'รองฯอ๋อง' แจงยิบ เหตุยังเซ็นรับมอบรัฐสภาไม่ได้ ติดมาตรการงดเว้นค่าปรับจาก 2 รัฐบาล

'รองฯ อ๋อง'แจงยิบ เหตุยังเซ็นรับมอบอาคารรัฐสภา ไม่ได้ ติดมาตรการงดเว้นค่าปรับจาก 2 รัฐบาล ทำให้ไม่สามารถคิดค่าปรับได้ ย้ำต้องสมบูรณ์ 100% จึงจะส่งมอบได้

4 ต.ค.2566 - ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฏรคนที่ 1 แถลงความคืบหน้าในการตรวจรับอาคารรัฐสภา ว่า ก่อนอื่นตนไม่ใช่คนมีอำนาจโดยตรง หรืออำนาจเซ็นรับ เนื่องจากผู้จ้างกับผู้ว่าจ้างคือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับทางบริษัทที่รับจ้างโดยตรง ตนขอย้อนไปที่ไทม์ไลน์ในช่วงเวลาของการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.56 ที่มีการลงนามในสัญญาเลขที่ 116 / 2556 ซึ่งจะต้องมีการส่งมอบที่ดินในวันที่ 7 มิ.ย. 56 และมีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 900 วัน หรือคือภายในวันที่ 24 พ.ย. 58 แต่ติดปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า จึงมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1864 วัน โดยไม่มีการคิดค่าปรับ ซึ่งการขยายสัญญานี้ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 63 หลังจากนั้นเมื่อผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานตามระยะเวลาที่กำหนดได้ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จึงสามารถคิดค่าปรับได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 เป็นต้นมา จนมาถึงวันที่ 18 ก.ย. 66

ทั้งนี้ ตนได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการตรวจการจ้างว่ามีการประชุมหารือเพื่อการรับมอบงานจากผู้รับจ้างและขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้น ระยะเวลารวมที่ก่อสร้างล่าช้าคือ 990 วัน โดยค่าปรับตามสัญญากำหนดให้คำนวณค่าปรับเป็นรายวัน วันละ 0.1% จากราคาตามมูลค่าของสัญญา หรือวันละ 12,280 ล้านบาท

ประการที่หนึ่ง ผู้รับจ้างได้ขอใช้สิทธิ์ในตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่หน่วยงานรัฐได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ โดยให้คิดค่าปรับเป็นศูนย์ เป็นเวลา 827 วัน ทั้งนี้ จากการที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกรมบัญชีกลาง โดยคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา (กวพ.รส.) ซึ่งได้นำมาปรับใช้กับสัญญาก่อสร้าง ซึ่งมีการขยายเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 15 ให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีการงดหรือลดค่าปรับเต็มจำนวนถึง 10,155,560,000 บาท ทำให้เราไม่สามารถคิดค่าปรับขั้นต่ำกับทางผู้รับจ้างได้

ประการที่สองคือ จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้นำมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าแรง 300 บาท ตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเวลา 150 วัน ซึ่งหากมีการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างจริง จะถือเป็นการงดเว้นค่าปรับให้ผู้รับจ้างอีก 1,842 ล้านบาท โดยทั้งสองกรณีที่กล่าวมาข้างต้น ผู้รับจ้างจะได้รับการยกเว้นค่าปรับรวมทั้งหมด 11,997,560,000 บาท ที่ทำให้เราไม่สามารถคิดค่าปรับได้

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการควบคุมงาน และที่ปรึกษาบริหารโครงการ วันละ 332,140 บาท เป็นเวลา 990 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ถึง 18 ก.ย. 66 รวมเป็นยอดสุทธิ 328,818,600 บาท เนื่องจากผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด ทำให้ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ควบคุมงาน และที่ปรึกษาบริหารโครงการ

"จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายใต้การนำของเลขาธิการสภาฯ คนเดิม เราจึงยังไม่สามารถตรวจรับงาน และยังไม่มีการเซ็นรับอาคารรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องดำเนินการต่อในส่วนของรักษาการเลขาธิการสภาฯ ว่าจะมีจัดการเรื่องนี้อย่างไร โดยความเห็นของเสียงข้างน้อยนั้น ผู้รับจ้างจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร จะมีการเริ่มคิดค่าปรับจากการที่ไม่สามารถทำให้ตรงตามแบบเริ่มต้นหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไร และฝ่ายกฎหมายของสภาฯ จะสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่สิ่งที่เราต้องติดตามต่อไปคือเรื่องของการแก้ไขสัญญา และเรื่องของมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่มีมูลค่ากว่า 1,824 ล้านบาท"

เมื่อถามว่า การเปลี่ยนเลขาธิการสภาฯ จะทำให้การตรวจสอบสะดุดหรือล่าช้าหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจรับยังคงเป็นชุดเดิม ถึงอย่างไรการลงนามท้ายสุด เพื่อส่งมอบอาคารรัฐสภายังคงต้องใช้อำนาจของเลขาธิการสภาฯ โดยรักษาการเลขาธิการสภาฯ สามารถทำแทนได้

เมื่อถามถึงกรณีของค่าปรับงวดที่ 2 จะต้องมีการแก้ไขสัญญาหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ผลจากมาตรการของรัฐบาลในอดีต สืบเนื่องจากปี 57 ทั้งเรื่องการก่อสร้างล่าช้า และการย้ายพื้นที่ เรื่องเหล่านี้มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง ต้องทำประเด็นให้ชัดเจน และคณะกรรมการต้องใส่รายละเอียดทั้งหมดในรายงาน

เมื่อถามว่า จากข้อมูลที่มี ประเมินไว้ว่าจะสามารถตรวจรับอาคารรัฐสภาได้ภายในช่วงเวลาใด นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในคณะกรรมการยังคงมีความเห็นแย้งกันอยู่ รวมถึงสัญญาก็ระบุว่า อาคารรัฐสภาต้องมีความสมบูรณ์ 100% เท่านั้น จึงจะสามารถส่งมอบได้

เมื่อถามถึง อีก 6 จุดของรัฐสภา ที่ยังมีความไม่สมบูรณ์ตามแบบ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากยืนตามคณะกรรมการเสียงข้างมาก จะต้องไปแก้ในสัญญา ถ้ายืนตามคณะกรรมการเสียงข้างน้อย ผู้รับเหมาจะต้องไปแก้ไขจุดเหล่านั้นให้ถูกต้องตามแบบ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องใช้เหตุใช้ผลกัน เนื่องจากเวลาผ่านมานาน จะปรับแก้ให้สมบูรณ์ตามแบบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คงค่อนข้างยาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม. ไฟเขียวขึ้นค่าแรง 400 บาท ประเดิม 4 จังหวัด 1 อำเภอ มีผล 1 ม.ค.68

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22

'พิพัฒน์' ให้ลุ้นประชุมบอร์ดไตรภาคีเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

'พิพัฒน์' ให้ลุ้นประชุมบอร์ดไตรภาคีเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพรุ่งนี้ ย้ำทันปีใหม่แน่นอน ส่วนของขวัญปีใหม่ ก.แรงงานเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

ปัดเตะถ่วง! นายกฯแพทองธาร ยันค่าแรง 400 บาท จะขึ้นภายในปีนี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความชัดเจนในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่ดูเหมือนจะเลื่อนการจ่ายเงินจากวันที่ 1 ต.ค. 2567 ออกไป

ถกค่าแรง 400 บาทล่ม ประชุม 3 ฝ่ายสะดุด!

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 9/2567 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาปรับอัตรา