'ก้าวไกล' อัดรัฐบาลทำประชามติแก้ รธน. ปิดโอกาสประชาชนอยากแก้หมวด 1,2

"พริษฐ์" ตั้งกระทู้สด อัดไม่ใช่เวลาตั้งคกก.ศึกษาทำประชามติ จี้ตอบยืมมือคนอื่นสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล ด้าน "ภูมิธรรม" แจงเป้าหมายรบ. มีรธน.ฉบับใหม่ให้ได้ภายใน 4 ปี เหน็บไม่ใช่เสนอหลายครั้งแล้วตกเหมือนอดีต แนะก้าวไกลใจกว้าง อย่ามองโลกแง่ร้าย

5 ต.ค.2566 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายขื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา กรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ ทั้งนี้ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเคยศึกษาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ดังนั้น จึงไม่ใช่เวลาของการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯชุดดังกล่าว แต่เป็นเวลาของการตัดสินใจจะเดินหน้าอย่างไร เพราะเราเคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง และเริ่มต้นทำประชามติ จึงอยากทราบว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่ออะไร ศึกษาเรื่องใด และยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่ได้ตั้งมาเพราะว่าไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าตามจุดยืนเดิม แต่ยืมมือคนอื่นสร้างความชอบธรรมให้ยูเทิร์นย้อนจุดยืนเดิมบางส่วน

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากประชาชนหรือบุคคลที่อาจไม่ใช่ประชาชนทั่วไปประสงค์อยากจะเสนอแก้ไขข้อความในหมวด1-2 ที่ไม่กระทบระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐอย่างแน่นอน รัฐบาลจะอธิบายอย่างไรว่าไม่อนุญาตแม้แต่เสนอความคิดเห็น และขอคำยืนยันว่าตั้งแต่หมวด3เป็นต้นไปจะยกร่างใหม่ทั้งหมดไม่ใช่เพียงการแก้ไขรายมาตรา จะไม่ล็อคระบบรัฐสภาเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบคู่ และรูปแปบการปฏิรูปองค์กรอิสระ รวมถึงสสร.จะมาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ใช่หรือไม่

นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่ได้คิดว่าการตั้งคณะกรรมดังกล่าวขึ้นมา จะเป็นการดึงปัญหาให้ล่าช้าตรงกันข้ามอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จโดยเร็วเราพยายามหาข้อสรุปที่ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องการแก้ไขปัญหาความแตกต่างของสังคมขณะนี้เราวางหลักการไว้ชัดเจนใน 2 หลักการคือ 1.เราต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุดเสร็จสิ้นภายใน 4 ปีซึ่งคณะกรรมการจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาน้อยที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะการทำมาประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3-4 พันล้านบาท ยิ่งทำมากก็เหมือนจัดเลือกตั้ง ตนคิดว่าไม่ควรเสียงบประมาณมากขนาดนั้น จึงจะหาลู่ทางว่าทำเพียง 2 ครั้งก็พอแล้วแต่ถ้าดูตามกฎระเบียบอาจต้องทำ 3-4 ครั้งอยู่ที่การตีความแตกต่างกัน

นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า 2.รัฐบาลต้องการทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้สำเร็จ ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาเสนอ 4 ครั้งแล้วก็ตกไป ฉะนั้นเราจึงต้องหาจุดร่วมที่ดีที่สุด นี่คือเป้าหมายของรัฐบาลและตั้งใจว่าภายใน 4 ปีนี้ต้องมีรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญครบสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ การทำประชามติไม่ใช่รัฐบาลมีมติแล้วดำเนินการได้เลย แต่ความจริงมีขั้นตอนต่างๆต้องดำเนินการ และเพื่อความรอบคอบจึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนคำถามที่ว่าจะถามอะไร มีอะไรบ้าง ตนคิดว่าส่วนที่เกี่ยวข้องคือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร และทำประชามติกี่ครั้งอย่างไรก็ตามตนรู้สึกเสียใจนิดเดียวที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาในครั้งนี้ และเห็นว่าไม่ควรมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป สิ่งที่กำลังทำคือการเริ่มต้น ถ้าทำใจกว้างจะทวีคูณ คุยกันได้ ยืนยันรัฐบาลจะทำให้เป็นประชาธิปไตยดีที่สุดมากที่สุดประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดผ่านการพิจารณาตามกฎหมาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

รองปธ.กมธ.ต่างประเทศสภาฯ ชี้น่ากังวล ‘บัวแก้ว’ สุญญากาศ หนุน ‘นพดล’ เหมาะ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร  ลาออกจาก รมว.ต่างประเทศว่า เป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาเวลานี้ กระทบกับประเทศไทยอย่างมาก

ก้าวไกล เดือดแทน ‘หมอชลน่าน’ ทุ่มเทเหนื่อยสุด โดนคนทิ้งพรรคเสียบเก้าอี้

‘ณัฐชา’ มอง ปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ‘เพื่อไทย’ ยังรักษาคาแรคเตอร์ ‘สมบัติผลัดกันชม’ เก้าอี้ รมต. เหมือนเดิม สงสัย ทำไมเอาคนทิ้งพรรคอย่าง ’สมศักดิ์‘ แทน ’หมอชลน่าน‘ เหตุเหนื่อยสุดแบกรับสถานการณ์ช่วงเลือกตั้ง-จัดตั้งรัฐบาล

'รังสิมันต์'แนะ 3แนวทางแก้ปัญหาเมียนมา!

กมธ.ความมั่นคงเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถกสถานการณ์เมียนมา 'โรม' ชี้ปัญหาในเมียนมาก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนหนีอพยพข้ามแดน ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา