'พริษฐ์' ร่ายยาวซัดรัฐบาลเศรษฐาพายเรือในอ่างแก้รัฐธรรมนูญ

'พริษฐ์' ทวงสัญญา 'รัฐบาล' ปมแก้ รธน. หลังพบกกระบวนการเป็นตลกหกฉาก พร้อมทำนายรัฐบาลเตรียมไพ่ ไว้กินรวบอำนาจ ดักทางให้รักษาสัจจะต่อประชาชน

04 เม.ย.2567 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นวันที่ 2 มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าขอทบทวนเหตุการณ์ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาภายใต้การนำของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ซึ่งเมื่อ 8 เดือนที่ผ่านมาเราเห็นวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของพี่น้องประชาชน ที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง รวมถึงเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เราเห็นรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ที่ออกแบบมาให้ซับซ้อนที่สุดในโลกเพื่อพยายามจะลดทอนเจตจำนงของพี่น้องประชาชน

นายพริษฐ์ อภิปรายว่า ขอถามนายกรัฐมนตรีว่า นี่คือระบบการเมืองที่เราอยากเห็นใช่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราควรจะคาดหวังภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่นิยามตัวเองว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยไทยใช่หรือไม่ ทราบดีว่าปัญหาที่พูดนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้เป็นคนก่อ โดยปัญหาเกี่ยวกับการเมืองไทยที่ได้ยกขึ้นมานั้น ล้วนมีต้นตอมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่นายกฯ และรัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น ความหวังของพี่น้องประชาชนว่าประเทศเราจะหลุดพ้นจากระบบการเมืองที่ไม่ปกติแบบนี้ได้เมื่อไหร่ จะแปรผันโดยตรงกับความแน่วแน่และความจริงใจของรัฐบาลในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวัดกันได้จากโจทย์สำคัญคือ เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อไหร่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยระบุว่าสิ่งแรกที่จะทำหากได้เป็นนายกฯ คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งภายใน 8 เดือน แต่ผ่านมาเกือบครึ่งทางของกรอบเวลาดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคำพูดบนเวทีนั้นเป็นเพียงอีกหนึ่งลมปากของนายกฯ ที่เราเชื่อถือไม่ได้ นอกจากนี้ ตั้งแต่ที่นายกฯ ไปดีลต่างชาติเรียกว่า ดีลปีศาจ นั้นและไปตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร เราก็เห็นว่าความกระตือรือร้นและความว่องไวของนายกฯ รีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็แทบจะระเหยหายไปหมด ณ วันที่รัฐบาลเริ่มทำงาน ซึ่งรัฐบาลมี 2 ทางเลือกหลักที่จะเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การเดินตามเส้นทางประชามติ 2 ครั้งโดยการเริ่มต้นยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ส.ร. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และการเดินตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการเพิ่มประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก 1 รอบตอนต้นกระบวนการก่อนจะเสนอร่างในการเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และแน่นอนว่าทั้ง 2 ทางเลือก มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน

“สิ่งที่สำคัญของเรื่องนี้คือโจทย์ในการเลือกระหว่าง 2 เส้นทางนี้ไม่ได้เป็นโจทย์ใหม่ แต่เป็นข้อสอบที่รัฐบาลรับรู้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังว่าแทนที่รัฐบาลจัดเตรียมคำตอบเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อเดินหน้าเต็มที่ในวันที่ตัวเองมีอำนาจแต่ผ่านมา 6 เดือนแล้ว รัฐบาลก็ยังตอบข้อสอบข้อนี้ไม่ได้ ทำได้แค่เพียงเดินหน้าเป็นวงกลม พายเรือในอ่าง เสมือนเหมือนกับตอนหนึ่งของตอนหนึ่งของรายการตลกหกฉาก ที่ไม่ได้ขยับประเทศไทยเข้าใกล้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน”

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ฉากที่ 1 คือ ฉากหักมุมเพราะเราได้เห็นรัฐบาลการกลับลำ เกี่ยวกับคำสัญญาเรื่องประชามติ ย้อนไปตอนตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนในแถลงการณ์ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก รัฐบาลจะออกมติ ครม. ให้มีการทำประชามติและจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเดินหน้าการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง แต่ผ่านไปไม่ถึง 43 วัน เมื่อมาถึงวันประชุม ครม.นัดแรกจริง รัฐบาลก็กลับลำจากเดิมที่จะออกมติทำประชามติ ก็ออกเป็นการประกาศตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแทน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่ารัฐบาลคงไม่ได้มองเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วน เหมือนกับที่โฆษณาไว้ในเอกสารคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ฉากที่ 2 คือ ฉากรวมญาติสนิทมิตรมิตรสหาย ผ่านกลไกของคณะกรรมการศึกษาที่เต็มไปด้วยคนกันเอง หากรัฐบาลยืนยันว่าต้องการรับฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลายจริง คำถามที่ต้องถามกลับไปคือทำไมท่านไม่ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการนั้นก็ต้องเป็นไปตามสัดส่วนของพรรคการเมืองต่างๆในสภาฯ และเป็นกระจกที่สะท้อนความหลากหลายในสังคม แต่ในทางตรงกันข้ามหากเราไปดูในองค์ประกอบของคณะกรรมการ อย่างน้อย 35 คน ที่ถูกตั้งขึ้นมา เราจะเห็นว่าจำนวนกรรมการที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับพรรคเพื่อไทยมีมากถึง 10 คน จึงอดคิดไม่ได้ว่าเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาล ในการตั้งคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ขึ้นมาคือการทำให้สิ่งที่ท่านมีความประสงค์จะทำอยู่แล้วดูมีความชอบธรรมมากขึ้น ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น เพียงเพราะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการดังกล่าว ทั้งๆที่คณะกรรมการชุดนี้ก็มีคนจากพรรคของท่านเต็มไปหมด

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ฉากที่ 3 คือ ฉากตลกร้าย ที่รับฟังความเห็นของประชาชนแบบผิดวัตถุประสงค์ ผิดที่ ผิดเวลา โดยจะเห็นว่าสิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้ได้ลงทุน ลงเวลาเยอะที่สุดคือการเดินสายทั่วประเทศเพื่อจัดเวทีรับฟังความเห็นจากพี่น้องประชาชน การรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นเรื่องที่ดีแต่สิ่งที่ตนทราบจากกรรมการหลายท่านในชุดนี้ และหลายคนที่เข้าร่วมเวทีดังกล่าวคือประเด็นที่ถูกพูดคุยกันในเวทีส่วนใหญ่เป็นเรื่องประชาชนมีความเห็นอยากจะเห็นเนื้อหาอะไรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแม้จะเป็นประโยชน์แต่ต้องยืนยันว่าไม่ได้เป็นภารกิจหลักของคณะกรรมการชุดนี้ รัฐบาลจะทำเกินหน้าที่ตนไม่ว่า แต่สิ่งที่ได้ทำลงไปเสมือนว่าไปทำงานนอก จนทำให้งานหลักเกิดความล่าช้า ยิ่งไปกว่านั้นประชาชน 200,000 กว่าคน ได้ร่วมกันเข้าชื่อในนามของกลุ่มเพื่อเสนอคำถามประชามติไปที่ครม. ซึ่งเป็นหัวข้อที่สอดคล้องโดยตรงกับภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสำนักเลขาธิการ ครม. ไปดองข้อเสนอของเขาไว้ จนถึงวันนี้ยังไม่มีการตอบกลับไปหาเขาแต่อย่างใด ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่ามีโอกาสเข้ามานำเสนอต่อครม. เมื่อไหร่ ทั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยแจ้งไว้แล้วว่าได้ตรวจรายชื่อเสร็จสมบูรณ์แบบตั้งแต่ประมาณ 200 วันก่อนหน้านี้

สส.บัญชีรายชื่อรายนี้กล่าวว่า ฉากที่ 4 คือ ฉากสยองขวัญ ที่เกิดขึ้นจากการเสนอคำถามประชามติที่เป็นปัญหา โดยหลังจากทำงานไปสองเดือนใช้งบประมาณคาดการณ์ว่าอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท ประชาชนคาดหวังว่ากรรมการชุดนี้คงต้องมีของดีของตัวเองมาแถลง แต่สิ่งที่ปรากฏคือการแถลงแค่ข้อสรุปเดียว เป็นข้อสรุปหรือข้อเสนอให้ครม.เดินหน้าตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง โดยให้ประชามติครั้งแรกมีหนึ่งคำถาม ที่ถามว่าท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวดหนึ่ง (บททั่วไป) หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ซึ่งแน่นอนว่าในมุมหนึ่งคำถามข้อนี้ เป็นคำถามที่หลายฝ่ายได้เตือนไว้แล้วว่ามีปัญหาและอาจจะเสี่ยงทำให้ประชามตินั้นมีโอกาสจะผ่านน้อยลง เพราะเมื่อท่านไปยัดไส้เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถามก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ว่ามีประชาชนบางคน อาจจะเห็นด้วยกับบางส่วนคำถามแต่ไม่เห็นด้วยกับบางส่วนคำถาม และไม่แน่ใจว่าจะลงมติเช่นไร ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะทำให้บรรดากลุ่มคนที่อยากจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ลงคะแนนเห็นชอบเหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ และมีคำถามที่หลายคนคาดเดาไว้ได้แล้วตั้งแต่ต้น เพราะเป็นคำถามที่เปรียบเสมือนธงที่ทุกคนรู้ดี ว่ารัฐบาลนั้นมีอยู่ในใจมาโดยตลอด ทั้งหมดจึงไปตอกย้ำข้อสงสัยของสังคมว่าหากคณะกรรมการชุดนี้จะมีข้อสรุปเพียงแค่นี้แล้วรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรกเพื่ออะไร

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ฉากที่ 5 คือ ฉากแก้เกมหรือฉากแก้เก้อ เพื่อนสมาชิกของตนในซีกรัฐบาลหลายคนก็เห็นถึงปัญหาของข้อเสนอคำถามประชามติของคณะกรรมการศึกษา เพราะผ่านไปไม่ถึง 28 วัน หลังจากคณะกรรมการศึกษาได้แถลงข้อเสนอต่อสาธารณะและเสร็จสิ้นภารกิจลง สส.จากพรรคเพื่อไทยก็ตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่อง ส.ส.ร. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เปรียบเสมือนการย้อนศรจากการเดินตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง มาเดินตามเส้นทางประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งไม่ติดใจว่าเราจะมาเดินตามเส้นทางนี้ เพราะตนเองและพรรคก้าวไกลก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าหากจะยึดตามกรอบกฎหมายในการทำประชามติ 2 ครั้ง ก็เพียงพอและหากจะลดมาได้จาก 3 เหลือ 2 ก็เป็นการประหยัดเวลาและงบประมาณ เราไม่ติดใจ แต่คำถามที่สำคัญถึงความจริงใจและความเป็นเอกภาพของรัฐบาลเกี่ยวกับวาระเรื่องรัฐธรรมนูญ คือหากท่านมีความประสงค์จะลองเส้นทางประชามติ 2 ครั้งจริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่แก้ความผิดพลาดของข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับคำถามประชามติ ทำไมต้องรอหลายเดือน กว่าจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อริเริ่มกระบวนการดังกล่าว แทนที่จะยื่นตั้งแต่วันที่สภาเปิดทำการหรือวันที่ท่านตั้งรัฐบาลสำเร็จ

และฉากที่ 6 คือ ฉากจบที่ยังไม่มีข้อสรุป เพราะเมื่อรัฐบาลหันมาสู่เส้นทางทำประชามติ 2 ครั้ง รัฐบาลก็มาเจอตอ ในรูปแบบของประธานรัฐสภาที่ตัดสินใจไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลถูกบีบให้จนมุม ไม่แน่ใจว่าจะไปต่ออย่างไรจึงตัดสินใจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินใจแทน โดยไม่มีหลักประกันว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะตัดสินใจเมื่อไหร่หรือจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร

“ท่านบอกว่าท่านต้องการเข้ามาแก้ไข ปัญหาความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญแต่ความเห็นที่แตกต่างระหว่างพรรครัฐบาลกันเองว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไรตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาท่านก็ยังแก้ไขไม่ได้ ก่อนท่านตั้งรัฐบาลท่านย้ำว่าประเทศเรามีหลายวิกฤตที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตรัฐธรรมนูญ แต่ผ่านมา 6 เดือน ไม่แน่ใจว่าคนไทยเราเข้าใกล้เงิน 10,000 ดิจิทัล หรือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่ากัน และแม้รัฐบาลจะเคยให้คำมั่นสัญญาครั้งล่าสุดว่าจะหาข้อสรุปทั้งหมดได้ภายในไตรมาสแรกปี 2567 แต่เลยเวลาเส้นตาย ผมคิดชัดเจนแล้วว่าผ่านมาหกเดือน ประเทศเราอย่างน้อยในมิติของรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ในจุดเดิม จุดเดียวกันกับวันที่ตั้งรัฐบาลรัฐบาล จุดเดิมที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะเดินต่ออย่างไร หากจะมีสักสิ่งเดียวที่ไม่เหมือนเดิม ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาคือตอนนี้กลายเป็นว่าผู้ที่อาจจะมีอำนาจในการเข้ามากำหนดว่าเราจะเดินต่ออย่างไรในรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ใช่นายกฯ อาจจะไม่ใช่ครม. แต่อาจจะกลายเป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน และด้วยนโยบายแบบนี้จึงน่าแปลกใจว่าทำไมนายกฯ ถึงไปตัดพ้อกับประชาคมโลก ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ว่า แม้ท่านเป็นนายกฯ แต่ท่านรู้สึกว่าท่านไม่มีอำนาจเรื่องอะไรเลย ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าผมใจร้าย หรือใจร้อนที่ลุกขึ้นมาวิจารณ์รัฐบาลในเรื่อง กรอบเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งที่รัฐบาลทำงานเพียงแค่ 6 เดือน แต่ผมต้องเรียนว่าผมจำเป็นจริงๆ ที่ต้องลุกขึ้นมาอภิปรายวันนี้ จะรอไม่ได้ เพราะนอกจากผมเห็นว่าท่านได้ใช้เวลา 6 เดือนที่ผ่านมา พายเรือในอ่างแล้ว สิ่งที่ผมกังวลคือหากว่าท่านยังคงยึกยักต่อใน 6 เดือนข้างหน้า ความล่าช้าที่สะสมมาตลอดปีแรกของการทำงานของท่านอาจจะสร้างความเสียหายถึงขั้นทำให้ประเทศเราสูญเสียโอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนพร้อมใช้งานก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ”นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า หากศาลวินิจฉัยออกมาอย่างที่ควรจะเป็นว่าประชามติ 2 ครั้งนั้นพอแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ท่านน่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องทันกรอบเวลา 4 ปีพอดี แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก็มีความเสี่ยงว่าจะต้องกลับมาเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ และเสี่ยงที่จะทำให้เราไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ไม่ได้ลุกขึ้นมาเพียงแค่จะเตือนสติรัฐบาลถึงความล่าช้าในอดีตและความจำเป็นในการเร่งสปีด แต่ลุกขึ้นมาเพื่อจะเตือนภัยพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับคำทำนายล่วงหน้าที่กังวลว่ากำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นหน้าตาจะเป็นอย่างไร โดยทุกคนรู้ดีว่าตัวชี้วัดของการแก้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูประบบการเมืองนั้นไม่ได้วัดแค่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาหรือไม่เมื่อไหร่ แต่วัดกันที่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตา มีเนื้อหาสาระแบบไหน โดยทุกวันนี้ไม่มีใครมองว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ประสบความสำเร็จในการแก้รัฐธรรมนูญเพราะมีการแก้ไขเพียงแค่เรื่องของระบบการเลือกตั้งจากบัตรหนึ่งใบเป็นบัตรสองใบที่ไม่ได้เป็นหัวใจของปัญหารัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น ด้วยตรรกะเดียวกันใน 4 ปีข้างหน้าจะไม่มีใครมองว่ารัฐบาลของนายเศรษฐานั้น จะประสบความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากเป็นฉบับใหม่ที่ยังคงมีเนื้อหาที่เป็นปัญหาเหมือนเดิม ยังมี สว.อำนาจล้นฟ้า แต่มีที่มามาจากกระบวนการคัดเลือก ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนและจงใจสร้างความสับสนเพื่อพยายามจะลดทอนเจตจำนงของประชาชน ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ที่ขยายขอบเขตอำนาจของตนเองไปเรื่อยๆ และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม เครื่องมือในการยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยคนไม่กี่คน เพื่อออกแบบระบบการเมืองเพื่อเอื้อให้กับคนไม่กี่คน ประชาชนเขามองออกว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกแบบระบบการเมืองที่เป็นประโยชน์กับทุกคนได้ก็ต้องถูกขีดเขียนร่วมกันโดยประชาชนทุกคน

“ถึงแม้เราอาจจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คลอดออกมาภายใต้รัฐบาลนายเศรษฐาก็จริง แต่รัฐบาลนายเศรษฐาที่ตั้งได้ และดำรงอยู่ได้ด้วยใบบุญจากเครือข่ายอำนาจเดิม จะไม่มีทางไว้ใจให้ประชาชนนั้นมาร่วมกันออกแบบระบบการเมือง และจัดทำ กติกาสูงสุดของประเทศตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน และเรารู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลจะล็อกไม่ให้มีการแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 แต่สิ่งที่ผมกังวล คือแม้กระทั่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญหมวด 3 เป็นต้นไป รัฐบาลนี้ก็อาจจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ห้ามจินตนาการด้วยเช่นกัน เพราะแม้รัฐบาลจะออกแบบกระบวนการที่ดูเหมือนประชาชนจะมีส่วนร่วม แต่หากจินตนาการของประชาชนไปขัดกับผลประโยชน์ของรัฐบาลหรือเครือข่ายอำนาจเดิม รัฐบาลอาจจะนำไพ่ไม้ตายสามใบที่ไปซุ่มออกแบบและเตรียมนำออกมาใช้เพื่อลดทอนอำนาจของประชาชนในการกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”นายพริษฐ์​ กล่าว

นายพริษฐ์​ อภิปรายต่อว่า ไพ่ใบที่ 1 คือ ส.ส.ร.สูตรผสม ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แม้ตนจะดีใจที่ได้เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยยื่นเข้าไปตั้งแต่ปี 2563 และฉบับที่ยื่นเมื่อตอนต้นปี 2567 นั้นยังคงยืนยันหลักการเดิมว่าสสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลผสมที่นำโดยนายเศรษฐา ก็ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าจะเสนอหรือสนับสนุนสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไพ่ใบที่ 2 คือ ซ่อนไว้ที่ร่างของพรรคเพื่อไทยยื่นเมื่อตอนต้นปี 2567 เพราะเมื่อตนไปอ่านค้นพบว่าร่างที่พรรคเพื่อไทยยื่นเมื่อต้นปี 25867 หมกเม็ดไพ่ไม้ตายไว้ เพิ่มเติมอีกสองใบที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในร่างของพรรคเพื่อไทยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือการกินรวบคณะกรรมาธิการยกร่าง พรรคเพื่อไทยได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงจากร่างปี 2563 สู่ปี 2567 สะท้อนให้เห็นชัดถึงเจตนาและความพยายามของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่จะรุกคืบเข้าไปยึดกุม และกินรวบคณะกรรมธิการยกร่าง และไพ่ใบที่ 3 คือด่านทางผ่านวุฒิสภา ที่มีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2563 สู่ปี 2567 คือคำถามที่ว่าเมื่อ ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วส่งไปที่ไหน ซึ่งปี 2567 จะเห็นว่าต้องส่งที่รัฐสภาก่อน เพื่อให้รัฐสภามีสิทธิ์ในการกลั่นกรอง แก้ไข หรือตีกลับร่างดังกล่าว ก่อนที่จะมีการส่งไปทำประชามติได้ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะเปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นสามารถเข้ามาแทรกแซงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งได้ ฉะนั้นทั้งหมดคือไพ่ไม้ตายสามใบ ที่ตนทำนายว่ารัฐบาลนั้นได้คิดค้นกันไว้และจะทยอยนำออกมาใช้เพื่อพยายามควบคุมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ทางรัฐบาลชอบกล่าวหาว่าพวกผม พรรคก้าวไกลนั้นเป็นพวกชอบเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ เพียงพอเราเชื่อในอำนาจของประชาชน แต่หากคำทำนายผมเป็นจริง ผมคิดว่ารัฐบาลต่างหากที่เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่กว่าความคิดของประชาชน เพราะหากท้ายที่สุดแล้วหากท่านไม่ปล่อยให้ประชาชนออกแบบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญกันเอง แต่ไปพยายามคิดค้นผลิตนวัตกรรมเข้ามาควบคุมเนื้อหาที่จะล็อกสเปกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบนี้เขาไม่ได้เรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบ เขาเรียกว่าประชาธิปไตยที่ต้องขอใบอนุญาต และต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงเทียบเท่ากับอนาคตของประเทศนี้ ”นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์​ อภิปรายว่า ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ต้องการกินรวบ และไม่ต้องขอใบอนุญาตจาก สว. ก่อนการทำประชามติ เพื่อให้ความหวังประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเต็มใบไม่แตกสลาย ดังนั้นขอเสนอแนะต่อการทำประชามติ ว่าให้ปฏิเสธคำถามยัดไส้ ต้องตั้งคำถามเปิดกว้าง และสนับสนุน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% สนับสนุนการแก้ไขรายมาตราให้เป็นประชาธิปไตยและสนับสนุนเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่รออยู่ในระเบียบวาระประชุม

“ความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาล ต่อการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนในความจริงใจและรักษาคำพูดและสัจจะที่ให้ไว้ประชาชน“นายพริษฐ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จิราพร' คาดได้เป็นเสนาบดีเพราะ'เศรษฐา' ต้องการพลังคนรุ่นใหม่!

'น้ำ จิราพร' เผยได้เป็นรัฐมนตรีป้ายแดงเพราะนายกฯ หวังใช้พลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนงาน รับ อายุน้อยสุดในครม. ตื่นเต้นแต่ไม่ตระหนกพร้อมทำทุกหน้าที่

รัฐบาลฟุ้งเดินหน้าศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

รัฐบาลมุ่งยกระดับการดำเนินงานในด้านการรักษาความปลอดภัยและนโยบายเกี่ยวกับด้านการบิน เดินหน้าประเทศสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

รัฐบาลตีปี๊บ มิ.ย.ลงทะเบียน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์

​โฆษกรัฐบาลเผย OFOS สร้างคน ยกระดับ ศักยภาพคนไทย พร้อมลงทะเบียน มิ.ย.2567 ตั้งเป้ายกระดับคนไทยสร้างสรรค์ มีคุณภาพ 296,610 คน ภายในปีงบประมาณ 2567 ต่อยอดพัฒนา 20 ล้านคน ในเวลา 4 ปี

ไม่ใช่ศาล! เตือนนายกฯปรึกษากฤษฎีกาเรื่องคุณสมบัติ 'ทนายถุงขนม' อาจหลุดพร้อมกัน

กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)