อภิปรายไม่ไว้วางใจภาค2! พริษฐ์สับงบ 66 กระจุกพื้นที่ 'ภท.-ปชป.'

'พริษฐ์'ชี้จัดงบ 66 กระจุกตัว ไม่เป็นธรรมพบมีแต่ลงพื้นที่ 'ภท.-ปชป.'พรึ่บ 'ศิริกัญญา' ขอปรับลดงบ 5 หมื่นล้านบาท ห่วงหนี้อุ้มกองทุนน้ำมัน-กองทุนวินาศภัย

17 ส.ค.2565 – ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระสอง ในมาตรา 4 ว่าด้วยยอดรวมวงเงินงบประมาณรายจ่าย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.)เสียงข้างน้อย สัดส่วนพรรคก้าวไกล สงวนความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศวันนี้ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่ปัญหาคือการใช้งบประมาณผิดจุด ไม่ตอบโจทย์ ไม่จำเป็น และไม่เป็นธรรม ได้ข้อสรุปว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากการตั้งงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงภาพกว้าง ภาพใหญ่ ภาพไกล และภาพรวม

นายพริษฐ์ กล่าวว่า งบประมาณครั้งนี้จัดสรรงบไม่มองภาพกว้างของคนทั้งประเทศ เพื่อพยายามกระจายงบประมาณและโครงการต่างๆ ไปสู่ทุกจังหวัดอย่างเป็นธรรม เช่น โครงการซ่อมถนน และโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ ที่งบรวมกันเกินกว่า 50%ของงบลงทุน จะเห็นว่างบประมาณกระจุกตัวอยู่ที่บางจังหวัดอย่างชัดเจน สำหรับโครงการซ่อมถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท 7 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณสูงสุด รวมกันแล้วได้งบประมาณสูงถึง 25%ของงบทั้งประเทศ ส่วนงบปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมชลประทาน 7 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณ สูงถึง 36% ของงบทั้งประเทศ

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่ากังวล เราไม่แน่ใจว่าจังหวัดที่ได้รับงบสูงสุดสำหรับซ่อมถนนหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเป็นจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องถนนและแหล่งน้ำมากกว่าจังหวัดอื่นจริงหรือไม่ เมื่อไปดูงบซ่อมถนนจะเห็นว่าแม้พรรคต้นสังกัดของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะมี ส.ส.เขต เป็น 34% ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ ถ้าดูงบ 7 จังหวัดที่ได้รับงบสูงสุดจะเห็นว่าพรรคนี้มีส.ส.เขตใน 7 จังหวัด หรือคิดเป็น 100%

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนงบปรับปรุงแหล่งน้ำ แม้พรรคต้นสังกัดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีส.ส.เขต 21% ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ถ้าเราดู 7 จังหวัดที่ได้รับงบสุงสุดจะเห็นว่าพรรคนี้มีส.ส.เขต 3 จาก 7 จังหวัด หรือคิดเป็น 43%

“ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร และคิดว่าคำถามที่ประชาชนทั่วประเทศอดสงสัยไม่ได้ คือ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของทุกคนอย่างเป็นธรรม หรือจัดอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของตัวเอง” นายพริษฐ์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปราย ว่า การประมาณการรายได้มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่จะลดลงเช่นเดียวกัน ปัจจัยที่เป็นบวกต่อรายได้รัฐเช่นราคาน้ำมันดิบ อาจจะกระทบกับปัญหาค่าครองชีพของประชาชน แต่เป็นบวกสำหรับรายได้ภาครัฐ เพราะรัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจากน้ำมัน จากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมโดยที่รวมกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนลง ทำให้ราคาน้ำมันเมื่อคิดเป็นเงินบาทยิ่งแพงขึ้นไปอีก น่าจะทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นราว 8 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจัยด้านลบก็มีคือจีดีพีที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่วางแผนไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี 2565 หรือเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัว เมื่อเกิดเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก รวมถึงมาตรการการลดภาษีสรรพสามิตอีก 5 บาทต่อลิตรที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ ตรงนี้จะทำให้รายได้รัฐในอนาคตอาจจะลดลง 1.3 แสนล้านบาท

“นี่คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการประมาณการรายได้ ที่ไม่สามารถตอบสนองกับเศรษฐกิจที่ผันผวน ยังมีความท้าทายตรงหน้า คือหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ไม่ใช่หนี้สาธารณะ แต่เสมือนกับการให้บัตรเครดิต กับนายกรัฐมนตรีที่จะสามารถรูดได้ ซึ่งตอนนี้นายกฯ รูดได้ใกล้เต็มวงเงินแล้ว ซึ่งวงเงินของปี 66 อยู่ที่ประมาณ 1.11 ล้านล้านบาท แต่ใช้ไปแล้ว 1.07 ล้านล้านบาท ดังนั้นยังจะสามารถกู้ได้เพิ่มจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เหลืออยู่น้อยเต็มที หากคิดจากการจะใช้หนี้คืนในปีนี้ ก็เหลือเงินที่จะกู้ใหม่เพียงแค่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอหรือไม่ กับการที่จะทำโครงการประกันรายได้ และมาตรการคู่ขนานต่อเนื่อง เพราะปีที่แล้วใช้เงินมากขึ้น 1.4 แสนล้านบาท ตรงนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ล่าสุดมติ ครม.ให้กองทุนน้ำมัน ออกร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ ของกองทุนน้ำมันในวงเงินสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และยังบอกว่าจะอนุมัติงบกลางอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริหารจัดการระหว่างที่รอ พ.ร.ก. ซึ่งงบกลางปี 2565 อนุมัติไว้ 8.9 หมื่นล้านบาท มีการอนุมัติให้ใช้จ่ายไปแล้ว 5.9 หมื่นล้านบาท และมีภาระที่ต้องชดเชยงบบุคลากรที่ตั้งไว้ไม่เพียงพออีกราว 2.3 หมื่นล้านบาท จึงขอถามว่า 5 หมื่นล้านบาทนั้นจะหามาจากไหน ถ้าไม่ใช่จาก งบฯปี 66 รวมถึงยอดหนี้กองทุนวินาศภัย ตอนนี้พุ่งไปแล้ว 10 เท่าของเงินกองทุน ซึ่งเงินกองทุนมีอยู่เพียงแค่ 5,600 ล้านบาท แต่ยอดหนี้จากเจ้าหนี้กว่า 7 แสนราย รวมแล้ว 65,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนวินาศภัยไม่สามารถที่จะใช้หนี้ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องกู้เพิ่ม และยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าสุดท้ายใช้ไม้ตายเดียวกับกองทุนน้ำมัน คือให้กระทรวงการคลังเป็นคนค้ำประกันอีก สุดท้ายทั้งหนี้กองทุนน้ำมันและหนี้กองทุนวินาศภัยก็ตกเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกลายเป็นภาระงบประมาณเช่นเดียวกัน ดังนั้นขอปรับลดงบที่มีความซ้ำซ้อน และกระจุกตัวลงอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ให้เอาเข้างบกลาง แต่ให้ออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี เพื่อรอรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.อานนท์' ชงสูตรการเมืองทำลาย 'ก้าวไกล-ธนาธร' เชื่อยอมเจ็บเถิด จะได้จบ

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

ปชป. ขย่ม 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ ทำไทยไม่ติดอันดับประเทศน่าลงทุน

ปชป. จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข หลังผลจัดอันดับ EIU ไทยไม่ติดประเทศน่าลงทุน เหตุไร้เสถียรภาพการเมือง 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ โดน 'อดีต-อนาคต' นายกฯ ประกบตลอด