'วันนอร์' ย้ำ ความพร้อมถกวาระแรก 'งบฯ 67' หวังปฎิรูป-เพิ่มการมีส่วนร่วมปชช.

'วันนอร์' ย้ำ ความพร้อมถกวาระแรก 'งบฯ 67' หวังปฎิรูป-เพิ่มการมีส่วนร่วมปชช. ให้สมกับเป็นรัฐสภาเป็นของทุกคน อวดผลงาน 5 เดือน ดันร่างกม. ชม สส.รุ่นใหม่ ไม่อภิปรายน้ำท่วมทุ่ง มอง 'รัฐบาล' ใส่ใจส่ง รมต.มาตอบกระทู้มากขึ้น

29 ธ.ค. 2566 - นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ว่า ตนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรนี้ มา 44 ปี ได้เห็นการพัฒนาของรัฐสภามาโดยตลอด กระทั่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566 ก็ได้เห็นการพัฒนาไปมาก โดยจะเห็นได้ว่ามีทั้ง สส.คนรุ่นใหม่ และ สส.คนรุ่นเก่า รวมถึงหากสังเกตให้ดีจะเห็นการอภิปรายของสมาชิกที่อภิปรายได้มีสาระ มีเนื้อหาที่ครบถ้วน มีการแสดงวิดีทัศน์ภาพของจริงมานำเสนอ และเข้าใจง่าย ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

"ถือเป็นการวิวัฒนาการการทำงานของสมาชิกสภาฯ ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลมีการเอาใจใส่ในการทำงานของรัฐสภามากขึ้น เมื่อมีกระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป หรือกระทู้ถามเฉพาะ จะมีรัฐมนตรีมาตอบเกือบทุกครั้ง อาจมีบางครั้งที่รัฐมนตรีติดภารกิจไม่สามารถมาตอบได้ ก็จะมีการแจ้งล่วงหน้าทุกครั้งว่า จะสามารถมาตอบกระทู้ได้เมื่อใด"

ส่วนผลงานของสภาฯ ชุดนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 จะเห็นว่าสมัยประชุมที่ผ่านมาอาจยังมีร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณา ถูกนำมาบรรจุในวาระการประชุม เพราะในช่วงนั้นเพิ่งเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และได้รัฐบาลใหม่โดยที่ยังไม่เสนอกฎหมายเข้ามา ส่วนกฎหมายที่เสนอโดย สส. และภาคประชาชน ก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น เมื่อเปิดสมัยประชุมนี้ ตนจึงได้นำกฎหมายเหล่านั้นมาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชน และเพิ่งผ่านสภาฯ รับหลักการไป หากผ่านสภาฯ ได้เป็นผลงานที่เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริม และคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ขณะเดียวกันก็ยังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ และญัตติที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็จะผลักดันในสมัยประชุมนี้ด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า สภาฯ ชุดนี้ยังให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก พบว่ามี สส.วันละ 40 คน เป็นกระบอกเสียงที่นำปัญหาของประชาชนมาหาทางออกผ่านเวทีสภาฯ ในทุกเช้าวันพุธ และเช้าวันพฤหัสบดี หรือประมาณวันละ 40 เรื่อง แต่บางคนก็นำปัญหามาแจ้ง 3-4 เรื่อง เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหา

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2567 ช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. 2567 สภาฯ ก็มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ใช้เวลา 3 วัน ที่รัฐบาลจะนำเสนอต่อรัฐสภา อยากให้ประชาชนให้ความสำคัญ เพื่อทราบว่าแต่ละกระทรวงใช้งบประมาณเท่าใด เมื่อสภาฯ รับหลักการวาระแรกแล้ว ก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปพิจารณาในวาระสอง ก่อนจะเสนอกลับมายังรัฐสภาในวาระที่สาม ไม่เกิน 105 วันทำการ หรืออาจใช้เวลาเพียง 90 วัน

นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรจะพยายามปฏิรูประบบรัฐสภาใหม่ เพื่อให้มีการพัฒนา และมีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้น ให้สมกับเป็นรัฐสภาเป็นของประชาชนทุกคน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วันนอร์'มั่นใจคนไทยเกินครึ่งมาใช้สิทธิ์ประชามติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

'ปธ.สภา' ชี้ช่องรัฐบาลใช้กฎหมายเดิมทำประชามติได้ แค่ถาม ปชช.อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ระบุหากต้องการแก้ ก็เสนอเข้ามาช่วงเปิดวิสามัญได้ เชื่อคนออกมาใช้สิทธิเกินครึ่ง

ประธานสภาเตือนสติอย่าดันทุรังชงแก้ รธน.รอผลประชามติก่อน

'วันนอร์' ยันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังนำเข้าพิจารณาไม่ได้ เหตุต้องมีการทำประชามติก่อน เตือนหากดันทุรังแล้วถูกยื่นตีความเสียเวลาเปล่าๆ

'กูรูการเมือง' ชำแหละ! ปั่นเฟกนิวส์ 'วันนอร์' ไขก๊อกประธานสภา

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เบื่อกาลวินาศมาถึง อะไรต่อมิอะไรก็วิปริตแปรปรวนไป