทั้งนี้ หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเสร็จสิ้นก่อน ก็จะนำเวลาที่เหลือมาใช้พิจารณาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงมั่นใจว่า กมธ.สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับได้ทันก่อนเปิดสมัยประชุมสภาแน่นอน

“มั่นใจว่าทุกพรรคต้องการที่จะให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับเสร็จรวดเร็ว จึงคิดว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคการเมืองในการพิจารณาจากชั้น กมธ.”นายชินวรณ์กล่าว

เมื่อถามว่าใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังมีประเด็นอะไรที่ยังเป็นปัญหาถกเถียงกันไม่จบ นายชินวรณ์ กล่าวว่า มีเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำไพมารีโหวต ซึ่งร่างของพรรคร่วมรัฐบาลใช้วิธีการแบบให้ตัวแทนจังหวัดในการที่จะสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเสนอกรรมการบริหารพรรค แต่ในร่างเดิมการทำไพรมารีโหวตยังให้ใช้วิธีการลงคะแนนซึ่งประเด็นนี้ยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน จึงต้องถกเถียงกันก่อนที่จะลงมติ ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยังมีเรื่องการคำนวณสัดส่วนบัญชีรายชื่อ ถ้าตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่ยึดตาม มาตรา 91 ซึ่งไม่มีประเด็นอื่นใด โดยยึดแบบตรงไปตรงมา ด้วยการหารด้วย 100 แต่มีบางส่วนเห็นว่า มาตรา 95 ยังไม่ได้แก้ไข ก็สามารถที่จะไปคิดสัดส่วน ส.ส.ที่พึงมี จึงต้องมีการถกเถียงกันในแง่ของกฎหมายต่อไป ซึ่งเคยถามคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วต้องยืนยันให้ชัดเจนว่ากฎหมายที่เป็นติ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญมีผลต่อข้อเสนอของ กมธ. ที่ขอแปรญัตติเข้ามาหรือไม่ โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะชี้แจงในวันที่มีการลงมติ

ถามว่าลักษณะต้องห้ามของผู้ก่อตั้งพรรค ที่อาจเปิดช่องให้แกนนำม็อบทุกสีเสื้อเข้ามาจัดตั้งพรรคและเป็นสมาชิกพรรคได้ ทางฝ่ายค้านจะเสนอให้ตัดข้อความทิ้ง นายชินวรณ์ กล่าวว่า มีความคิดเห็นของฝ่ายค้าน แต่คิดว่าการร่างกฎหมายจะไปยึดเอาตัวบุคคลบางกลุ่มมาเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจไม่ได้ เราต้องยึดกฎหมายที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ดังนั้น พรรคการเมืองต้องไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำด้วยบุคคลภายนอก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ขย่ม 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ ทำไทยไม่ติดอันดับประเทศน่าลงทุน

ปชป. จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข หลังผลจัดอันดับ EIU ไทยไม่ติดประเทศน่าลงทุน เหตุไร้เสถียรภาพการเมือง 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ โดน 'อดีต-อนาคต' นายกฯ ประกบตลอด

เจ้าของคอกประกาศ คนวิ่งหาปรับครม. 'Nothing is Permanent'

“ทักษิณ” ชี้ รมต.ตบเท้ากินข้าวเย็นไม่มีนัยทางการเมือง แค่มารดน้ำดำหัวคนอายุ 75 บอกคนวิ่งเข้าหาปรับครม. “Nothing is permanent” ไม่มีอะไรเป็นสรณะ แจง คน ”ปชป.“ รู้จักกันดี แค่นั่งจิบกาแฟ ออกตัวครม.ที่ไม่พอ  

โฆษก ปชป. ยืนยันไม่จริง 'ชวน' หมดสิทธิลงสมัคร สส. มั่นใจ 'เฉลิมชัย' ไม่คิดเช่นนี้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถีงกรณีที่มีบุคคลให้ข่าวว่า “ชวน หลีกภัย” อาจหมดสิทธิลงสมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อว่า