ฝัน 'พิธา' รีเทิร์น! ลุยยกเลิก 272 ปิดสวิตช์ สว.

‘กัณวีร์’ ย้ำมาตรา 272 ควรยกเลิกไปนานแล้ว ตัดอุปสรรค สว. หวัง ‘พิธา’ รีเทิร์น 8 พรรคร่วมจับมือตั้งรัฐบาลอีกรอบ

4 ส.ค. 2566 – ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่สุดท้ายแล้วจะมีการแก้ไขหรือคงไว้ ว่า จริงๆ แล้วมาตรา 272 ควรแก้ไขและยกเลิกนานแล้ว เพราะเป็นกลไกหนึ่งในการขัดขวางประชาธิปไตย พรรคเป็นธรรมชัดเจนในการสนับสนุนยกเลิกมาตรา 272

เมื่อถามว่า ทางพรรคเป็นธรรมมีแนวทางในการโหวตมาตรา 272 อย่างไร นายกัณวีร์ กล่าวว่า สนับสนุนยกเลิกมาตรา 272 เราเห็นว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งแรก ก็ใช้มาตรา 272 ที่มี สว.อยู่ ที่ไม่สามารถทำให้เราโหวตนายกฯ ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้มีการเลื่อนการโหวตนายกฯ ออกไป เพื่อรอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ การเสนอการแก้ไขเป็นทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการเสนอรอ 10 เดือน ให้ สว. หมดวาระหรือไม่ นายกัณวีร์ กล่าวว่า เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเดอะรีเทิร์นออฟพิธาก็ได้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เราก็สามารถให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง เพราะวันที่เลือกนายกฯวันที่ 19 ก.ค. มีปัญหาที่ข้อบังคับที่ 41 ที่ไม่สามารถเสนอญัตติที่เสนอไปแล้ว กลับเข้ามาใหม่ได้ แต่ครั้งนี้เราจะบอกว่าการเลือกนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ ก็จะทำให้มีโอกาส ในการตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ได้เหมือนเดิม ซึ่งการแก้ไขมาตรา 272 เป็นทางเลือกหนึ่งและเป็นทางเลือกที่ดีด้วย เพราะควรจะเป็นตั้งนานแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามจะคุยกับ สว. อย่างต่อเนื่องว่า จะขอให้มีการยกมือให้แคนดิเดตนายกฯ ตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักในเรื่องที่คุยกับ สว. ฉะนั้นนี่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทางพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เสนอขึ้นไป

ส่วนกรณี สว.บางคนระบุว่าการแก้ไขมาตรา 272 จะต้องทำประชาพิจารณ์จากประชาชนก่อนไม่สามารถแก้ไขในที่ประชุมรัฐสภาได้ นายกัณวีร์ กล่าวว่า เป็นหนึ่งทางในการซาวเสียง จริงๆ ทาง สส. ก็เป็นตัวแทนของประชาชนเช่นกัน ฉะนั้นการทำประชาพิจารณ์จริงๆ ก็จำเป็น เพียงแต่ตอนนี้จำเป็นต้องทำทุกวิถีทาง ตัวเลือกต่างๆ ต้องเอามาวางบนโต๊ะให้สามารถพิจารณาได้

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็น สส. การประกาศตัวว่าพร้อมเป็นฝ่ายค้านนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวหรือมติพรรค นายกัณวีร์ กล่าวว่า “เป็นทั้งความเห็นส่วนตัว และมติพรรคพูดคุยกับหัวหน้าพรรคเรียบร้อย ซึ่งนี่คืออุดมการณ์ของพรรคเป็นธรรมด้วยว่าเราจะสนับสนุนประชาธิปไตย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า อึดอัดใจหรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เหมือนจะไปกันไม่ได้ นายกัณวีร์ กล่าวว่า ไม่อึดอัด จริงๆ การเมืองคือการต่อรองและการพูดคุยกัน ถ้ามีทางเลือกที่ทำให้ดีที่สุดก็คงต้องเป็นไปอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม การพูดคุยต่อรองต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงๆ และต้องเอาอำนาจคืนสู่ประชาชน

เมื่อถามว่า ยังมีความหวังหรือไม่ที่ 8 พรรคจะมาจับมือกันได้อีก นายกัณวีร์ กล่าวว่า ตนมีความหวัง เพราะจะเป็นสิ่งเดียวที่มติมหาชนเป็นแหล่งที่มาที่เดียวของอำนาจที่จะไปสถาปนาอำนาจรัฐ ฉะนั้นการพูดคุยกัน 2 พรรคใหญ่ รวมถึงอีก 6 พรรค ที่ร่วมเซ็น MOU กันแต่แรก จะเป็นแหล่งที่มาที่เดียวของอำนาจรัฐตอนนี้

“ข้อเสนอ 10 เดือนอาจจะถึง ขอให้ทุกคนมีความมั่นใจว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาซึ่งรัฐบาลของประชาชนจริงๆ” นายกัณวีร์ ระบุ

เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวด้วยว่า ได้คุยกับนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า “จริงๆ คุณกัณวีร์จะไปสุดซอยขนาดนั้น เราจะไปร่วมจัดตั้งฝ่ายค้าน เรายังมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เราจะร่วมมือฝ่ายค้านอย่างเดียว เพราะเรามีฉันทามติของมหาชน จะทำให้เราเป็นฝ่ายรัฐบาลได้ ฉะนั้นบอกไปเลยให้เสียงดังๆ ว่าเราจะจัดตั้งรัฐบาลให้ได้”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อไทยเปิดตัวผู้สมัครนายกอบจ. ฟุ้ง 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรม 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 เพื่อเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) พรรคเพื่อไทยจำนวน 9 คน โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน

'ก้าวไกล' ไม่กังวลถูกยุบพรรค 'ชัยธวัช' บอกคุยลูกพรรคหลายรอบแล้ว

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาในคดีล้มล้างการปกครอง ว่า คดีนี้มีความร้ายแรงมากกว่าคดีก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ

เลขา กกต.โยนบาปรัฐธรรมนูญ! บอกการคัดเลือก สว.แก้ไขไม่ได้

'เลขา กกต.' มองคงแก้อะไรไม่ได้ แม้ถูกทักท้วง รูปแบบ’คัดเลือก สว. เหตุ รธน.กำหนดไว้ ชี้ไทม์ไลน์ ไม่เหมือน เลือกตั้ง สส. ยันมีมาตรการป้องกันการฮั้วทุกพื้นที่

หน้าที่และอำนาจของ สว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่สาระน่ารู้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา 20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทย ไปพร้อมกัน