นักการเมืองรุ่นใหม่ เขย่าการเมืองไทย ทหารยุติสืบทอดอำนาจ ชะลอดำเนินคดีเยาวชน

1 พ.ค.2565 – ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และคณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม จัดเวทีอภิปรายเรื่อง “นักการเมืองรุ่นใหม่ ร่วมมองบทเรียน 30 ปีพฤษภาทมิฬ 2535” โดยมี น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ,น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ,น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผอ.ศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย, นายปกรณ์ อารีกุล ผู้แทนพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปราย ดำเนินรายการโดย เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

น.ส.ชญาภา  กล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ไม่ควรทำให้เลือนหาย แต่ต้องจดจำความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างเลวร้ายในครั้งนั้น เพื่อให้อดีตเป็นบทเรียนต่อการเมืองไทยในอนาคต เหตุการณ์พฤษภาเป็นการต่อสู้ของประชาชนฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการซึ่งขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน เพราะฝ่ายเผด็จการต้องการสืบทอดอำนาจ แต่ผู้ชุมนุมต้องการให้นายกฯ ลาออก โดยความร่วมมือของสหพันธ์นักศึกษาร่วมกับพรรคการเมือง แต่กลายเป็นการนองเลือดและความสูญเสียเพียงเพราะประชาชนรวมพลังกันเรียกร้องประชาธิปไตย

“หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 จึงกำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ยึดโยงกับประชาชน แต่พอเรามีรธน.60 กลับกำหนดว่านายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. เราจึงได้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แทน นี่คือการที่ทหารมีบทบาททางการเมืองด้วยการแทรกแซงโดยกองทัพอย่างชัดเจน อยากให้สังคมเรียนรู้ความขัดแย้งเพื่อป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายอีกครั้ง จะต้องมีคนรับผิดชอบและสะสางความจริงให้ปรากฏ แต่หลายครั้งความจริงอาจปรากฏแต่ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น โดยกองทัพต้องยุติการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลพลเรือนทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยให้พัฒนาขึ้นขอเรียกร้องไปยังทุกพรรคการเมืองและเลือกข้างประชาชนต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก ขยายเครือข่ายร่วมมือกันทุกตำบล ทุกจังหวัดในประเทศไทย เพื่อความเข้มแข็งของประชาชน   ” น.ส.ชญาภา ระบุ  

น.ส.ศิริภา  กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งมีการเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา เป็นนายกฯ แทนนายณรงค์ วงศ์วรรณ ทำให้ประชาชนออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจในที่สุด นี่คือบทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ 2534 ของทหารเขียนกำหนดเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางอำนาจไว้ ปัญหาสำคัญคือเรื่องนายกฯ คนนอกทำให้การเมืองไทยถอยหลัง หลังเหตุการณ์มีการพยายามแก้ไข รธน.ถึง 6 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง แก้ไขไม่ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาแทนประธานวุฒิสภา และให้นายกฯ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และพัฒนาการต่อมา รธน.40 ยังกำหนดให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย และทำให้นักวิชาการมีบทบาททางการเมืองในการเข้ามาเป็น ส.ส.มากขึ้น แต่รธน.60 กลับแย่ลง

“การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน ก็ต้องชำระประวัติศาสตร์แก้ไขเหตุการณ์ในอดีตด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย ผู้เสียชีวิต หรือถูกอุ้มหายในอดีตด้วย รัฐบาลจะต้องเข้าไปเยียวยาและดูแลครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น โดยเฉพาะตามกฎหมายการป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหายล่าสุดที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งจะมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการบังคับให้บุคคลสูญหายที่เกิดขึ้น” น.ส.ศิริภา กล่าว  

ด้าน น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวว่า มรดกของเหตุการณ์พฤษภา 35 คือเจตจำนงของประชาชนที่ไม่ยอมต่อการสืบทอดอำนาจของคณะทหารที่เกิดขึ้นทุกครั้งในเวลาต่อมา เราจึงเห็นการออกมาต่อต้านในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง คำว่าประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เป็นแนวคิดสำคัญของรัฐบาลประชาธิปไตย แต่เราไม่เห็นความสอดคล้องในเรื่องนี้ของรัฐบาลในปัจจุบันโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการโควิด 19

“ปัญหาสำคัญคือรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่สืบทอดอำนาจ จะต้องมีการแก้ไขก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เพราะหากมี ส.ส.คนใหม่อีก 500 คน การเมืองไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนเพราะ ส.ว.อีก 250 คนเป็นคนกลุ่มเดิมที่ไม่มีอำนาจ ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง 2 ปัญหาใหญ่คือ กรอบความคิดอำนาจนิยม และกรอบความคิดแบบระบอบข้าราชการ ที่จะต้องแก้ไขโจทย์นี้ในรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้งใหม่ และผลักดัน สสร.มาสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกจากระบอบอำนาจนิยม ส่วนระบอบข้าราชการต้องแก้กฎหมายต่างๆ สร้างพลังให้คนตัวเล็กเติบโต”  น.ส.ธิดารัตน์ ระบุ

นายปกรณ์  กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 40 ดีที่สุดที่เคยมีมาแต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเราจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่า รธน.40 ไม่ได้ การเมืองแบบไหนที่อนุญาตให้คนถือปืนในกองทัพออกมาเข่นฆ่าสังหารประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐเข่นฆ่าประชาชนมานานที่ควรถูกตั้งคำถามตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภา 2535 และที่เกิดขึ้นกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนปช. ในเวลาต่อมา ซึ่งเรียกว่าเป็นอาชญากรรมโดยรัฐ แต่ไม่ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพราะการนิรโทษกรรมตนเองอย่างต่อเนื่อง

นายปกรณ์ ระบุว่า โครงสร้างทางการเมืองแบบนี้เราไม่ต้องการและเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง และวันนี้วันกรรมกรสากล นายทระนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานถูกอุ้มหายโดยอำนาจเผด็จการถึงวันนี้ยังไม่พบศพ ซึ่งคาดหวังว่ากฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานจะแก้ไขปัญหานี้ได้ เหตุการณ์พฤษภา 35 ทำให้รูปโฉมทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้บทบาทนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง คนรุ่นใหม่สามารถใช้อาวุธในยุคดิจิตอลเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบัน และต้องมีคนกลางหรือ Third Party มาร่วมด้วยช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาร่วมกัน เสียดายตัวแทนพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มา

“อนาคตอันใกล้นี้ ผมอยากให้ ส.ว. งดออกเสียงเลือกนายกฯ ถ้าหากแก้ไข รธน.ไม่ทันตามที่มีการยื่นเสนอแก้ไข ม.272 หยุดอำนาจ ส.ว.เลือกนายก และสุดท้ายรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงควรยุติและชะลอการดำเนินคดีกับเยาวชนคนรุ่นใหม่และให้สภาผู้แทนราษฎรหยิบไปหาทางออกร่วมกันในสภาโดยสร้างพื้นที่ปลอดภัย ส่วนการเมืองในฝันผมอยากเห็นรัฐสวัสดิการและการเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด และสมาชิกรัฐสภาร่วมสร้างภาพฝันรัฐสภาประชาธิปไตยร่วมกัน และหวังว่าเวลาอยู่ข้างเรา” นายปกรณ์ ระบุ

นายเมธา ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ไขด้วยการสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจ และปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นระบบ แก้ไขกฎหมายที่รวบอำนาจไว้ที่ระบบราชการรวมศูนย์และสภากลาโหม จะต้องแก้ไขใหม่ ไม่ให้อำนาจอยู่ที่ 3 เหล่าทัพเท่านั้น แต่รัฐบาลพลเรือนต้องมีอำนาจเหนือกองทัพ ในวาระ 30 ปีพฤษภา 35 จะต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ ชดใช้ผู้เสียหายและสร้างความจริงในปฏิบัติการทางทหารและคนหายที่ผ่านมา นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างการเรียนรู้ทางการเมือง สร้างพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองเพื่อการศึกษา Civic Education ทั่วประเทศ

“รวมถึงการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเด็นหนึ่งคือควรสนับสนุนให้มีการกระจายงบประมาณประจำปีให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนมากขึ้น มีธนาคารแรงาน และตั้งสหภาพแรงงานข้าราชการ รวมถึงกองทัพ และตำรวจ เพื่อคานอำนาจกับระบบอำนาจนิยมภายในองค์กร” นายเมธา ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รทสช.' ลั่นเห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทุกประการ!

'รวมไทยสร้างชาติ' ย้ำจุดยืนเดิมที่มั่นคงแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ยันการทำประชามติ 3 ครั้งใช้งบมาก แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลและรัฐธรรมนูญ

พรรคร่วมรัฐบาลเคาะ 'ทำประชามติ' 3 รอบ เข้า ครม. อังคารนี้

'ภูมิธรรม' คอนเฟิร์มทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ชง ครม. อังคารนี้ คาดทำรอบแรกเดือน ส.ค. ซัดกลุ่มจ้องเคลื่อนไหวห้ามปชช.ใช้สิทธิ์ ปัดหารือหัวหน้าพรรคร่วมเรื่องนิรโทษกรรม

‘วิโรจน์’ หนุน ‘สุทิน’ แก้กฎหมายกลาโหม สกัดรัฐประหาร ลั่นต้องทำให้ถึงแก่น

‘วิโรจน์’ เห็นด้วยในหลักการ หลัง ‘สุทิน‘ เสนอแก้ ’กฎหมายกลาโหม‘ สกัดรัฐประหาร แต่ต้องแก้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่ผิว ชี้ เป้าหมายสูงสุด คือทำให้กองทัพไม่อยู่ในฐานะรัฐอิสระ แนะ ควรปรับสัดส่วน ‘สภากลาโหม’ ให้เหลือแค่ 11 คน-มีทหารไม่เกินกึ่งหนึ่ง