‘รสนา’ ส่งจม.เปิดผนึก แจ้ง กกต.สอบแจกเงินดิจิทัลเข้าข่ายผิดกม.หรือไม่

23 ต.ค.2566-น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า รสนาทำจดหมายเปิดผนึกถึงกกต. อีกฉบับเตือนให้ระวังรัฐบาลออกพรก.กู้เงินเพื่อทำโครงการแจกเงินดิจิทัลภายในไตรมาสแรกของปี 2567 เป็นการหลีกเลี่ยงการกำกับโดยรัฐสภาหรือไม่ เข้าข่ายเป็นการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างความนิยมให้แก่พรรคการเมือง หรือไม่ โครงการดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ในตอนหาเสียง แตกต่างจากที่ชี้แจงไว้กับกกต.นั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ จึงทำจดหมายเปิดผนึกถึงกกต. เป็นการแจ้งข้อมูลสำคัญต่อกกต.แล้ว

เนื้อหาจดหมายที่ส่งถึงกกต.มีดังนี้ กราบเรียนประธานกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม2566 ร้องเรียนให้คณะกรรมการ ก.ก.ต. ร่วมกับองค์กรอิสระพิจารณาโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการชี้แนะและตักเตือนรัฐบาลกรณีที่มีความเห็นร่วมกันว่าโครงการดังกล่าวเสี่ยงต่อการทุจริตและอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศ นั้น

ข้าพเจ้าขอเรียนว่าคณะกรรมการ ก.ก.ต. จะเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะโครงการดังกล่าวกำลังจะเปิดประเพณีการแข่งขันทางการเมืองใหม่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง มีรายละเอียด ดังนี้

1.เป็นโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์

โครงการประชานิยมที่ผ่านมานั้น มักจะมีขอบเขตบางประการ เช่น ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ ให้ความช่วยเหลือในยามเจ็บป่วย สนับสนุนการซื้อบ้านหลังแรก สนับสนุนการซื้อรถคันแรก เป็นต้น หรือจะเป็นโครงการที่จำเป็นยิ่งยวดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น วิกฤตสถาบันการเงินปี 2540 วิกฤตน้ำท่วมปี 2554 วิกฤตโควิดที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศในปี 2563-2565 แต่โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น มิได้มีสถานการณ์วิกฤตยิ่งยวดทางเศรษฐกิจ มิใช่เพื่อช่วยเหลือคนที่เปราะบางในสังคม มิใช่เพื่อแก้ปัญหาสถาบันการเงินใด แต่เกิดขึ้นเพียงเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ ในปี 2566 ร้อยละ 2.8 และในปี 2567 จะเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวไม่มีสภาวะวิกฤตใดๆ นั้น แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ รัฐบาลต้องการให้อัตราการขยายตัวในปี 2566 เพิ่มขึ้น เช่นเป็นร้อยละ 5

ดังนั้น โครงการทำนองนี้จึงเป็นโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์ ซึ่งถ้าคณะกรรมการ ก.ก.ต. อนุญาตให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นการสร้างประเพณีทางการเมืองใหม่ที่อันตราย

2.เป็นโครงการที่ใช้เกื้อหนุนการหาเสียงได้

กรณีคณะกรรมการ ก.ก.ต. อนุญาตให้โครงการทำนองนี้เกิดขึ้นได้ รัฐบาลก็ย่อมจะสามารถออกโครงการซ้ำในห้วงเวลาใกล้หมดอายุก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อทำให้เศรษฐกิจบูมคึกคัก และช่วยเสริมคะแนนนิยมให้แก่พรรครัฐบาล อันจะเข้าข่ายเป็นการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างความนิยมให้แก่พรรคการเมือง  “ประการสำคัญ โครงการดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ในตอนหาเสียงอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างร้ายแรงด้วย

3.เป็นโครงการที่นำไปสู่การแข่งขันทางการเมือง

กรณีคณะกรรมการ ก.ก.ต. อนุญาตให้โครงการทำนองนี้เกิดขึ้นได้ ในการเลือกตั้งในอนาคต พรรคการเมืองก็ย่อมสามารถแข่งขันกัน เช่น ขยายวงเงินแจกเป็นคนละ 1000,000 บาท หรือคนละ 500,000 บาท อันจะเป็นจุดเริ่มต้นพาประเทศสู่หายนะในฐานะการคลังดังเช่นเกิดขึ้นในบางประเทศในทวีปอเมริกาใต้

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะใช้วิธีออกพระราชกำหนดเพื่อกู้หนี้สาธารณะ เพื่อให้สามารถแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้ภายในไตรมาสแรกปี ๒๕๖๗ ซึ่งนอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงการกำกับโดยรัฐสภาทั้งที่เป็นโครงการใหญ่อันดับหนึ่งของรัฐบาล ยังจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา62 โดยไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง และการเปิดประเพณีโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์ก็จะยิ่งทำลายหลักการวินัยการเงินการคลังของชาติโดยสิ้นเชิงอีกด้วย

ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้ท่านสั่งให้สำนักงาน ก.ก.ต. พิจารณาว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่ปรากฏรายละเอียดมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏชัดเจนว่า แหล่งเงินที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ก.ต. ว่าส่วนใหญ่จะมาจากงบประมาณ แต่บัดนี้มีแนวโน้มจะใช้วิธีกู้หนี้สาธารณะโดยออกเป็นพระราชกำหนด อันแตกต่างจากที่ชี้แจงไว้ นั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ โดยขอให้พิจารณากฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง มิใช่เฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และขอให้พิจารณารัฐธรรมนูญประกอบด้วย

ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือนี้ให้ปรากฏว่าข้าพเจ้าได้แจ้งข้อมูลสำคัญต่อท่านแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขาฯกกต. แจงแนวปฏิบัติเลือก สว. ผู้สมัครทำได้แค่แนะนำตัว ห้ามนักการเมืองช่วยเหลือ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟสบุ๊คชี้แจงถึงการปฏิบัติตัวในการทำหน้าที่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือก สว.ว่าในส่วนของประชาชนไม่มีสิทธิเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ให้

คปท. นำทีมร้องกกต. ส่งศาลรธน.วินิจฉัย 'พิชิต ชื่นบาน' ขาดคุณสมบัตินั่งรมต.

เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำคปท. นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศปปส. ยื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

'อนุทิน' สั่งลูกพรรคภูมิใจไทย ห้ามฝ่าฝืนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวเลือก สว.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกหนังสือประกาศพรรคภูมิใจไทย เรื่อง ห้ามกระทำการโดยวิธีการใด ๆ ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ว่าขณะนี้ใกล้ครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะต้องมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่

อดีตคณบดีนิติฯ มธ. ร้องศาลปกครองกลาง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว สว.

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567