อดีตรองอธิการฯ มธ. จี้ 'ชัชชาติ' แจงข้อสงสัยผลงานยุค รมต. อนุมัติสายการบินมากที่สุดในปฐพี

15 เม.ย.2565 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า คำถามเกี่ยวกับการเมืองที่ถามกันมากที่สุดระยะนี้คือ "จะเลือกใครเป็นผู้ว่ากทม. ดี "

ผลการสำรวจของนิด้าโพลเมื่อต้นเดือน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังคงนำห่างคือมีผู้ระบุว่าจะเลือกดร.ชัชชาติถึง 38.01% คะแนนอันดับ 2 คือ ยังไม่ตัดสินใจ 13.4% อันดับ 3 คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 11.73% ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ซึ่งได้คะแนนเพิ่มขึ้นการสำรวจครั้งที่แล้วเมื่อ 6 กพ 65 ไม่มากนักคือจาก 8.08%ได้ครั้งนี้ 8.83% แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นอันดับ 4 ก็เพราะคะแนนของดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ลดฮวบจาก 11.03% ในการสำรวจครั้งที่แล้วลงเหลือ 8.61% ในขณะที่คุณรสนา โตสิตระกูล ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.55% เป็น 3.73 % สำหรับคะแนนของผู้สมัครคนอื่นๆได้น้อยจนขอไม่กล่าวถึงในที่นี้

แม้ว่าการสำรวจของทุกโพลจะเป็นการสุ่มถามประชาชนเป็นจำนวนหลักพัน ในขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในกทม. มีจำนวนกว่า 4 ล้านคน ผลที่ออกมาจะเชื่อถือได้หรือไม่อยู่ที่วิธีการสุ่มว่าเป็นวิธีการทางสถิติที่ถูกต้องหรือไม่ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มตัวอย่างที่สุ่มนั้นเป็น random sample ซึ่งถือเป็นตัวแทนประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ แต่สำหรับนิด้าโพล ก็น่าจะเชื่อได้ว่าได้ดำเนินการสุ่มตัวอย่างตามหลักวิชาจริงๆ

หากมีข้อสมมติฐานว่าการสุ่มของสำนักมาตรฐานทุกสำนักได้ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาทางสถิติ ก็ต้องยอมรับว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งมีคะแนนนำโด่งทุกโพล เป็นผู้ที่ชาวกทมส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นผู้ว่าราชการ ทำหน้าที่บริหารกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ผู้ที่ไม่ต้องการให้ดร.ชัชชาติชนะเลือกตั้ง จะด้วยเหตุใดก็ตาม พยายามขุดคุ้ยแรื่องต่างๆในอดีตออกมาแฉ ล่าสุดเป็นการนำภาพของดร.ชัชชาติที่ถ่ายคู่กับผู้ที่มีบทบาทที่เชื่อได้ว่าเป็นความพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาส่งต่อๆกันใน social media

แต่เรื่องที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นเรื่องก่อนหน้านี้ที่โจมตีว่า ดร.ชัชชาติ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลคุณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ลงนามอนุมัติให้เปิดสายการบินเอกชนประมาณ 40 สายการบินในระยะเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งภายหลังเป็นผลให้ ICAO ปักธงแดง ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ทำให้รัฐบาลคสช. ต้องแก้ไขด้วยการตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่โดยแยกออกจากกรมการบินพลเรือน เรียกว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้รับหน้าที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านการบินโดยเฉพาะ ในที่สุดทำให้ผ่านวิกฤต ICAO ครั้งนั้นมาได้

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้น่าจะมีผลกระทบต่อคะแนนนิยมของดร.ชัชชาติ ไม่มากก็น้อย ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม จึงได้ไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ในกระทรวงคมนาคม สรุปได้ดังนี้ 1.ดร.ชัชชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงนามอนุมัติให้เปิดสายการบินเหล่านั้นจริง

2. การลงนามอนุมัติทุกครั้งเป็นไปตามขั้นตอนปกติกล่าวคือ ทุกสายการบินได้ผ่านการพิจารณาของกรมการบินพลเรือนมาแล้ว และผ่านการกลั่นกรองตามลำดับชั้นในกระทรวงคมนาคมจนถึงรัฐมนตรี เพียงแต่จำนวนสายการบินที่ได้อนุมัติมีจำนวนมากกว่าปกติที่เคยได้รับอนุมัติในอดีตในระยะเวลาเท่าๆกัน

3. การอนุมัติให้เปิดสายการบินทั้งหมดนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ ICAO ให้ธงแดงในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินแก่ประเทศไทยจริง นั่นเป็นเพราะมีความบกพร่องจากต้นทาง คือจากกรมการบินพลเรือน ที่ไม่เข้มงวด และไม่รอบคอบพอ ก่อนที่จะเสนอมายังกระทรวงคมนาคม

ข้อสรุปนี้หากมองผิวเผิน แสดงว่า ดร.ชัชชาติ ซึ่งเป็นรัฐมนตรี ก็เพืยงอนุมัติเรื่องที่ผ่านการพิจารณาของหน่วยงานระดับกรมมาแล้ว และยังผ่านการกลั่นกรองของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงอีกหลายขั้นตอน ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ แต่หากมองลึกลงไปยังมีคำถามอีกหลายคำถามต่อเรื่องนี้ดังนี้

เพราะเหตุใดกรมการบินพลเรือนจึงย่อหย่อนในการพิจารณาอนุญาตให้เปิดสายการบิน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารโดยตรง มีผู้มีอำนาจนอกกระทรวงเป็นไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่

ทำไมผู้มีอำนาจในกระทรวง เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการ รองปลัดกระทรวง หรือปลัดกระทรวง ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองก่อนเรื่องจะขี้นไปถึงรัฐมนตรี จึงผ่านเรื่องที่ไม่ควรอนุมัติขึ้นไปให้รัฐมนตรีอนุมัติโดยไม่มีข้อโต้แย้งกับกรมการบินพลเรือน จนนำไปสู่การอนุมัติให้เปิดสายการบินเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

รัฐมนตรีว่าการอนุมัติทุกกรณีที่กรมการบินพลเรือนเสนอ ผู้ที่มีความรู้ระดับดร.ชัชชาติ ไม่มีข้อสงสัยหรือข้อทักท้วง หรือมองเห็นข้อบกพร่องที่จะไม่อนุมัติแม้แต่กรณีเดียวเลยหรือ อย่าลืมว่ามีสายการบินที่ได้รับอนุมัติร่วม 40 สายการบินในระยะเวลาเพียงปีเดียว

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นคนที่เรียนเก่งหาตัวจับยากในรุ่นเดียวกัน และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เป็นผู้ที่มีความรู้ไม่เพียงในเรื่องวิศวกรรม แต่มีความรู้ค่อนข้างกว้างขวางในหลายด้าน ว่ากันตามจริงก็มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ดร.ชัชชาติควรจะอธิบายเรื่องข้างต้นต่อสาธารณะให้ชัดเจน จะได้ขจัดข้อสงสัยที่ขณะนี้กำลังอยู่ในใจของคนจำนวนมากทั่วประเทศ ไม่เพียงชาวกทม เท่านั้น

อีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่มีคำตอบในใจแล้วก็คือ การที่พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกทม. จากพฤติกรรมของแกนนำในพรรคชาติไทย และจากเจ้าของพรรค ทำให้แน่ใจได้ว่า ดร.ชัชชาติ ไม่ใช่ผู้สมัครอิสระ และไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองใดอย่างที่พร่ำบอกต่อสารธารณะครั้งแล้วครั้งเล่า แต่มีพรรคเพื่อไทยหนุนหลังอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นผู้ที่ไม่นิยมพรรคเพื่อไทย และไม่นิยมในตัวเจ้าของพรรคเพื่อไทย อย่าได้หลงเชื่อไปลงคะแนนให้ดร.ชัชชาติอย่างเด็ดขาด ส่วนใครที่นิยมพรรคเพื่อไทย และนิยมในตัวเจ้าของพรรคเพื่อไทย ก็โปรดมั่นใจได้ว่า ที่ตั้งใจจะไปลงคะแนนให้ดร.ชัชชาตินั้น ถูกต้องแล้ว

คำวิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการกระทรวงคมนาคมบางคนที่เคยทำงานกับดร.ชัชชาติ คือค่อนไปในทางสร้างภาพมากกว่าที่เป็นจริง

คำวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นนี้จะจริงหรือไม่ ก็ขอให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานาครทุกคน ไปหาคำตอบกันเอาเองก็แล้วกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม ‘พัก กะ Park’ เปลี่ยนสวนสาธารณะให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.), กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance)

ส่องสุขภาพ'มอเตอร์ไซด์รับจ้าง'ใน กทม.

“มอเตอร์ไซด์รับจ้าง” เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับชาวกรุงเทพฯ ทั้งรับส่งผู้โดยสารและเอกสาร ผลจากปัญหาจราจรและความเร่งรีบในการเดินทางของคนเมือง  แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนนกรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่บอกลางานอิสระนี้ เพราะประกอบอาชีพได้ง่าย