พท. ร่อนหนังสือไล่บี้ 'นายกฯ-ครม.' พฤติกรรมเอื้อ 'คิงส์เกต'

‘เพื่อไทย’ ร่อนหนังสือเตือน ‘นายกฯ- ครม.’ พฤติกรรมเอื้อ ‘คิงส์เกต’ ได้สิทธิ BOI ไม่ต้องเสียภาษี หวั่นเงินเข้าคลังแผ่นดินสูญนับหมื่นล้าน ตะเพิดพ้นตำแหน่งก่อนศาลวินิจฉัย

22 ส.ค. 2565 – ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 ส.ค.) จะส่งหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เพื่อบอกกล่าวถึงผลของการไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากการใช้มาตรา 44 ปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อให้ใช้โอกาสในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ซึ่งอาจเป็นนัดสุดท้ายในการระงับยับยั้งความเสียหายจากคดีเหมืองทองอัครา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์

หนังสือฉบับนี้จะเป็นผลโดยตรงกับพลเอกประยุทธ์ หากรับหนังสือแล้วยังกระทำความผิด ละเลย เพิกเฉย คณะรัฐมนตรีจะมีส่วนในความรับผิดตามมาตรา 158 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจะเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่องค์กรอิสระจะนำไปพิจารณาเมื่อมีการฟ้องร้องต่อไป

น.ส.จิราพร กล่าวว่า การปิดเหมืองแร่ทองคำโดยลุแก่อำนาจทำให้หลายคนตกงานกว่า 5 ปี ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย ต้องนำเงินภาษีแผ่นดินกว่า 731 ล้านบาท ไปต่อสู้คดี เมื่อรัฐบาลไทยทราบว่าสุ่มเสี่ยงที่จะแพ้คดี จึงเริ่มมีการเจรจาประนีประนอมยอมความ มีข้อเสนอของคิงส์เกตทั้งหมด 11 ข้อ ซึ่งมีบางข้อที่ไทยได้ดำเนินการให้กับคิงส์เกตเรียบร้อยแล้ว ได้แก่

1.ไทยอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงในวันที่ 19 มกราคม 2566 เพื่อเปิดทางให้บริษัทอัคราฯ กลับมาเปิดเหมืองแร่ชาตรีที่ยุติการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 ได้

2.ไทยอนุมัติอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่ทั้งหมด 397,226 ไร่ให้บริษัทคิงส์เกต ที่เคยขอไว้ตั้งแต่ปี 2546 และไม่เคยได้รับการอนุมัติ แต่เมื่อมีคดีกับบริษัทคิงส์เกตฯ และคดียังไม่ถึงที่สุดกลับอนุมัติทันที และยังเหลืออีกราว 600,000 ไร่ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติม

3.คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ให้ความเห็นชอบเรื่อง นโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องระยะแรก โดยสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ก.อุตสาหกรรม และ ก.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกันพิจารณา “ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” ด้วยการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นการเข้าข่ายเตรียมการเปิดทางให้กับบริษัทอัคราฯ สามารถขอรับการสนับสนุนจาก BOI และการลดหย่อนภาษีได้ ตามข้อเรียกร้องของคิงส์เกตฯ ข้อที่ 4 หรือไม่

โดยข้อเรียกร้องของคิงส์เกตคือ ขอสิทธิส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่หมดสิทธิ์ได้รับการยกเว้นภาษีเท่ากับมูลค่าการลงทุนในปี 2563 ไปแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เคยให้ความเห็นว่าการขอขยายระยะเวลาการส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมระยะเวลาที่ถูกระงับการประกอบกิจการไม่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งกิจการเหมืองแร่ทองคำไม่ได้อยู่ในรายการส่งเสริมการลงทุน (ในกรณีขอยื่นสิทธิส่งเสริมการลงทุนใหม่)

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังจะมีมติให้กิจการเหมืองแร่ที่ไม่ได้อยู่ในรายการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กลับมารับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งย้อนแย้งกับประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ที่กำหนดให้ต้องจัดทำ ‘กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ’

โดยกำหนดวิธีการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำไว้ว่า ‘ไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมการลงทุนให้กับโครงการทำเหมืองแร่ทองคำด้านภาษีต่างๆ’ แต่ ครม.กลับกระทำการขัดกับประกาศกระทรวงเสียเอง แม้การส่งเสริมการลงทุนจะเปิดทางให้เหมืองแร่หลายชนิดขอรับสิทธิประโยชน์ได้ แต่กิจการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยในขณะนี้เหลือเพียงแห่งเดียวที่ยังประกอบกิจการอยู่ คือ บริษัทอัคราฯ เท่ากับว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเช่นนี้ เป็นการกรุยทางเอื้อประโยชน์ให้กับอัคราฯ ผูกขาดการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยหรือไม่ หากกระทำการสำเร็จอาจทำให้ไทยสูญเสียเงินภาษีซึ่งเป็นรายได้แผ่นดินนับหมื่นล้านบาท

นางสาวจิราพร กล่าวว่า การที่ไทยมีการเจรจาให้สิทธิต่างๆ และผลประโยชน์ของประเทศที่เกินกว่าข้อพิพาทแก่บริษัทคิงส์เกตฯ ไป เพื่อนำไปสู่การถอนฟ้อง เป็นการปัดความรับชอบมาไว้ที่แผ่นดินให้รับผิดแทนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเท่ากับว่าพลเอกประยุทธ์ ได้ยอมรับแล้วว่าการใช้มาตรา 44 เป็นคำสั่งที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงจนทำให้ประเทศไทยต้องก้มหน้าก้มตาคืนสิทธิเดิม เพิ่มเติมด้วยสิทธิประโยชน์ใหม่มากมาย จึงอยากให้พี่น้องประชาชนจับตาดูข้อเสนอของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่เหลือ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องข้อที่ 8 ซึ่งขอให้ไทยแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในท้องถิ่นที่ค้างอยู่ทั้งหมด คือการยุติคดีของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่อยู่ใน ป.ป.ช. DIS ปปง. และกองปราบปราม

“หากพลเอกประยุทธ์ มีสามัญสำนึกรับผิดชอบมากพอ ก็ไม่ควรอยู่รอจนถึงวันที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งว่า ครบ 8 ปีหรือยัง ถ้ายังพอมีสามัญสำนึกอยู่บ้างก็ควรจะแสดงความรับผิดชอบออกไปตั้งนานแล้ว ไม่ต้องรอทำความเสียหายให้กับประเทศนานขนาดนี้ แต่ถ้าดันทุรังจะอยู่ต่อจนถึงวันที่ลงจากอำนาจ พรรคเพื่อไทยจะเสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบเรื่องเหมืองทองอัคราอย่างเข้มข้นและถึงที่สุด เพื่อหาคนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ได้” น.ส.จิราพร ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่